ดันระยองโมเดล 'กำจัดขยะ' ตั้งเป้าใน 5 ปีไร้ขยะพลาสติก

ดันระยองโมเดล 'กำจัดขยะ' ตั้งเป้าใน 5 ปีไร้ขยะพลาสติก

ภาคเอกชนจับมือผุดโครงการ PPP Plastic หนุนรีไซเคิลกำจัดขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี เลือก จ.ระยอง นำร่องตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะไม่มีขยะพลาสติกออกสู่สิ่งแวดล้อม นำขยะพลาสติกมารีไซเคิลได้ไม่ต่ำกว่า 10% สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนไม่ต่ำกว่า 3 ล้านต่อเดือน

นางปราณี ภู่แพร ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขยะพลาสติกกำลังเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของไทย และส่งผลกระทบไปสู่สิ่งแวดล้อมโลก โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้ระบุว่าประเทศไทยติดอันดับ 6 ของโลกที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้
ดังนั้น กลุ่มผู้ประกอบการภาคเอกชน จึงได้ตั้งกลุ่ม PPP Plastic (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management) ก่อตั้งขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ 33 องค์กร มีแกนนำในช่วงเริ่มต้นประมาณ 4 หน่วยงาน เช่น พีทีทีจีซี, ดาวเคมิคอล, เอสซีจี และไออาร์พีซี ซึ่งได้นำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (เซอร์คูลาร์อีโคโนมี) มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน

ดันระยองโมเดล \'กำจัดขยะ\' ตั้งเป้าใน 5 ปีไร้ขยะพลาสติก

กำจัดขยะครบวงจร

โดยได้เลือกนำร่องใน จ.ระยอง เป็นพื้นที่เป้าหมายในการกำจัดขยะพลาสติกอย่างครบวงจร เนื่องจากเป็นเมืองชายฝั่งทะเลที่เสี่ยงต่อการปล่อยขยะพลาสติกลงทะเล รวมทั้งเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานการรีไซเคิล การกำจัดขยะพลาสติก และยังอยู่ในพื้นที่อีอีซี

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อเดือนมิ.ย. 2561 ได้มีเทศบาลอาสาเข้ามาร่วมโครงการทั้งสิ้น 18 แห่ง รวมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ระยอง อีก 1 แห่ง จากเทศบาลทั้งจังหวัดที่มี 67 แห่ง โดยเทศบาลทั้ง 18 แห่ง ภาคเอกชนจะเข้าไปรณรงค์ตั้งแต่ต้นน้ำของการเกิดขยะพลาสติกในชุมชน และครัวเรือน ให้มีความรู้ในการคัดแยกขยะพลาสติก และส่งต่อไปยังชุมชนและเทศบาล เพื่อนำพลาสติกที่มีค่าออกจากขยะทั่วไปไปอยู่ในที่ที่ถูกต้อง นำไปสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดแวลูเชน

“ส่วนพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ ก็สามารถนำมาแปรรูปผลิตเป็นวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐปูพื้นถนน เป็นส่วนผสมในการปูถนน ไปจนถึงนำไปเผาเป็นพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ดังนั้นจึงควรแยกออกมา เพื่อนำมาสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด”

เปิด4แนวทางการทำงาน

โดยแนวทางการดำเนินงานในปีแรกจะประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ 1. หาเครือข่ายชุมชน หาแหล่งผู้รับซื้อขยะพลาสติกแต่ละพื้นที่ รวบรวมข้อมูลในแต่ละชุมชน เทศบาลอย่างละเอียด 2. วางแผนให้ความรู้กับผู้นำเทศบาล ชุมชน ชาวบ้าน และนักเรียนในพื้นที่เป้าหมาย ในการคัดแยกขยะพลาสติกให้ถูกต้อง เพราะจะทำให้ขยะพลาสติกมีราคาสูงขึ้นกว่าการขายรวมกัน

ดันระยองโมเดล \'กำจัดขยะ\' ตั้งเป้าใน 5 ปีไร้ขยะพลาสติก

3. ประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐในจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด อบจ. และเทศบาล ให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และ4. การขยายผลไปสู่กลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญ เพราะหากเด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกที่ถูกต้อง มีความรู้ความเข้าในในการจัดการขยะพลาสติก คัดแยกได้ถูกต้อง ก็จะนำรูปแบบนี้ไปใช้ในครัวเรือนสอนให้ที่บ้านทำตาม และจะเกิดผลในระยะยาว

ส่วนในการดำเนินงานในปีที่ 2 จะขยายผลไปยังห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ทุกแห่งใน จ.ระยอง จะเข้าไปรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะพลาสติกอย่างถูกต้อง ซึ่งห้างสรรพสินค้าเหล่านี้จะไปชักจูงให้ผู้ค้าในห้างสรรพสินค้าคัดแยกพลาสติกออกจากขยะอินทรีย์ก่อนทิ้ง ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และลดต้นทุนในการกำจัดขยะลง ส่วนในปีที่ 3 จะเข้าไปเน้นกลุ่มโรงแรมต่างๆ และแหล่งท่องเที่ยวให้มีการคัดแยกจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกต้อง รวมทั้งจะขยายไปทุกภาคส่วนให้หันมาดำเนินงานในแนวทางนี้

ตั้งเป้า5ปีขยะหมดระยอง

นายณัฐพงศ์ จิรวัฒนาวรกุล ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและชุมชนสัมพันธ์ประจำโรงงาน กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปี ทุกเทศบาลใน จ.ระยอง จะเข้าร่วมโครงการทั้งหมด และขยะพลาสติกจะเข้าสู่ระบบรีไซเคิล และขยะทั้งหมดของ จ.ระยอง ที่มีประมาณ 1.5 หมื่นตันต่อเดือน ในจำนวนนี้จะเป็นขยะพลาสติกประมาณ 20-30% หรือประมาณ 3 พันตันต่อเดือน ในส่วนนี้จะถูกกำจัดอย่างถูกวิธีทั้งหมด บางส่วนที่เหลือจากรีไซเคิลก็จะไปสู่โรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่จะสร้างเสร็จในช่วงปลายปี 2563 ทำให้ไม่เหลือขยะพลาสติกไปสู่สิ่งแวดล้อม

ขณะที่เป้าหมายในการดึงขยะพลาสติกไปรีไซเคิล จะนำขยะพลาสติกจากระบบไปรีไซเคิลให้ได้ไม่ต่ำกว่า 10% หรือมีปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมดที่มีอยู่ 3 พันตันต่อเดือน หรือคัดแยกพลาสติกมารีไซเคิลให้ได้ไม่ต่ำกว่า 300 ตันต่อเดือน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการกำจัดขยะ และสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยราคาเฉลี่ยของขยะพลาสติกจะอยู่ที่ 10 บาท ก็จะมีรายได้เข้าชุมชนประมาณ 3 ล้านบาทต่อเดือน

“ในปัจจุบันใน 18 เทศบาล และ 1 อบจ. ประสบความสำเร็จมาก สามารถแยกขยะพลาสติกนำไปรีไซเคิลได้กว่า 46 ตัน โดยเฉพาะชุมชนวังหว้า ที่มีอยู่ 500 หลังคาเรือน สามารถสร้างรายได้กว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน ”

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ต่อ อีอีซี ในระยะยาว เพราะโรงงานใหม่ที่จะเข้ามาตั้งในพื้นที่ จะรู้ว่าต้องจัดการด้านขยะและการรีไซเคิลอย่างไรด้วย