อินโนเวชั่นเบรนสอน'เอไอ'ตรวจหาเซลล์มะเร็ง
สตาร์ทอัพพันธุ์ไทยต่อยอดงานวิจัย “ระบบเอไอคัดกรองเซลล์มะเร็งปากมดลูก” ของ สจล. สู่เชิงพาณิชย์ เล็งจับมือสถาบันมะเร็งฯ สร้างฐานข้อมูล 1 หมื่นชุดให้เอไอเรียนรู้ เสริมความแม่นยำ ก่อนยื่นขอมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ทั้งระดับชาติและสากล
“สตาร์ทอัพเป็นโมเดลธุรกิจที่ทำธุรกิจที่มีตลาดขนาดใหญ่พอที่จะสร้างรายได้และเติบโตแบบก้าวกระโดด ก่อนหน้านี้ เราทำระบบจัดการขยะอัจฉริยะชื่อ SEM : Smart Eco Management ขยะเป็นตลาดที่ใหญ่มากแต่มีเจ้าตลาดอยู่แล้ว ทำให้เรามุ่งไปด้านซีเอสอาร์แล้วเริ่มมองหาช่องทางนวัตกรรม กระทั่งพบว่า เครื่องมือแพทย์มีความน่าสนใจและเป็นตลาดมูลค่าสูง” ปริญญา วัฒนนุกูลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโนเวชั่น เบรน จำกัด กล่าว
ปริญญาได้เจองานวิจัยเรื่อง ระบบเอไอคัดกรองเซลล์มะเร็งปากมดลูก ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงตัดสินใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยีในช่วงต้นปี 2562 เล็งจับมือสถาบันมะเร็งฯ สร้างฐานข้อมูล 1 หมื่นชุดให้เอไอเรียนรู้ เสริมความแม่นยำ ก่อนยื่นขอมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ทั้งระดับชาติและสากล ก่อนเดินหน้าเชิงพาณิชย์ในปี 2564
คนไทยเป็นโรคมะเร็งปีละ 1.5 แสนคน ในขณะที่ทั่วโลกมีผู้ป่วยใหม่ในโรคนี้ปีละ 18 ล้านคน อัตราการเสียชีวิต 9.6 ล้านคน ในขณะที่มะเร็งปากมดลูกนั้นพบมากเป็นอันดับที่ 2 ในผู้หญิง ซึ่งใน 1 วันจะมีผู้หญิงราว 27 คนที่ตรวจพบมะเร็งปากมดลูก และอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้อยู่ที่ราว 14 คนต่อวัน
โรคมะเร็งนั้นยิ่งตรวจเจอเร็วเมื่อมะเร็งอยู่ในขั้นต้นตั้งแต่ 0-2 ก็ยิ่งมีโอกาสรักษาหายได้มาก แต่ส่วนใหญ่มักตรวจพบในระยะลุกลามหรือเกิดอาการแล้ว ดังนั้น การตรวจคัดกรองโรคจึงเป็นแนวทางที่ดี โดยปกติ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมีทั้งการตรวจแบบแป๊ปสเมียร์สามัญ และแป๊ปสเมียร์ของเหลวเก็บเซลล์ แพทย์ต้องใช้เวลา 20 นาทีในการอ่านค่า ประกอบการการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยแต่ละรายทำให้ใช้เวลา 3 วันจึงจะรู้ผล แต่นวัตกรรมนี้ประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอทำหน้าที่วิเคราะห์เซลล์ที่อยู่ในแผ่นสไลด์แทนนักพยาธิแพทย์ สามารถรู้ผลใน 2 นาที
“ทีมงานประดิษฐ์เครื่องสแกนและถ่ายภาพแผ่นสไลด์ ที่ได้จากวิธีการตรวจแบบแป๊ปสเมียร์ โดยใช้กล้องดิจิทัลและเลนส์ระยะใกล้ หลังจากเครื่องถ่ายภาพแผ่นสไลด์ก็จะส่งข้อมูลให้ซอฟต์แวร์ประมวลผลจากภาพของเซลล์ ว่ามีโอกาสเติบโตเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่" ปริญญา กล่าว
ความฉลาดของระบบอยู่ที่การเรียนรู้จากฐานข้อมูล โดยในช่วงแรกนี้มี 1 พันเคสตัวอย่าง ความแม่นยำอยู่ที่ 70% แต่เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้เอไอฉลาดยิ่งขึ้น จึงต้องการเคสอย่างน้อย 1 หมื่นเคสเพื่อเพิ่มความแม่นยำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงเตรียมร่วมมือกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และ สจล.ทดสอบใช้เครื่องดังกล่าว พร้อมเก็บเคสตัวอย่างให้มากที่สุด คาดว่าภายในปี 2562 จะเก็บได้ถึง 1 หมื่นเคสตามที่คาดไว้
“เรามองว่า หลังจากฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์และความฉลาดของเอไอเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ปี 2563 จะเดินหน้ายื่นขอมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ทั้งในประเทศที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และหน่วยงานสากล เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขยายสู่ตลาดโลก” ปริญญา กล่าว
