"บีเจซี" ลุยเสริมแกร่งค้าปลีก รุกผลิตภาคต่อองค์กรร้อยปี
ผ่าแผนบีเจซี ธุรกิจเจ้าสัวเจริญ ประกาศสร้างนิวเอส-เคิร์ฟ เคลื่อนธุรกิจ 137 ปี โฟกัสภาคผลิต เสริ์ฟหน้าร้านค้าปลีกในเครือ หลังจบเกมต่อหางธุรกิจครบวงจรสู่ปลายน้ำ ฮุบบิ๊กซี ดันรายได้ 1.2 แสนล้าน 70%พอร์ตโฟลิโอ เดินหน้าทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลคัมพานี
บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี องค์กรธุรกิจไทยอายุ 137 ปี มีการเปลี่ยนมือของ“ทุนใหญ่” จากสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี อินโดนีเซีย ท้ายที่สุดมาอยู่ภายใต้ทุนไทย “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ผู้ครองอาณาจักรธุรกิจ “ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น” หรือทีซีซี กรุ๊ป ประกอบด้วย 5 เสาหลักโดยมี“บีเจซี”เป็นหัวหอกสำคัญของกลุ่ม ทำหน้าที่ลุยธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้า รวมถึงค้าปลีก“บิ๊กซี”เผชิญเศรษฐกิจ กำลังซื้อ การแข่งขัน พฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิม
กว่า 1 ศตวรรษ “บีเจซี” ยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งบนสมรภูมิการค้า ขยายอาณาจักรให้เติบใหญ่ในประเทศ ควบคู่ประกาศศักดา “ทุนไทย” สร้างฐานทัพธุรกิจผงาดเวที“ภูมิภาคอาเซียน” มีธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำรายได้ทะลุ“แสนล้านบาท”ต่อปี โกย“กำไร”หลายพันล้านบาท
ทว่า“บีเจซี” จะโตต่อในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทาย“แม่ทัพ”มีกลยุทธ์เคลื่อนธุรกิจ 100 ปี อย่างไร “กรุงเทพธุรกิจ” ถอดคำ “เขยเล็ก”ของเจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ถึงทิศทางอนาคต
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยว่าตลอดระยะเวลา 12 ปี (ตั้งแต่ปี2550) ที่ได้รับโอกาสจากท่านประธานเจริญ-คุณหญิงวรรณา เข้ามาเป็นผู้นำขับเคลื่อนบีเจซี มีเป้าหมายสำคัญในการผลักดันให้องค์กรร้อยปี ที่มีพื้นฐานธุรกิจที่ดี มั่นคง เติบโตอย่างยั่งยืน นั่นหมายถึงการหา New S-Curve ให้กับธุรกิจ
ทั้งนี้ ก่อนหา S-curve ใหม่ บริษัทจำเป็นต้องเข้าใจ S-curve เก่า ที่ทำให้องค์กรดำเนินธุรกิจและอยู่รอดมาได้ในระยะเวลา 125-127 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรากฐานสำคัญที่เป็นจุดแข็งของบริษัทคือการมีผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น ผู้ประกอบการหรือ “พ่อค้า” ที่เป็นนักธุรกิจมีฉมังมองหาโอกาสทางการค้าขายอยู่ตลอดเวลา
เดิมบีเจซี เน้นลงทุน(โฮลดิ้ง) แต่โครงสร้างธุรกิจปัจจุบันเป็นผู้ผลิต จัดจำหน่าย ทำตลาดเบ็ดเสร็จ มีกิจการ“ครบวงจร”ตั้งแต่ต้นน้ำมีโรงงานผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ เช่น สบู่นกแก้ว สบู่แพรอท กระดาษชำระเซลล็อกซ์ ขนมขบเคี้ยว(สแน็ค)ประเภทมันฝรั่งแบรนด์เทสโต โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว กระป๋อง กล่องกระดาษ เป็นต้น
