ตั้งรับ-ปรับเปลี่ยน กลยุทธ์ ‘System Stone’

ตั้งรับ-ปรับเปลี่ยน กลยุทธ์ ‘System Stone’

หันมาโฟกัส “งานวิศวกรรม” เป็นการปรับทิศธุรกิจ (Pivot) จากเดิมที่คิดจะปฏิรูประบบ “ห้องแล็บ” และเปลี่ยนชื่อ “Stone Lab” (สโตนแล็บ) เป็น “System Stone” (ซิสเต็มสโตน)

“สิทธิกร นวลรอด” ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง ซิสเต็มสโตน เล่าย้อนให้ฟังว่าในช่วงแรก ๆ (เมื่อประมาณ 2ปีก่อน) ว่าทีมของเขามีไอเดียจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้บริหารจัดการห้องแล็บ ห้องวิจัย (เขาเรียนจบทางด้านมาตรวิทยา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และได้ทำงานอยู่ในห้องแล็บทำให้เห็นถึงปัญหาต่าง ๆ) แต่ที่สุดก็กลับพบว่าความเป็นจริงแล้วแล็บเป็นเพียงแค่พาร์ทย่อยๆ พาร์ทหนึ่งของทั้งโรงงานผลิต ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ไม่มีงบประมาณ


ทว่าในความโชคร้ายยังมีความโชคดี เพราะระหว่างที่เข้าไปติดต่อกับแล็บแต่ละแห่ง เขาได้มีโอกาสพูดคุยกับวิศวกรซึ่งส่วนใหญ่เป็นระดับผู้จัดการโรงงาน ทำให้ได้รู้ว่าแท้จริงงานวิศวกรรม งานซ่อมบำรุงนั้นมีความสำคัญมากถึงมากที่สุด เพราะถ้าระบบไม่ดีครื่องจักรก็มีโอกาสเบรคดาวน์ หมายถึงการผลิตจะต้องสะดุดหยุดลง เกิดความเสียหายที่หนักหนาสาหัส


"แต่มีเรื่องที่เราทำมาถูกทางก็คือ การใช้เทคโนโลยีที่เป็นโมบายแอพ วิศวะที่ได้เห็นเขาจึงแนะนำเราว่า ถ้าเอามาใช้กับงานวิศวกรรมน่าจะเพิ่มแวลลูมากกว่า ไม่ใช่แค่วิศวะรายเดียวที่บอกแบบนี้มีหลายรายที่พูดตรงกัน แสดงว่ามันเป็นสิ่งที่พวกเขาอยากได้จริงๆ เราเลยทำการปรับธุรกิจซึ่งที่สุดมันก็สร้างรายได้ ตอนนี้เราก็มีลูกค้าโรงงานเกือบ 80-90 แห่ง และในไปป์ไลน์ยังมีอีก 300 กว่าโรงงานที่กำลังคุยอยู่"


สำหรับเป้าหมายแรกที่เขาอยากทำก็คือ โซลูชั่นดี ๆมีราคาไม่แพงให้กับโรงงานระดับเอสเอ็มอี แต่กลายเป็นว่าเวลานี้ซิสเต็มสโตนมีลูกค้าเป็นโรงงานแทบทุกไซส์ เนื่องจากโดยปกติซอฟท์แวร์สำหรับงานวิศวกรรมถ้าเป็นของนำเข้าจะหมายถึงการจ่ายเงินหลักล้านบาท แต่ส่วนใหญ่เมื่อซื้อมาแล้วก็มักใช้งานยากเพราะระบบมีความซับซ้อน


ในขณะที่ซอฟท์แวร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นในประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่โปรแกรมการทำงานจะอยู่บนพีซี เป็นวินโดวส์เก่าๆ แต่ก็มีราคาหลายแสนบาทเช่นกัน จึงมีโรงงานมากถึง 90% ที่ไม่ยอมซื้อระบบอาศัยใช้โปรแกรมเอ็กเซลปกติและกลายเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของวิศวกรผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการกับเอกสารรายงานกองโต


