"แฟลชกรุ๊ป" รุกผนึกพันธมิตร สยายปีกส่งสินค้า “อาเซียน”
ทุนไทย-เทศ ลงความเห็นว่า “ประเทศไทย” เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน เพราะที่ตั้งประเทศเป็น “จุดยุทธศาสตร์” ในการเชื่อมต่อการค้าขายไปยังประเทศต่างๆได้ง่าย ทั้งกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบนที่เป็นแผ่นดิน(Land) และด้านล่างเป็น “เกาะ”
จุดแข็งดังกล่าว ทำให้ “ทุนข้ามชาติ” ตบเท้าเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ “ซัพพลายเชน” ที่ยกมาทั้งโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าล็อตใหญ่จนถึงพัสดุชิ้นเล็ก ยกทีมมาให้พรึ่บ!! ไม่ว่าจะเป็นดีเอชแอล เบสท์ โลจิสติกส์ และแฟลช กรุ๊ป เป็นต้น
หลายรายอยู่ในไทยมานาน แต่หน้าใหม่ก็มี อย่าง คมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช หรือ Flash group ที่ประกาศตัวเป็น “ทุนไทย” เพราะ “คมสันต์” ถือหุ้นในบริษัท 50% พนักงานบริษัท 25% และพันธมิตรจีนกับสหรัฐถือหุ้นรวมกัน 25%
ผ่านไป 1 ปี แฟลชกรุ๊ป เทเงิน 5,000 ล้านบาท พัฒนาธุรกิจและระบบให้บริการด้านขนส่ง เพื่อส่งสินค้าและพัสดุให้แก่ลูกค้า 77 จังหวัดทั่วไทย
ทว่า ขุมทรัพย์ธุรกิจยังมีอีกมาก และการมอง “เครือเจริญโภคภัณฑ์” เป็นตัวอย่างในการขยายอาณาจักร “แฟลช กรุ๊ป” ทำให้ คมสันต์ เทหนักควักเงินลงทุนอีก 3-4 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจให้แผ่ไพศาลสู่ “อาเซียน” ภายใน 4 ปีข้างหน้า
การ Go regional ยังเกิดจากการอ่านเกมอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ในอนาคตอาจโตได้ไม่มากและขนาดตลาดจะไม่ใหญ่ไปกว่าปัจจุบัน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท โต 10-15% ในเร็วๆนี้ยังมีผู้เล่น “จ่อคิว” เข้ามาแบ่งเค้กอีก 3 ราย ได้แก่ จากจีน 2 ราย สหรัฐ 1 ราย ทำให้เต็มที่จะเห็นการขับเคี่ยวของรายใหญ่ 5 รายเท่านั้น
เมื่อภูมิภาคคือจิ๊กซอว์ในการเติบโต แต่บริษัทจะสร้างฐานทัพในไทยให้แข็งแกร่ง โดยงบลงทุนก้อนโต จะแบ่ง 5,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจในไทย ให้น้ำหนักโลจิสติกส์มากขึ้น จากปัจจุบัน แฟลช เอ็กซ์เพรส คือหัวหอกทำเงิน
ยุคนี้จะวางรากฐานธุรกิจเอง “ช้า” ไม่ทันเกม จึงใช้ “ทางลัด” ในการร่วมทุนกับพันธมิตรเป็น “สปริงบอร์ด” เติบโต จึงเห็นการผนึก “นิ่มซี่เส็งโลจิสติกส์” หนึ่งในผู้นำธุรกิจขนส่งสินค้าของไทยอายุเกือบ “ครึ่งศตวรรษ” เพื่อตั้งบริษัทร่วมทุน “แฟลช โลจิสติกส์” ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ในการพัฒนาแพลตฟอร์มการขนส่งและกระจายสินค้า ระยะยาวจะเพิ่มงบลงทุนเป็น 1,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัท และขยายศูนย์กลางบริการและคัดแยกสินค้า(ฮับ)จำนวน 10 แห่ง หรือมีขนาดพื้นที่เฉลี่ย 4,000-5,000 ตารางเมตร(ตร.ม.) รองรับสินค้าของลูกค้าที่ออกจากกรุงเทพฯโดยรวม 5,000 ตันต่อวัน
