VRANDAใส่เกียร์ลงทุน 5 ปี ผุดโรงแรมใหม่ 5 แห่ง
แผนธุรกิจพร้อมโลดแล่น หลังเงินระดมทุนช่วย 'ปลดล็อก' ขีดความสามารถเติบโต !! 'วีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์' นายใหญ่ 'วีรันดา รีสอร์ท' ส่งซิกยุทธศาสตร์ 3-5 ปี ผุดโรงแรมใหม่ทำเลทอง 5 แห่ง ขานรับตลาดท่องเที่ยวเมืองไทยยังสดใส
สร้างความ 'แตกต่าง' ของเอกลักษณ์ด้วยดีไซน์ผสมผสานโรงแรมสไตล์รีสอร์ทและเรสซิเดนซ์ อาจเป็นหนึ่งในจุดแข็งให้ราคา หุ้น วีรันดา รีสอร์ท หรือ VRANDA ของ 'ตระกูลองค์วาสิฏฐ์' ซื้อขายวันแรก (3 พ.ค.2562) ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 11.50 บาท หรือ 15% โดยมีราคาสูงสุด (New High) 11.60 บาท และราคาต่ำสุด 10.70 บาท
ฉะนั้น เมื่อภารกิจแรกที่ต้องทำคือ อยากผลักดันบริษัทเข้ามานำระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อต่อยอดธุรกิจให้มีอัตราการเติบโตในอนาคตสำเร็จแล้ว ซึ่งแผนการระดมทุนคือ 'ธงผืนใหญ่' เขาบอกเช่นนั้น !!
'การนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น จะไม่ได้ประโยชน์เพียงแค่มีช่องทางการหาเงินทุนมากขึ้น แต่จะได้เรื่องหน้าตา และความน่าเชื่อถือเต็มๆ มาตรฐานของบริษัทจะถูกยกระดับขึ้นทันที และสิ่งสำคัญจะทำให้เราเติบโตได้รวดเร็ว'
ปัจจุบันธุรกิจ VRANDA แบ่งเป็น 3 ธุรกิจ คือ 'ธุรกิจโรงแรม' คิดเป็นสัดส่วน 54% 'ธุรกิจพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทโครงการอาคารชุดพักอาศัย' คิดเป็นสัดส่วน 30% และ 'ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม'
'วีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.วีรันดา รีสอร์ท หรือ VRANDA เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า วางเป้าแผนธุรกิจ 3-5 ปี (2562-2566) ว่า บริษัทอยากมีโรงแรมแห่งใหม่เพิ่มขึ้นอีก 4-5 แห่ง สะท้อนผ่านหลายพื้นที่บริษัทยังไม่เข้าไปลงทุน อาทิ ภูเก็ต, กระบี่ , พังงา , เขาใหญ่ ,ระยอง และอีกหลายจังหวัด แต่ที่ผ่านมา 15 ปี มีโรงแรมในเครือแค่ 5 แห่งเท่านั้น เพราะว่าแหล่งเงินทุนมีจำกัด
แจกแจงแผนธุรกิจ ว่า 'ธุรกิจโรงแรม' ช่วงจังหวะที่บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซื้อที่ดินจำนวน 14 ไร่ครึ่ง (บริเวณเขาตะเกียบ) หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยบริษัทแบ่งที่ดินดังกล่าวจำนวน 3 ไร่ มาพัฒนาเป็น 'โรงแรม เวอโซ หัวหิน' จำนวน 39 ห้อง ปัจจุบันก่อสร้างแล้วกว่า 50% มูลค่า 300 ล้านบาท (รวมที่ดิน) คาดว่าจะเปิดครึ่งปีแรกปี 2563
ทั้งนี้ โรงแรมของ VRANDA มีเป้าหมายชัดเจนในการเจาะกลุ่มลูกค้า 'ระดับลักชัวรี่' ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติในระดับราคาห้องพักเฉลี่ย 4,300 บาทต่อคืน ปัจจุบันเปิดบริการแล้ว 5 แห่ง ประกอบด้วย วีรันดา รีสอร์ท หัวหิน , วีรันดาไฮ รีสอร์ท เชียงใหม่ , โซ โซฟิเทล แบงค็อก , วีรันดา รีสอร์ท พัทยา และแบรนด์ที่ซื้อกิจการเข้ามาอย่าง ร็อคกี้ บูติค รีสอร์ท ที่เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี
'ธุรกิจพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทโครงการอาคารชุดพักอาศัย' บริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 'โครงการวีรันดา เรสซิเดนซ์ หัวหิน' โดยแบ่งที่ดินเขาตะเกียบ (หัวหิน) จำนวน 11 ไร่ สร้างเรสซิเดนซ์ จำนวน 270 ยูนิต มูลค่าโครงการ 2,462 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดขายกว่า 80% แล้ว คาดว่าจะเริ่มโอนได้ราวๆ ต้นปี 2563 เชื่อมั่นว่าจะเริ่มรับรู้รายได้โอนกรรมสิทธิ์ได้ในปีหน้าช่วยผลักดันผลประกอบการ VRANDA เติบโตได้ชัดเจน