"ด้วยความที่เขาเป็นโรงงานเล็ก ผลิตสินค้าส่งออก เพนของเขาก็คือ ลูกค้าต่างประเทศจะเข้มงวดในเรื่องของมาตรฐานต่าง ๆ เช่น ISO เป็นต้น ระบบมันก็เลยโหลด ซึ่งโรงงานก็หาคนที่เก่งเรื่องพวกนี้ไม่ค่อยได้เลยอยากให้เราทำระบบให้ ซึ่งลูกค้าค่อนข้างแฮบปี้กับระบบโมบายแอพของเรามาก เราถือเป็นผู้พัฒนาแอพสำหรับงานวิศวกรรมรายแรกๆของโลกเลยก็ว่าได้ และก็ถือว่าเรามาถูกเวลาด้วย"


แต่ถามว่าก้อบปี้ได้ไหม? ทุกอย่างล้วนถูกก้อบปี้ได้อย่างแน่นอน แม้ว่าต้นทุนในการพัฒนาอาจสูง อาจต้องใช้เวลานาน แต่ไม่ได้หมายถึงจะทำไม่ได้ ยิ่งถ้าซอฟท์แวร์เฮ้าส์เจ้าใหญ่มีเงินทุนหนาๆ อยากจะทำขึ้นมาก็คงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม


ซิสเต็มสโตนจึงต้องก้าวต่อไปอีกขั้นด้วยเทคโนโลยีใหม่ โดยการนำเอาไอโอทีและ AI เข้ามาเสริมเพื่อให้ระบบแอดวานซ์มากขึ้น อัตโนมัติมากขึ้น ลดงานวิศวกรรมมากขึ้น เรียกว่าอะไรที่คนไม่จำเป็นต้องทำก็ให้เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้ ก้าวไปสู่เทรนด์ของงานวิศวกรรมที่ว่าด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่การซ่อมบำรุงในระดับของการคาดการณ์ ( Predictive Maintenance )


"เราไม่ใช่เป็นคนบุกเบิกหรือคิดขึ้นมาใหม่ มันเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังพยายามพัฒนาไปให้ถึง เทียบกับรถที่เราไม่ต้องคอยไปเปลี่ยนอะไหล่ ผ้าเบรค หรือน้ำมันเครื่องทุกระยะ แต่ที่ต้องทำก็เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะพังเมื่อไหร่เลยต้องเปลี่ยนมันก่อน แต่ต่อไปนี้เราจะเอาเซ็นเซอร์ไปติดเพื่อดูค่าบางอย่างของแมชชีน เช่น ค่าการสั่น ค่าอุณหภูมิ นำเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ซึ่งระบบมันจะสามารถบอกได้ว่าเราควรทำอะไรหรือซ่อมอะไรเวลาไหนเพื่อทำให้อายุงานของอะไหล่ใช้งานได้นานที่สุด เพื่อหนึ่ง ลดต้นทุน สอง ลดกิจกรรมที่จะต้องไปซ่อมก่อนที่มันจะเสีย เรากำลังพยายามพัฒนาไปให้ถึงระดับนี้"


อย่างไรก็ดี ก็มีเรื่องที่ทำให้เขาประหลาดใจเพราะพบว่าความจริงนั้นจำนวนโรงงานในประเทศไทยถึง 80-90% ที่ยังใช้เครื่องจักรมือสอง มีความจำเป็นต้องไปติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ให้ด้วยเพื่อให้เก็บข้อมูลต่างๆนำมาวิเคราะห์