ส่วนกลางน้ำทำการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าทั้งไทยและต่างประเทศ ผ่านบริษัทลูก เช่น บีเจซี โลจิสติกส์ ภูไท ไทอัน ไทยคอร์ป และธุรกิจปลายน้ำช่องทางจำหน่ายสินค้าห้างค้าปลีก“บิ๊กซี” พันกว่าสาขาในทุกฟอร์แมท ช่องทางอีคอมเมิร์ซ ส่วนต่างประเทศ เช่น เวียดนาม มีห้างค้าปลีกประเภทชำระเงินสด(Cash&Carry)แบรนด์เอ็มเอ็มเมก้ามาร์เก็ต19 สาขา(เดิมคือเมโทร แคช แอนด์ แครี่) ร้านสะดวกซื้อ“บีสมาร์ท”กว่า 139 สาขา ลาว มีร้านสะดวกซื้อ“เอ็มพอยท์มาร์ท”เป็นต้น
**New S-Curve โฟกัสผลิต
ทั้งนี้ บีเจซี มีกิจการต้นน้ำและกลางน้ำแกร่งมาก เมื่อมี “ปลายน้ำ” เสริมทัพจากการซื้อและควบรวมกิจการ(M&A)บิ๊กซีมูลค่า 2 แสนล้านบาท สร้างห้างค้าปลีกเองแบรนด์“เอ็มเอ็ม เมก้ามาร์เก็ต”ในไทย มีหน้าร้านในเวียดนามหลังซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท ผ่านบริษัทจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าภูไท ปั้นแบรนด์ “บี สมาร์ท”(B’s Mart)แทนที่ และผุดแบรนด์ร้านสะดวกซื้อ“เอ็มพ้อยท์มาร์ท”ในลาว แผนจากนี้ไปบริษัทจะ “โฟกัสธุรกิจต้นน้ำ” เน้นการผลิตสินค้ามากขึ้น เพื่อป้อนหน้าร้าน และตอบสนองความต้องการผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศ
“ตอนนี้เราจะเน้นการผลิตสินค้ามากขึ้น เพราะปัจจุบันเรามีช่องทางจำหน่ายสินค้าแล้ว ก็ต้องกลับมาโฟกัสการผลิต ขณะที่การซื้อมาขายไปหรือทำเทรดดิ้ง เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า มีปัจจัยยต่างๆที่สามารถส่งผลกระทบธุรกิจไม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้”
ปัจจุบันบีเจซี มีโรงงานที่เป็นฐานทัพการผลิตสินค้าทั้งสิ้น 13 แห่ง ครอบคลุมในประเทศไทย เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา และมาเลเซีย
**โลกเปลี่ยน องค์กรต้องปรับ
ปัจจุบันบริบททางธุรกิจเปลี่ยนแปลงมาก การแข่งขันรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ๆ สตาร์ทอัพเกิดขึ้นจำนวนมาก เทคโนโลยีพัฒนากว่าอดีต การทำตลาดผ่านสื่อดั้งเดิม หนังสือพิมพ์ ทีวี ถูกสื่อใหม่มีอิทธิพล การซื้อสินค้าจากที่ผู้บริโภคต้องไปหน้าร้าน พฤติกรรมช้อปตอนนี้เปลี่ยนไปสู่ช่องทางใหม่ๆ เช่น ออนไลน์เพิ่ม
“มองพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ทางเลือกในการซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น หาซื้อสินค้าง่ายขึ้น มีเทคโนโลยีช่วยเอื้อต่อการหาข้อมูลสินค้า การค้าไร้พรมแดนมากขึ้น ทำให้การแข่งขันทางธุรกิจกว้างขึ้น ตลาดเดิมที่เคยเป็นขอบเขตของธุรกิจค้าปลีก มีผู้เล่นในประเทศ 2-3 ราย ตอนนี้แข่งขันทั้งอาเซียน แข่งทั้งโลก ผู้ประกอบการจึงเผชิญความท้าทายมากขึ้น ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่เปลี่ยนแปลงนักในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา มีหดตัวลงบ้าง” นายอัศวิน กล่าว
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทต้องปรับตัวรอบด้าน ทั้งค่านิยมองค์กร ความเชื่อ วิธีคิดในการทำงาน นำเทคโนโลยี ระบบการจัดการทรัพยากรภายใน เช่น ERP SAP มาใช้ ดึงหุ่นยนต์มาช่วยการผลิต บรรจุสินค้า
**ทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลคัมพานี
ทั้งนี้ โลกธุรกิจยุคใหม่ “ดิจิทัล” เป็น “สึนามิ” จ่อถล่มธุรกิจ บริษัทจึงเปลี่ยนผ่าน(Transform)องค์กรให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก เพราะเป็นเซ็กเตอร์แรกๆ จะถูกดิสรัป อีกทั้ง “บิ๊กซี” ทำรายได้หลักกว่า 1.2 แสนล้านบาท หรือกว่า 70% ของพอร์ตโฟลิโอ ส่วนการทรานส์ฟอร์มทำในมิติ เช่น ค่านิยมองค์กร พฤติกรรม และวิธีการทำงานชู “Digital Transformation” กระตุ้นให้บุคลากรในองค์กรเข้าใจแนวโน้ม(Trend)ธุรกิจโลก
นอกจากนี้ ผนึกนีลเส็น ตั้งบริษัทร่วมทุนจัดทำขุมทรัพย์ข้อมูล(Big Data)เพื่อทราบฐานข้อมูลและพฤติกรรม นำมาวิเคราะห์ เข้าใจความต้องการผู้บริโภคให้แม่นยำขึ้น ซึ่งจำนวนลูกค้ามาชอปปิงในห้าง 18.5 ล้านคน เกิดธุรกรรมกว่า 7 แสนรายการต่อวัน เช่น ลูกค้ารายหนึ่งซื้อนมผงยี่ห้อหนึ่งทุก 3 วัน ผ่านไป 2 สัปดาห์ ซื้อปริมาณมากขึ้น ซื้อผ้าอ้อมไซส์ใหญ่ขึ้นบ่งชี้เด็กกำลังโต
การเชื่อมการค้าขายจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ ผ่านมาร์เก็ตเพลสของบริษัทและพันธมิตร เช่น Shopee บิ๊กซีขายสินค้ากว่า 1.3 แสนรายการ ขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์กว่า 3.2 หมื่นรายการ หน้าร้านมุ่งสร้างประสบการณ์ช้อปให้ลูกค้าที่ห้างมากขึ้น ตอบโจทย์การใช้เวลาที่คุ้มค่า
“ค้าปลีกอยู่ในโลกเก่า เราจะเชื่อมโลกใหม่ยังไง เพราะสุดท้ายเราต้องการให้ผู้บริโภคอยู่กับเรา บีเจซีทำค้าปลีก เราต้องหาเหตุผลให้ลูกค้าเข้าใช้บริการที่ร้าน แน่นอนว่าหายากขึ้น แต่มีทางเลือกบริการสินค้าถึงหน้าประตู หาโอกาสอำนวยความสะดวกให้ลูกค้ามากขึ้น”
**ลดหนี้ เสริมแกร่งการเงิน
เขากล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาบีเจซี มีการซื้อกิจการห้างบิ๊กซีมูลค่า 2 แสนล้านบาท ทำให้มีภาระหนี้สินค่อนข้างมาก ทั้งหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย หนี้การค้า หนี้สินอื่นๆ ทั้งเครือกว่า 2.07 แสนล้านบาท(ณ สิ้นปี 61) การดำเนินงานจากนี้จึงมุ่งค้าขายสินค้าและบริการเพื่อทำกำไร นำไปชำระหนี้สถาบันการเงิน
“เมื่อธุรกิจเรามีการขยาย จึงมีการกู้ยืมเงิน ถึงจุดหนึ่งพอทำธุรกิจมีกำไรก็พยายามลดหนี้ และเราต้องการให้ธุรกิจมีศักยภาพทางการเงิน ตอนนี้จึงมุ่งทำให้ธุรกิจมีกำไรทุกบาททุกสตางค์
**5 ปีผงาดตลาดอาเซียน
ส่วนแผนขยายธุรกิจในอาเซียน เป้าหมาย 5 ปี ต้องการเพิ่มพื้นที่ในการแข่งขันในเวทีภูมิภาคมากขึ้น จากมีฐานธุรกิจใน 6 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ,กัมพูชา หาโอกาสลงทุนในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ค้าปลีก เตรียมเปิดห้างเอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต ,ลาว ขยายร้านสะดวกซื้อเอ็มพ้อยท์มาร์ท และผลิตสินค้ากาแฟอาราบิก้า จากไร่ในปากซอง ของกลุ่มพรรณธิอร ในเครือทีซีซี เมียนมา เป็นตัวแทนจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ต่างๆ และสินค้าอุปโภคบริโภค ,มาเลเซีย มีฐานผลิตสินค้าอาหาร และบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว จีน ตั้งสำนักงานตัวแทนเพื่อจัดหาสินค้าไปทำตลาดตอบสนองผู้บริโภค
“5ปีข้างหน้าเราน่าจะมีพื้นที่การแข่งขันกว้างขึ้นในอาเซียน จากฐานธุรกิจในต่างประเทศที่มี”