'จุดขายสำคัญที่ทำให้ยอดขายเร็วมากคือ การมีโรงแรมอยู่ติดกับเรสซิเดนซ์ ทำให้เป็นจุดขายที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ซึ่งโรงแรมมีไว้เสิร์ซโครงการเรสซิเดนซ์ ซึ่งสามารถเดินมารับประทานอาหารเช้าได้ สั่งรูมเซอร์วิส มีสระว่ายน้ำบริการด้วย'
อย่างไรก็ตาม มองว่าธุรกิจเป็น Hospitality หรือ ธุรกิจการบริการ ไม่ได้เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่โมเดลสร้างเรสซิเดนซ์ในพื้นที่โรงแรม ทำให้ขายได้ง่ายเวลาคืนทุนแต่ละโครงการได้เร็วกว่าการลงทุนโรงแรมตามปกติที่ต้องใช้เวลาคืนทุนราว 10 ปี
ยกตัวอย่าง ในทำเลพัทยา ได้นำโรงแรมมาอยู่ด้านหน้า 145 ห้อง จำนวน 4 ชั้น กับ 7 ชั้น ด้านหลังปรับให้เป็นคอนโดมิเนียมจำนวน 35 ชั้น 300 กว่ายูนิต มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ ปัจจุบันขายไปได้แล้วกว่า 90% ซึ่งในมุมของผู้ซื้อเรสซิเดนซ์ไปก็คุ้มค่า ได้ใช้บริการส่วนกลางของโรงแรมทั้งอาหารเช้า รูมเซอร์วิส , สปา และสระน้ำบางโซน เป็นต้น และอีก “จุดเด่น” คือราคาขายต่อจะดีกว่าคอนโดมิเนียมทั่วไป เมื่อลงทุนไปแล้วจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกลับมาด้วย
'การนำแนวคิดสร้างเรสซิเดนซ์ในพื้นที่เดียวกันกับโรงแรม ถือเป็นโมเดลที่ช่วยทำให้คืนทุนได้เร็วขึ้น เพราะโดยปกติการลงทุนในธุรกิจโรงแรมต้องใช้ระยะเวลานานประมาณ 10 ปีกว่าจะคืนทุน โดยโมเดลลักษณะนี้มีผู้ประกอบการน้อยรายในอุตสาหกรรม ทำให้มีการแข่งขันไม่สูง'
และ 'ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม' นอกจากธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์แล้ว VRANDA ยังเป็นเจ้าของแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มชื่อดัง ทั้งร้านอาหาร ร้านขนมหวาน และเครื่องดื่ม โดยมีแบรนด์ร้านกาแฟภายใต้ชื่อ 'แบรนด์ KOF' จำนวน 2 สาขา อยู่ที่สาขาสาทร และทองหล่อ แบรนด์ร้านอาหารและขนมหวาน ภายใต้ชื่อ 'แบรนด์ Skoop Beach Café' สาขาพัทยา และสาขาหัวหิน ที่เปิดดำเนินการเมื่อเดือนก.ย.2558 และเดือนเม.ย. 2560 ตามลำดับ
โดยปี 2562 บริษัทมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มอีกอย่างละ 2 สาขา โดยแบรนด์ Skoop Beach Cafe จะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่ง ที่ โครงการ เจ อเวนิว ทองหล่อ และ เชียงใหม่ ถนนนิมมานเหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ และแบรนด์ KOF อีก 2 แห่ง
พร้อมทั้งมีแผนขยายสาขาร้านชานมไข่มุก The Alley ใน เดอ มาร์เช่ เชียงใหม่ด้วย ซึ่งแผนงานทั้งหมดในธุรกิจนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 12 ล้านบาท
'ในปีหน้ารายได้ของ VRANDA จะเติบโตแบบจ้ำกระโดด เนื่องจากมีทั้งการรับรู้รายได้จากโครงการเรสซิเดนซ์ โรงแรมแห่งใหม่ และเปิดสาขาแบรนด์ KOF และ แบรนด์ Skoop Beach Café เข้ามาอีก'
'ซีอีโอ' บอกต่อว่า นอกจากธุรกิจโรงแรม VRANDA ยังมีจุดเด่นในการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดหรือเรสซิเดนซ์ในพื้นที่เดียวกับโรงแรม ถือเป็นการผมสผสานสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พักอาศัยสามารถพื่นที่ใช้ส่วนกลางเหมือนเป็นผู้เข้ามาใช้บริการในส่วนของโรงแรมด้วย