"ส่วนใหญ่ถ้าเครื่องจักรไม่แย่สุด ๆจริง ๆโรงงานก็จะไม่เปลี่ยน เพราะราคามันเป็นหลักสิบล้านร้อยล้าน แถมเวลาเปลี่ยนก็ยุ่งยากในการเซ็ทอัพ เขาต้องเสียต้นทุนหลายอย่าง ซึ่งเรามุ่งลูกค้าเซ็คเมนท์นี้เป็นโรงงานที่ยังมีระบบไม่ทันสมัยมากนัก แต่เราออกแบบโปรดักส์ให้เป็นสากลเพราะในปีหน้าเราแผนจะขยายไปตลาดต่างประเทศเริ่มด้วยโรงงานในประเทศแถบอาเซียนก่อน"


เขาบอกว่าตลาดนี้ค่อนข้างใหญ่ เนื่องจากโรงงานทั่วโลกมีจำนวนมหาศาล อีกทั้งโลกก็ก้าวสู่ยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่าน แม้ระบบการทำงานของโรงงานส่วนใหญยังอยู่บนคอมพิวเตอร์ แต่ในไม่ช้ามันก็จะเหมือนกับวงการอื่น ๆที่ระบบการทำงานจะเปลี่ยนไปอยู่บนมือถือ


"โรงงานจะเป็นระบบออโตเมชั่นมากขึ้น ลดจำนวนคนลง เทรนด์นี้เป็นผลดีกับเรา เพราะการลดคนจะตามมาด้วยการเพิ่มเครื่องจักรและหุ่นยนต์่ ซึ่งล้วนต้องอาศัยการซ่อมบำรุง กลายเป็นว่างานซ่อมบำรุงจะหนักกว่าเดิม เพราะมีของที่ต้องการการซ่อมบำรุงมากขึ้นกว่าเดิม โรงงานก็ยิ่งต้องการระบบของเรามากขึ้นด้วยซ้ำ"


กล่าวได้ว่าปัจจุบันซิสเต็มสโตน กำลังอยู่ในจังหวะของการขยายตลาดสร้างการเติบโต ทำให้จำนวนพนักงานในทีมจากจุดเริ่มต้นที่มีแค่ 4 คน เวลานี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 17 คน และกำลังจะทะยอยรับเพิ่มเรื่อยๆ โดยเฉพาะในส่วนของมาร์เก็ตติ้งและเซลล์


"ตัวผมเองเมื่อก่อนก็ดูทีมขายด้วย แต่พอมันเริ่มนิ่งแล้วเราได้ผู้จัดการเก่งแล้ว ผมก็เริ่มสเต็ปมาดูเรื่องบิสิเนส ดีเวลลอปเมนท์ มาดูโครงสร้างองค์กรให้มันครบ ในปีนี้ผมกับซีทีโอพยายามจะเอาตัวเองออกมาจากคอร์ปอเรชั่นเพื่อไปดูเรื่องการขยายตลาด เพราะในปีหน้าเราจะไปต่างประเทศ"


ซิสเต็มสโตน เวลานี้เป็นสตาร์ทอัพดีแทคแอคเซอเลอเรท ปีที่ 7 อีกด้วย สิทธิกรบอกถึงเหตุผลว่า เป็นเพราะบริษัทกำลังเติบโตมีความจำเป็นที่ตัวเขาเองรวมถึงคนในทีมทุกคนต้องเติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน และการเป็นสตาร์ทอัพก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียนรู้ทักษะต่าง ๆทั้งฮาร์ดสกิล และซอฟท์สกิลด้วย ซึ่งดีแทคถือว่าเป็นเบอร์หนึ่งมีความเชี่ยวชาญของวงการนี้


"เราต้องการกรูมตัวเองให้เป็นสตาร์ทอัพที่เซ็กซี่ขึ้น เวลานี้เรายังเป็นหน่อเล็ก ๆ ต้องเรียนรู้อีกเยอะ ในมุมของสตาร์ทอัพไม่แค่การขายของได้ แต่มีหลายปัจจัยที่ทำให้บริษัทจะมีแวลลูสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสตอรี่ การพิชชิ่ง การทำแบรนดิ้ง เผลอ ๆเรื่องพวกนี้จะมีมูลค่าเยอะกว่ายอดขายด้วยซ้ำ"