“ดุสิตฟู้ดส์” หนุนกระจายเสี่ยง ปั้นรายได้ใหม่ทะลุพันล้านปี 64
ตามกลยุทธ์ “กระจายความเสี่ยง” ของกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) มุ่งปรับโครงสร้างรายได้ให้หลากหลาย จากปัจจุบันมีรายได้กลุ่มธุรกิจโรงแรมครองสัดส่วนมากที่สุดถึง 80% ของรายได้รวมกว่า 5,000 ล้านบาท ด้วยการหาธุรกิจใหม่มาเสริมความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
หนึ่งในนั้นคือ “กลุ่มธุรกิจอาหาร” ผ่านการจัดตั้ง “บริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด” เมื่อเดือน มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ 3 ต่อจากกลุ่มธุรกิจการศึกษาซึ่งมีสัดส่วนรายได้ 15% จากวิทยาลัยดุสิตธานี และโรงเรียนสอนทำอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ หนุนการสร้างบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอาหาร
และยังเป็นแนวทางสำคัญในการหารายได้ชดเชยกลุ่มบริษัทฯ หลังจากโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ได้ยุติการให้บริการชั่วคราวเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อรื้อถอนสำหรับเตรียมพื้นที่พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานหรือมิกซ์ยูส “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ภายใต้การร่วมทุนกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น มูลค่าโครงการกว่า 3.67 หมื่นล้านบาท
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การรุกธุรกิจอาหารของดุสิต ฟู้ดส์ ถือเป็นธุรกิจที่จะทำให้กลุ่มบริษัทดุสิตธานีบรรลุเป้าหมายครบ 3 เรื่อง ทั้งในแง่การกระจายความเสี่ยง การสร้างสมดุล และขยายการเติบโต ช่วยทำให้รายได้รวมของกลุ่มบริษัทดุสิตธานีปีนี้เติบโตตามเป้าที่ 8-10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ยังช่วยชดเชยรายได้ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯที่หายไป เพราะต้องรื้อถอนอาคารเก่าเพื่อก่อสร้างอาคารใหม่ในช่วง 4 ปีนับจากนี้ เตรียมเปิดให้บริการเป็นอาคารแรกของโครงการมิกซ์ยูสดังกล่าวในช่วงปลายปี 2565 จากปกติทำรายได้ปีละ 700-800 ล้านบาท
สำหรับเส้นทางการขยายธุรกิจของดุสิตฟู้ดส์ เริ่มต้นด้วยการใช้เงินลงทุน 663 ล้านบาทเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 26% ของบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (NRIP) ดำเนินธุรกิจมากว่า 25 ปี ปัจจุบันผลิตและส่งออกอาหารแห้งและเครื่องปรุงรสไปกว่า 25 ประเทศทั่วโลก ให้กับแบรนด์ต่างๆ กว่า 50 แบรนด์ มีความสามารถในการผลิตกว่า 1,000 SKU (Stock Keeping Unit) และมีแบรนด์ของตนเอง เช่น พ่อขวัญ, Lee และ Thai Delight โดย NRIP มีเป้าหมายเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เร็วๆ นี้
นอกจากนี้ ดุสิตฟู้ดส์ยังได้ใช้เงินลงทุน 423 ล้านบาทเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 51% ของบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด (ECC) ผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มโรงเรียนนานาชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเตรียมใส่เงินลงทุนเพิ่มอีก 190 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นเป็น 70% ในสิ้นปีนี้ วางเป้าหมายขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น เช่น เวียดนามและกัมพูชาซึ่งยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่มาก ขณะในไทยแม้จะมีส่วนแบ่งมากเป็นอันดับ 1 แต่ได้มองการขยายธุรกิจไปยังโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำ ส่วนการจับมือกับพันธมิตรรายใหม่ในปีนี้ เตรียมร่วมทุนกับบริษัทผู้รับผลิต (OEM) อาหารเพิ่ม
“เราได้กำหนดวิสัยทัศน์ของดุสิตฟู้ดส์ว่า ‘Bring Asia to The World’ หรือการนำอาหารไทยและอาหารเอเชียออกสู่ตลาดโลก โดยเริ่มจากอาหารไทยซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกอยู่แล้ว สอดคล้องกับจุดยืนของกลุ่มดุสิตธานีที่ต้องการนำความเป็นไทยไปสู่โลก”
เจตน์ โศภิษฐ์พงศธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด เล่าเสริมว่า กลยุทธ์ของดุสิตฟู้ดส์จะเน้นสร้าง “ความแตกต่าง” แทนที่จะเป็น World to Thailand ด้วยการหาร้านแฟรนไชส์หรือฟู้ดแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศมาเปิดในไทย แต่ดุสิตฟู้ดส์จะสร้างของดีของอาหารไทยและเอเชียไปยังตลาดโลก พร้อมเจาะเซ็กเมนต์อาหารเพื่อสุขภาพ แทนโมเดลควิกเซอร์วิสหรือฟาสต์ฟู้ด
“โดยปีนี้ดุสิตฟู้ดส์ตั้งเป้ามีรายได้ที่ 400 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาทภายในปี 2564 ครองสัดส่วนราว 15% ของพอร์ตรายได้กลุ่มดุสิตธานีทั้งหมด”
นอกจากนี้จากการเข้าไปลงทุนใน NRIP ได้สร้างซินเนอร์จี (Synergy) กับธุรกิจโรงแรมของดุสิตธานี ด้วยการให้ทีมพ่อครัวเข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องแกงไทย น้ำจิ้มไทย ให้ได้รสชาติและคุณภาพตามต้องการ เพื่อนำไปใช้ในโรงแรมเครือดุสิตธานี พร้อมให้ NRIP เป็นผู้ผลิตแบรนด์ใหม่ของดุสิตฟู้ดส์ ภายใต้ชื่อ “ของไทย” (Khong Thai) วางตำแหน่งให้เป็นแบรนด์สะท้อน “ความดั้งเดิม” (Authentic) ของอาหารไทย
โดยได้ร่วมกับ “เดวิด ทอมสัน” เชฟอาหารไทยชื่อดังชาวออสเตรเลีย ในการสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จในตลาดโลก เตรียมเปิดตัวแบรนด์ในงาน THAIFEX – World of Food Asia 2019 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 พ.ค.-1 มิ.ย.นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เริ่มด้วยเครื่องแกงยอดนิยมอย่างแกงมัสมั่น แกงกะหรี่ แกงเขียวหวาน ซอสพริกศรีราชา และซอสปรุงรสอื่นๆ ราว 8 SKU ก่อนจะเพิ่มเป็น 20 SKU ในปีหน้า พร้อมส่งออกบุกต่างประเทศ ตลาดแรกคือสหรัฐ ตามด้วยตลาดอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่และรู้จักอาหารไทยดีในยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส ส่วนในไทยจะเน้นวางขายตามร้านค้าปลีกในห้างสรรพสินค้า ควบคู่ไปกับการทำตลาดออนไลน์และออฟไลน์ทุกช่องทาง