แพลตฟอร์มของแฟลช โลจิสติกส์ ยังมีเป้าหมายในการดึง “ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า” ที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกกว่า 3 หมื่นราย ให้มาเป็นพันธมิตรใช้อีโคซิสเทมร่วมกันด้วย หากทำได้จะ “สปีด” การเติบโตของรายได้โลจิสติกส์บริษัท เพราะผู้ประกอบการเหล่านั้นมี “ฐานลูกค้า” และสินค้าที่ส่งในพื้นที่ต่างๆจำนวนมาก แม้กระทั่ง “นิ่มซี่เส็งโลจิสติกส์” ที่ขนส่งสินค้านับหมื่นรายการ ก็สามารถมาอยู่ในอีโคซิสเทมได้
นอกจากนี้ บริษัทจะใช้กลยุทธ์ซื้อและควบรวมกิจการ(M&A)โลจิสติกส์อีก 4 ราย เพื่อให้บริการครอบคลุมหมวดขนส่ง คลังสินค้า การเงิน ประกัน มาเสริมพอร์ตโฟลิโอที่มีอยู่ 6 กลุ่มบริษัท
แฟลช กรุ๊ป เพิ่งตั้งไข่ ทำให้ยัง “ขาดทุนสะสม” หลายพันล้านบาท แต่หากบริษัทต่อจิ๊กซอว์ในอาเซียนสมบูรณ์คาดว่าจะเห็นการ “คืนทุน” ได้
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีรายได้ในไทย 1,200 ล้านบาท จากปัจจุบัน 500 ล้านบาท มาจากแฟลช เอ็กซ์เพรส 90% หรือปีนี้จะส่งสินค้าและพัสดุราว 40 ล้านชิ้น โตเท่าตัวจากปีก่อน 20 ล้านชิ้น มุ่งเพิ่มสาขาเป็น 1,700 แห่ง จาก 1,000 แห่ง เพิ่มทีมงานเป็น 2 หมื่นราย จาก 1 หมื่นราย
“เราไม่ได้มองแค่การขยายธุรกิจขนส่งสินค้า โลจิสติกส์ แต่เราต้องการสร้างอาณาจักรธุรกิจให้ยิ่งใหญ่ในไทยและอาเซียน”
ปัจจุบันดีเอชแอล เป็นยักษ์ใหญ่ด้านขนส่งสินค้าและพัสดุในภูมิภาค ส่วนไทยคือไปรษณีย์ ตามด้วยเคอรี่ แฟลช กรุ๊ป และดีเอชแอล แต่การขยายสู่โลจิสติกส์คาดว่าจะทำให้ปีหน้าบริษัทเทียบเท่ากับเคอรี่ได้
ด้าน ปิยะนุช สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นิ่มซี่เส็งโลจิสติกส์ และในฐานะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช โลจิสติกส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นธุรกิจขนส่งสินค้าที่มีรากฐาน “ครอบครัว” แต่ยุคนี้การเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การแข่งขันรุนแรง หากไม่ปรับตัวเอง อาจโดนดิสรัป จึงเข้าไปหารือกับแฟลช กรุ๊ป ซึ่งจุดแข็งของพันธมิตรทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี เงินทุน จะเป็น “สปริงบอร์ด” ให้บริษัทเติบโตต่อเนื่องด้วย
“ถือเป็นการทรานส์ฟอร์มธุรกิจครอบครัว เพื่อปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง สำคัญมาก หากเราใช้เวลาเพื่อปรับธุรกิจเองทำได้ แต่คงไม่ทัน การมีพันธมิตรถือเป็นการติดปีกให้เราโตมากขึ้น”