อย่างไรก็ตาม มองว่าการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากฐานปีที่แล้วค่อนข้างต่ำ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนชะลอตัวจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต แต่ขณะนี้เริ่มทยอยกลับมาเป็นปกติแล้ว จึงเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวให้เติบโตในทิศทางที่ดีกว่าปีก่อนแน่นอน
สำหรับในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว บางคนได้รับผลกระทบ แต่ผมมองตรงข้ามว่าในแง่ของผู้บริโภคอาจจะมีสามารถต่อรองได้มากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการอาจจะเป็นจังหวะซื้อที่ดินในราคาย่อมเยาว์และในทำเลที่ดีขึ้น ซึ่งบริษัทก็มองทำเลดีๆ อยู่หลายแห่งเพื่อขยายการลงทุนต่อไป
ท้ายสุด 'วีรวัฒน์' ทิ้งท้ายว่า มองปีหน้าจะเป็นปีที่มากของบริษัทอีกหนึ่งปี แม้ว่าตามโครงสร้างธุรกิจหลักบริษัทมีรายได้ประจำทุกปีจากโรงแรม แต่ถ้าบางปีมีโอนกรรมสิทธิ์เรสซิเดนซ์มองเป็นโบนัสหรือกำไรพิเศษเข้ามาเพิ่ม ส่วนธุรกิจร้านอาหารในวันนี้ยังไม่ได้มุ่งขยายมากนัก แต่มีเพื่อการบริการครบวงจร ซึ่งในอนาคตถ้ามีโอกาสชัดเจน ก็น่าจะขยายเพิ่มเติมแน่นอน
จุดเริ่มต้น 'วีรันดา รีสอร์ท'
'วีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.วีรันดา รีสอร์ท หรือ VRANDA เล่าให้ฟังว่า เรียนจบปริญญาตรีบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท สหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาเมืองไทย โดยเริ่มต้นมนุษย์เงินเดือนที่แรก ในสายงานวาณิชธนกิจ (IB) ก่อนจะกลับมาช่วยธุรกิจครอบครัว โดย 'คุณพ่อ' ทำธุรกิจรับเหมา-ก่อสร้าง ประกอบกับเป็นจังหวะที่ดีมีการร่วมทุนกับบริษัทของ 'วิชา พูลวรลักษณ์' ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป หรือ MAJOR
ต่อมาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 และคุณพ่อเสียชีวิต ตอนนั้นผมจึงต้องขยับขึ้นมาดูธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแทน ซึ่งเหนื่อยเหมือนกันกว่าจะผ่านพ้นวิกฤติมาได้ และมีโอกาสใช้ความรู้ทางด้านการเงินช่วยตอนที่คุณวิชานำ MAJOR เข้าระดมทุนด้วย (ปัจจุบันยังนั่งเป็นกรรมการใน MAJOR)
สำหรับ 'จุดเริ่มต้น' ธุรกิจของ 'วีรันดา รีสอร์ท' จากการช่วยธุรกิจที่บ้านเปิดโรงแรมระดับ 3 ดาวในจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้เรียนรู้หลักการบริหารโรงแรม และเข้ามาดูแลธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของครอบครัว ซึ่งวันนี้ทั้ง 2 ธุรกิจได้ขายกิจการไปหมดแล้ว
ทั้งนี้ การเข้าไปทำงานใน เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ทำให้เรียนรู้เรื่องไลฟ์สไตล์มาร์เก็ตติ้ง ประสบการณ์ทั้งหมดได้มาปรับใช้กับ
'โรงแรม วีรันดา รีสอร์ท หัวหิน' ซึ่งเป็นโครงการแรกพยายามออกแบบให้มีความแตกต่าง ให้พื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่กว่าโรงแรมอื่น และก็ได้รับความนิยมค่อนข้างรวดเร็ว
ส่งผลให้บริษัทเริ่มมองโรงแรมแห่งที่ 2 จังหวัดเชียงใหม่ ที่ดินกว่า 30 ไร่ ห่างจากสนามบินเชียงใหม่ราว 20 นาที ซึ่งเราก่อสร้างโรงแรม จำนวน 70 ห้อง ต่อมาโรงแรมแห่งที่ 3 มีพันธมิตรที่รู้จักนำที่ดินบริเวณหัวมุมถนนสาทร มาร่วมทุนโดยให้ผมถือหุ้นใหญ่เกิดเป็น 'โรงแรมโซ โซฟิเทล แบงค็อก' ซึ่งจากโมเดลการร่วมทุนจึงเกิดรูปแบบดังกล่าวมาในสาขาต่อมา คือ ที่พัทยา จังหวัดชลบุรี และโรงแรมที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยบริษัทเข้าไปซื้อกิจการมา ภายใต้แบรนด์ ร็อคกี้ บูติค รีสอร์ท