มรสุมชีวิต 'หมอเสริฐ' เขย่าอาณาจักร 'ปราสาททองโอสถ'

มรสุมชีวิต 'หมอเสริฐ' เขย่าอาณาจักร 'ปราสาททองโอสถ'

ปีนี้คงไม่ใช่ปีที่ดีนักสำหรับ "หมอเสริฐ" หรือ นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เพราะตั้งแต่ต้นปีก็ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ดำเนินคดีด้วยการลงโทษทางแพ่ง

พร้อมกับลูกสาว “หมอปุย” หรือ แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ และ “นฤมล ใจหนักแน่น” ในข้อหา “ปั่นหุ้น” บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA

โดย ก.ล.ต. ตรวจพบว่า ช่วงระหว่างวันที่ 13 พ.ย.2558 ถึง 12 ม.ค.2559 ทั้ง 3 คน ร่วมกันซื้อหุ้น BA อย่างต่อเนื่องในลักษณะจับคู่ซื้อขายระหว่างกัน เป็นลักษณะ “อำพรางการซื้อขาย” ทำให้คนทั่วไป “เข้าใจผิด” เกี่ยวกับราคาและปริมาณการซื้อขาย จนส่งผลต่อราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นที่ผิดไปจากสภาพปกติ

มรสุมชีวิต \'หมอเสริฐ\' เขย่าอาณาจักร \'ปราสาททองโอสถ\'

ก.ล.ต. จึงดำเนินการลงโทษ โดยเรียกชำระค่าปรับทางแพ่งเป็นเงินราวๆ 499 ล้านบาท

แม้เงินจำนวนดังกล่าว จะไม่สะเทือนกระเป๋าสตางค์ “หมอเสริฐ” แต่ด้วยข้อหา “ปั่นหุ้น” และยังถูก ก.ล.ต. สั่งห้ามนั่งเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) เป็นเวลา 2 ปี จึงนับเป็นคำสั่งที่ “เขย่า” อาณาจักร “ปราสาททองโอสถ” ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS และ BA ไม่น้อย!!

น่าจับตาว่า การก้าวเดินในช่วง 2 ปีนับจากนี้ไป ซึ่งไม่มี “หมอเสริฐ” คอยนั่ง “บัญชาการ” ด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิด ทิศทางธุรกิจจะเป็นอย่างไร ...เพราะถ้าดูจากสถานการณ์แวดล้อมในปัจจุบันแล้ว ต้องยอมรับว่า “2 ธุรกิจ” นี้ยังเหนื่อย

ธุรกิจแรก “กลุ่มโรงพยาบาล” ผ่านเรือธงใหญ่ คือ BDMS ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่สุดในประเทศไทยและใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ด้วยมูลค่าตามราคาหลักทรัพย์(มาร์เก็ตแคป) ในปัจจุบันที่สูงเฉียด 4 แสนล้านบาท โดยมีโรงพยาบาลในเครือ 47 แห่ง ยังไม่นับโรงพยาบาลที่เข้าไปถือหุ้นแต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารอีก 2 แห่ง

แม้ว่า “ผลดำเนินงาน” ไตรมาสแรกปี 2562 ของ BDMS จะพุ่ง “ทุบสถิติใหม่” โดยมีกำไรสุทธิสูงถึง 8,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,919 ล้านบาท หรือมีกำไรเพิ่มขึ้นกว่า 5,519 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 189% แต่สาเหตุหลักมาจาก “บันทึกรายการพิเศษ” จากการขายหุ้นโรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) หรือ RAM ราวๆ 6,094 ล้านบาท

นอกจากนี้ หนทางข้างหน้าของธุรกิจโรงพยาบาล แม้จะเต็มไปด้วยความสดใส จากการที่หลายประเทศในเอเชียรวมทั้งไทย กำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตดี แต่จาก “เศรษฐกิจโลก” ที่เริ่ม "ชะลอตัว" อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เคยมีอำนาจจับจ่ายใช้สอย บินมารักษาพยาบาล พลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน “ภาครัฐ” ยังมีมติให้สินค้ายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ เป็น “สินค้าและบริการควบคุม” ประจำปี 2562 หลังที่ประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) เปิดไฟเขียวแนวทางกำกับดูแลยา 3 ทางด้วยกัน ซึ่งเป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการยาและเวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเสนอมา

ไม่เพียงเท่านี้ กกร. ยังเห็นชอบให้ “โรงพยาบาลเอกชน” ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายส่ง ต้องแจ้งราคาซื้อขายให้แก่กรมการค้าภายใน เพื่อเผยแพร่ราคาจำหน่ายของโรงพยาบาลเอกชน แต่ละแห่งผ่านเว็บไซต์กรม และให้โรงพยาบาลเอกชนจัดแสดง QR Code ไว้อย่างเปิดเผยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยสะดวก และในกรณีที่โรงพยาบาลมีการเปลี่ยนแปลงราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ต้องแจ้งให้กรมการค้าภายในทราบก่อนปรับราคาไม่น้อยกว่า 15 วัน

