นำร่องเรียนรู้พัฒนาสมอง สร้างแรงงาน 'มัลติสกิล'
การผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของเขตพัฒาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีทักษะที่หลากหลาย หรือ Multi Skills
เพื่อรองรับเทคโนโลยีการผลิตที่มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการนำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร.ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม ผลักดันโครงการศึกษาและพัฒนาแนวทางการเพิ่มศักยภาพคนรองรับการพัฒนาอีอีซี โดยผ่านการจัดการเรียนรู้ตามหลักพัฒนาสมองหัวข้อ “สอนงานให้ได้ผล คนมีความสุข ตามหลักการพัฒนาสมอง” นำร่องอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพของหัวหน้างานในอีอีซี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา 200 คน
การดำเนินการดังกล่าวจะเน้นการสอนและแนะนำงานอย่างถูกต้อง รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหัวหน้างานกับพนักงาน โดยการสอนงานตามหลักการจัดการเรียนรู้ตามหลักพัฒนาสมอง (Brain-based Learning : BBL) ซึ่งเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับโครงสร้างการทำงานของสมอง หรือการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ แทนการนั่งฟังบรรยายอย่างเดียว
อภิชาติ ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักโครงการและจัดการความรู้ สบร. กล่าวว่า สบร.ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหลักการจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL มาตลอด 14 ปี โดยครอบคลุมสมองเด็ก สมองวัยรุ่นและสมองของผู้ใหญ่ ซึ่งได้ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เพื่อนำหลักการทำงานของสมองผู้ใหญ่ไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในองค์กรมากกว่า 30 แห่ง
การดำเนินโครงการดังกล่าวมีผลลัพธ์ที่ชัดเจนเมื่อนำแนวทางการสอนงานตามหลัก BBL ไปปรับใช้ภายในโรงงานอุตสาหกรรม จะช่วยเพิ่มผลผลิตและลดของเสียลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งหัวหน้างานและพนักงานมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ มีความเข้าใจภาระงานและเทคนิคการทำงานได้ดีมากขึ้นด้วย และทุกองค์กรลดเวลาและค่าใช้จ่ายอย่างเห็นได้ชัด
“สบร.ต้องการให้การพัฒนาและขยายองค์ความรู้เรื่อง BBL สำหรับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานภาคการผลิตในอีอีซี ซึ่งจะเน้นทักษะที่จำเป็นในกระบวนการทำงาน การแก้ปัญหา การบริหารคน ผ่านกระบวนการอบรมให้แก่หัวหน้างาน เพื่อไปถ่ายทอดแก่ลูกน้องหรือพนักงานใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ”
แนวทางดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาแรงงานในเชิงคุณภาพให้ดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มศักยภาพ และสนองต่ออุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องการองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมในอนาคต เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้น
ทศพล ระมิงค์วงศ์ ผู้จัดการส่วนวิจัยการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันฯ เข้ามามีส่วนในการพัฒนาวิธีปฏิบัติงาน (Work Instruction : WI) เพื่อให้พนักงานทำงานได้เต็มศักยภาพ เรียนรู้เร็วขึ้น ทำงานได้อย่างถูกต้องและสามารถทำงานได้หลายอย่างมีทักษะที่หลากหลาย ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์ในบางโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจ้างพนักงานจำนวนน้อยลง
หลักการ BBL ทำให้เราสร้างให้พนักงาน 1 คน เรียนรู้และจดจำกระบวนการทำงานได้อย่างชัดเจน และภายในระยะเวลาน้อยลง จะช่วยเสริมให้พนักงานมีทักษะที่หลากหลายขึ้น และทำงานอื่นได้อีกมากกว่า 1 อย่าง
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันมาก รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ดังนั้นการปฏิบัติงานต้องเปลี่ยนไปด้วย หลักการ BBL จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะให้คนเรียนรู้เร็วขึ้น เน้นจุดสำคัญของกระบวนการทำงานได้อย่างถูกต้อง ทำให้งานสำเร็จและออกมามีประสิทธิภาพ
“คนเรามีศักยภาพภายในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ปรับการทำงานของสมองให้มีระบบ เมื่อนำหลักการ BBL ไปกระตุ้น เพื่อจัดลำดับความคิด มีจุดเน้นหรือจุดสำคัญที่ชัดเจนจะเรียนรู้ได้เป็นระบบขึ้น มีประสิทธิภาพในการจดจำ และประมวลผลได้ดีขึ้น"
การทำงานร่วมกับ สบร.ได้เก็บตัวเลขผู้เข้าร่วมอบรม 4 ปีที่ผ่านมาพบว่า 100% ดีขึ้น มีของเสียจากกระบวนการผลิตลดลง ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้ได้ทำหลักสูตรการเพิ่มศักยภาพระดับหัวหน้างานออกมาแล้ว
ดุจดาว ดวงเด่น วิทยากรและที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่า ในการอบรมพยายามกระตุ้นให้ผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งเป็นระดับหัวหน้างานถ่ายทอดทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ส่วนตัวที่เกิดขึ้นที่หน้างานออกมาให้ได้ คนที่เป็นหัวหน้างานต้องสอนงานให้ลูกน้องอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่รู้หลักว่าต้องเน้นจุดสำคัญใด และไม่รู้ว่าต้องสอนอย่างไรเพื่อให้ลูกน้องเข้าใจงานได้
การนำหลักการ BBL จะช่วยให้หัวหน้างานส่งต่อความรู้และทักษะการทำงาน และลดเวลาการเรียนรู้ลง รวมทั้งหัวหน้างานนำไปเขียนเป็นคู่มือสำหรับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากทุกโรงงานทำแบบนี้ได้ทั้งหมดสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ปริมาณของเสียน้อยลง ส่งของได้ทันเวลาที่กำหนด ซึ่งหัวหน้างานจะกำหนดได้ปริมาณงานและคนทำงานได้ จะทำงานให้เสร็จตามเวลาที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ผู้เข้าอบรมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนแรกไม่รู้ด้วยซ้ำหลักการ BBL คืออะไร แต่พอได้ฟังและได้ลงมือปฏิบัติจริงทำให้รู้เรื่องระบบ ขั้นตอน วิธีการทำให้งานที่มีอยู่ดีขึ้น โดยสิ่งสำคัญขององค์กร คือ คน และองค์ความรู้ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้วยหลักการ BBL ทำให้ทีมงานเข้าใจการทำงานมากขึ้น สามารถเขียนอธิบายขั้นตอนการทำงานได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นผลให้องค์ความรู้วิธีการทำงานในองค์กรถูกถ่ายทอดให้กับพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“พวกเราต้องไปทบทวนวิธีปฏิบัติการใหม่หมด เราไม่เคยรู้ว่ามีเทคนิคแบบนี้อยู่ เราต้องรื้อระบบที่ผ่านมา โดยจะใส่วิธีการของ BBL ลงไป ตั้งแต่การสอนงาน การหาจุดสำคัญที่สร้างความจดจำและจะไปประยุกต์ใช้กับงาน และจะทำให้งานมีประสิทธิภาพขึ้นแน่นอน”