แผนพลังงานไฟฟ้ารับ 'อีอีซี' โต
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่าปี 2561ที่ผ่านมา มีอุตสาหกรรมข้อรับส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
มูลค่ารวม 642,593 ล้านบาท ในจำนวนนี้มี 95% เป็นการเข้าไปลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ชี้ให้เห็นว่าอีอีซีหรือพื้นที่ภาคตะวันออกจะมีแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานสูง
ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี2561-2580 หรือ แผน PDP 2018 กำหนดจัดสรรโรงไฟฟ้าใหม่ในปี 2580 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 77,211 เมกะวัตต์ เป็นกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 56,431 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้า และทดแทนโรงไฟฟ้าปลดออกจากระบบ รวมถึงกำหนดการจัดหาโรงไฟฟ้ารายภูมิภาค
โดยในส่วนของภาคตะวันออกความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปี 2561 เท่ากับ 4,880 เมกะวัตต์ และ ในปี 2580 จะอยู่ที่ 10,033 เมกะวัตต์ หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3.5% ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าในปี 2561 เท่ากับ 10,156 เมกะวัตต์ และในปี 2580 จะอยู่ที่ 14,707 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศจำเป็นต้องจัดสรรให้มีโรงไฟฟ้าหลักเพื่อความมั่นคงใน ภาคตะวันออก กำหนดต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่ ขนาด กำลังผลิตไฟฟ้าสุทธิ 1,700 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก มีวันกำหนด เริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า (SCOD) ในปี 2576 และ ปี 2580 ตามลำดับ