แน่นอนว่า “กฎเกณฑ์” เหล่านี้ ย่อมสั่นสะเทือน BDMS ในฐานะโรงพยาบาลเอกชนที่ครองมาร์เก็ตแชร์อันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งเขย่าไปถึง “อาณาจักร” กลุ่มปราสาททองโอสถ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารของ BDMS ด้วย

โดยเฉพาะท่ามกลางที่ “หมอเสริฐ” ซึ่งเวลานี้ทำได้เพียง “บัญชาเกม” จาก “ระยะไกล” แถม “หมอปุย” ลูกสาวที่ถูกวางตัวให้เป็นผู้สานต่อธุรกิจโรงพยาบาล ก็ถูก “แขวนป้าย” ห้ามนั่งเป็นกรรมการและผู้บริหาร บจ. ด้วย 1 ปี จึงเป็นงานยากของ “หมอเสริฐ” ที่ต้องเผชิญในปีนี้

ส่วนธุรกิจ “สายการบิน” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรือธงหลักของ “หมอเสริฐ” ก็กำลังเผชิญ “มรสุมใหญ่” เช่นกัน แต่การขับเคลื่อนธุรกิจนี้ นับว่ายังมีความคล่องตัวกว่าธุรกิจโรงพยาบาล ตรงที่ “หมอเสริฐ” แม้ไม่ได้ “กุมบังเหียน” ด้วยตัวเอง แต่ยังมีมือขวา คือ “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BA ซึ่งเป็น “ลูกชาย” โดย หมอเสริฐ ได้วางตัวไว้ให้เป็น “หัวแรงหลัก” ในการสานต่อธุรกิจการบิน

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการบินเวลานี้ บอกได้ “สองคำ” ว่า “เหนื่อยหนัก” แม้ตลาดการบินเอเชีย ยังเป็นตลาดที่ดูมีอนาคต จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มต่อเนื่อง แต่ด้วยเศรษฐกิจที่เริ่ม “ชะลอตัว” บวกกับสงครามการค้าที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย ทำให้ธุรกิจการบินในไทยกำลังเผชิญความยากลำบากที่มากขึ้น

นอกจากนี้ การแข่งขันของสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ “โลว์คอสต์” ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ผ่านการ “หั่นราคา” ตั๋วเครื่องบินเพื่อดึงดูดผู้โดยสาย ทำให้ผลดำเนินงานกลุ่มการบินทรุดตัวลงหนัก ซึ่ง BA แม้ไม่ได้โดดลงไปเล่นในตลาด โลว์คอสต์ แต่ก็พลอยได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย สะท้อนผ่าน “ผลดำเนินงาน” งวดไตรมาสแรกปี 2562 ซึ่งมี “กำไรสุทธิ” ลดลงถึง 29% มาอยู่ที่ 504.32 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 710.45 ล้านบาท

..การแข่งขันที่ดุเดือนและทวีความรุนแรงเพิ่มต่อเนื่องของธุรกิจการบิน ทำให้ BA ต้องปรับตัวด้วยการ “ต่อยอด” หรือ “ขยายไลน์ธุรกิจ” ออกไป

ล่าสุด BA ประกาศจับมือ “ล็อตเต้” บริษัทดิวตี้ฟรียักษ์ใหญ่จากเกาหลี ยื่นประมูลสัมปทาน “ร้านดิลตี้ฟรี” ที่สนามบินสุวรรณภูมิและ 3 สนามบินในภูมิภาค ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. แต่ก็ต้อง “พ่ายแพ้” ให้กับ “ยักษ์ใหญ่” เจ้าประจำอย่าง “คิงเพาเวอร์”

นอกจากนี้ BA ยังร่วมมือกับพันธมิตร เช่น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และผู้บริหารนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อกลุ่มกิจการร่วมค้า “บีบีเอส” เข้าประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก วงเงินกว่า 2.9 แสนล้านบาท

การขยายไลน์ลงทุนใหม่ของ BA ถือเป็น “กลยุทธ์” สร้างการเติบโตของรายได้ เพื่อเสริมรายได้หลักอย่างธุรกิจการบินที่แนวโน้มคงไม่เติบโตหวือหวาแบบอดีต

อย่างไรก็ตาม หากมองกันยาวๆ ทั้ง 2 ธุรกิจ ภายใต้ร่มเงาของ “ปราสาททองโอสถ” ถือว่ายังมีอนาคตที่สดใส เพียงแต่ระยะสั้น ต้องจับตาดูว่า “หมอเสริฐ” ซึ่งกำลังเผชิญทั้ง “มรสุมธุรกิจ” และ “มรสุมชีวิต” จะบัญชาเกมจากระยะไกล นำพาทั้ง “2 ธุรกิจ” ฝากคลื่นลมที่เข้ามาก่อกวนอย่างหนักในเวลานี้ได้อย่างไร

นับเป็นเกมธุรกิจที่ต้องติดตาม!