กสศ.ลดเหลื่อมล้ำการศึกษา สร้างแรงงานป้อนอุตฯเป้าหมาย
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นอุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งการพัฒนาคุณภาพคนไทย แม้ประเทศไทยจะมีการลงทุนด้านการศึกษามากกว่าปีละ 5 แสนล้านบาท แต่ปัญหานี้ยังคงเรื้อรังและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2560 ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำ ในการศึกษา และเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณ ให้แก่กองทุนโดยให้กองทุนมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ จึงเป็นที่มาของการจัดทำ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561และประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.2561 โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ มาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)
ประสาร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กที่อยู่ในครอบครัวซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสทางการศึกษากว่า 4.3 ล้านคน โดยมีทั้งกลุ่มเด็กแรกเกิดจนถึงกลุ่มวัยที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งต้องการกลไกที่เข้ามาช่วยเหลือให้มีความพร้อมและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาได้มากขึ้นเพื่อเป็นแรงงานที่มีคุณภาพของประเทศในอนาคต
โดยในปีการศึกษา2561 กสศ.ได้จัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ ไปแล้ว กว่า 6 แสนคน ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 26,557 แห่งทั่วประเทศส่วนการดำเนินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในปีงบประมาณ 2563 ว่าตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนการให้ทุนการศึกษากับนักเรียนซึ่งเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสเพิ่มขึ้นจาก 6 แสนคน เป็น 8 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2 แสนคนจากปีก่อน โดยกลุ่มที่ต้องการขยายความช่วยเหลือให้กับนักเรียนด้อยโอกาสซึ่งอยู่ในการดูแลขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อ.ป.ท.)และโรงเรียนในสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ซึ่งยังมีเด็กนักเรียนที่ครอบครัวมีฐานะยากจนอยู่เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2563 กสศ.ได้เสนอของบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในปี 2562 ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นวงเงิน 2,000 ล้านบาท
โดยนอกจากการให้ทุนการศึกษานักเรียนในกลุ่มด้อยโอกาสที่เรียนอยู่ในระดับขั้นพื้นฐานตั้งแต่ ป.1-ม.3 จากครอบครัวที่ยากจน ยังให้ทุนต่อเนื่องกับนักเรียนในกลุ่มอาชีวศึกษา ซึ่งเรียกว่าทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ซึ่งในปีที่ผ่านมาให้ทุนการศึกษานักเรียนในส่วนนี้แล้ว 2,000 คน และจะมีการให้ทุนต่อเนื่องในรุ่นต่อๆ ไปจนกว่าจะจบการศึกษา
ในการคัดเลือก นักเรียนมารับทุนเป็นการร่วมมือกันหลายฝ่ายโดย กสศ.ทำงานร่วมกับโรงเรียนอาชีวะ 36 แห่ง ที่จะต้องเสนอหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ หรือแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
โดยรุ่นแรกในปี 2562 ที่ผ่านมาก็มีการให้ทุนการศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปสินค้าเกษตร เครื่องจักรกลทางการเกษตรและอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยการที่เรามุ่งไปที่การพัฒนาสายอาชีพเนื่องจากการสร้างแรงงานในสาขาเหล่านี้จะมีความสำคัญ เด็กๆ เรียนจบมาแล้วสามารถทำงานได้เลย และแรงงานในสาขาอาชีพเหล่านี้ขาดแคลน และการที่ให้ทุนการศึกษาโดยให้โรงเรียนเสนอหลักสูตรเข้ามาก็เป็นตัวกระตุ้นคุณภาพของสถานศึกษาที่จะต้องคิดหลักสูตรให้กับเด็กได้ศึกษาอย่างมีคุณภาพ ถึงจะมีสิทธิได้รับทุน
“วิธีที่เราทำก็คือการทำงานร่วมกับสถานศึกษา ออกแบบหลักสูตรประกอบกับการขอทุนการศึกษาให้กับนักเรียนโดยหลักสูตรจะต้องสอดคล้องกับความต้องการแรงงานของประเทศ โดยเราให้ทุนกับนักเรียนที่เรียนในสาขาเหล่านี้เป็นรุ่นแรก และเราอยากที่จะให้ทุนกับนักเรียนในรุ่นที่ 2 ต่อไป”
นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการได้แก่โครงการการสร้างครูที่มีคุณภาพ ซึ่งเมื่อจบการศึกษาแล้วยินดีที่จะไปสอนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งตอนที่คัดเลือกนักศึกษารับทุนเราคัดเลือกจากนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล ซึ่งเราคาดหวังว่าเมื่อเรียนจบแล้วเขาจะกลับไปเป็นครูในท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ
การทำงานของ กสศ.ในระยะต่อไปยังเน้นในเรื่องของการนำเด็กที่ต้องออกจากระบบการศึกษาก่อนเวลาอันควร ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่ามีหลายแสนคน โดยระยะแรกตั้งเป้า 5,000 คน เนื่องจากเราไม่มีฐานข้อมูลที่ชัดเจน แต่เราจะทำโดยทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ โดยนอกจากเรื่องทุนที่จะให้แล้วความสำคัญคือเรื่องของการเอาใจใส่ การให้ความอบอุ่น ครูจะมีบทบาทมากในการสร้างสปิริตให้เขาไม่ยอมแพ้ในการเรียนหนังสือเพื่อยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น
ปัจจุบันเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาของไทยที่มีมากหลายแสนคนในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของฐานะความยากจน และอีกส่วนหนึ่งต้องออกมาจากระบบการศึกษา หลักสูตร หรือผู้สอนมากกว่าเกิดเพราะตัวเด็ก เมื่อเกิดปัญหาระบบกลับผลักเด็กออกจากการศึกษามากกว่าจะรักษาเด็กเอาไว้
“กองทุนฯนี้จะมีความแตกต่างจากกองทุนฯที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอื่นๆ คือเน้นที่เรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ โดยเราพยายามที่จะทำงานโดยอาศัยข้อมูล และนำข้อมูลมาใช้ในเชิงคุณภาพและสร้างต้นแบบ เพราะเรารู้ว่าทรัพยากรของกองทุนมีจำกัด แต่ถ้าเราสามารถสร้างต้นแบบได้ดี กองทุนอื่นๆ หรือหน่วยงนอื่นๆ ที่มีทรัพยากรมากกว่ามีงบประมาณมากกว่า ก็จะนำไปใช้ประโยชน์ ที่สำคัญคือข้อมูลและความรู้ อย่างกรณีของเด็กยากจนพิเศษ เราก็หาวิธีวัดและเป้าหมายที่ชัดเจน เราก็จะใช้งบประมาณได้ตรงจุดมากขึ้น”