ทั้งนี้ การยื่นขอมาตรฐานต้องใช้เวลาเตรียมการและอนุมัติ ดังนั้น อาจต้องใช้เวลาทั้งปี 2563 และเชื่อว่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมสู่เชิงพาณิชย์ในปี 2564 โดยเตรียมรูปแบบธุรกิจไว้ 3 แบบคือ ขายขาดสำหรับเครื่องพร้อมซอฟต์แวร์, เช่าใช้เป็นรายเดือน และคิดค่าบริการเป็นรายครั้ง โดยมองกลุ่มเป้าหมายทั้งโรงพยาบาลรัฐ เอกชน รวมถึงศูนย์การแพทย์ในไทย และตลาด CLMV ที่หลายประเทศขาดแคลนทั้งแพทย์และเทคโนโลยี และยังมีโอกาสเติบโตอีกมากเพราะยังไม่เคยมีเครื่องมือแพทย์แบบนี้มาก่อน
ระบบเอไอคัดกรองเซลล์มะเร็งปากมดลูกด้วยปัญญาประดิษฐ์นี้มีราคาถูกกว่านำเข้าถึง 50 เท่า ช่วยประหยัดลดการนำเข้าเครื่องมือราคาสูงจากต่างประเทศ พร้อมทั้งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ง่ายสะดวกสบาย หากนวัตกรรมชิ้นนี้นำไปใช้งานจริงกระบวนการตรวจวิเคราะห์เซลล์มะเร็งปากมดลูกจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีและส่งผลได้ใน 1 วัน หลังจากโครงการนี้ทางบริษัทมีแผนจะร่วมมือกับพันธมิตรทั้ง 2 รายเพื่อต่อยอดพัฒนาการตรวจเซลล์มะเร็งประเภทอื่น โดยเฉพาะที่มีอัตราค่าตรวจวิเคราะห์สูง เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด เป็นต้น
เครื่องมือคัดกรองเซลล์มะเร็งปากมดลูกด้วยเอไอนี้ เป็น 1 ใน 50 ผู้ประกอบการทั้งสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการใช้พื้นที่ร่วมเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ (Co-Working Space) หรือโครงการ The Basecamp ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ที่จัดขึ้นเพื่อผลักดันระบบนิเวศที่เอื้อต่อการจัดตั้งธุรกิจ ส่งเสริมและยกระดับสตาร์ทอัพไทย โดยมีการบ่มเพาะผู้ประกอบการทั้งพื้นฐานการสร้างแบรนด์ การนำเสนอแผน แหล่งทุน การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และการออกแบบ 3มิติ พร้อมทั้งเป็นเวทีทดสอบตลาดผ่านการออกงานแสดงสินค้า
การดำเนินโครงการตลอด 6 เดือนที่บ่มเพาะผู้ประกอบการผ่านกิจกรรมจนสามารถพัฒนาธุรกิจ สร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งทุนทั้งในและต่างประเทศ เกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจซึ่งรวมทั้งมูลค่าของธุรกิจ การจ้างงาน และการลงทุน กว่า 53 ล้านบาท มีผลตอบแทนเชิงเศรษฐศาสตร์ 13.25 เท่า และเชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่ทำให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพเดินหน้าธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมฯ กล่าวว่าโครงการนี้มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรม 120 ราย และผ่านเกณฑ์การคัดเลือก 50 รายในการเข้าร่วมบ่มเพาะธุรกิจ โดยมีโค้ช หรือ ผู้เชี่ยวชาญจาก The World Startup Festival หน่วยงานจากซิลิคอนวัลเลย์ในสหรัฐ ที่มีประสบการณ์ในด้านการสร้างและลงทุนกับสตาร์ทอัพมาให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อที่จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ หรือ บริการใหม่ให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้ จนนำมาสู่พิธีมอบประกาศนียบัตร
ยกตัวอย่างผลงานอื่นๆ ในโครงการ เช่น ผลิตภัณฑ์ Zading โปรตีนจิ้งหรีด อาหารแห่งอนาคต ผลงานของ “ภานุวัฒน์ โคตรโนนกอก” ที่นำจิ้งหรีดมาแปรรูปเป็นโปรตีนทดแทนหรือโปรตีนผง ส่งออกตลาดต่างประเทศ โดยเน้นจุดขายด้านการใช้จิ้งหรีดพันธุ์สะดิ้ง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีโปรตีนสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ และเลี้ยงในระบบออร์แกนิคนอกจากจิ้งหรีดผงแล้วยังเตรียมทำผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีดอื่นๆ อีก เช่น เอนเนอจี้บาร์ เส้นขนมจีนอบแห้ง เป็นต้น