'ชัยวัฒน์' นั่งหัวโต๊ะถกคณะทำงานเคลียร์ปมแลกหนี้ทางด่วน

'ชัยวัฒน์' นั่งหัวโต๊ะถกคณะทำงานเคลียร์ปมแลกหนี้ทางด่วน

“ชัยวัฒน์” นั่งหัวโต๊ะถกคณะทำงานเคลียร์ปมแลกหนี้ทางด่วน “บีอีเอ็ม” จี้บอร์ด กทพ.กลับไปรวบรวมทุกแนวทางยุติข้อพิพาท ส่ง “ศักดิ์สยาม” เคาะก่อน 27 ส.ค.นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาข้อพิพาทสัมปทานทางด่วน ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด วันนี้ (10 ส.ค.) โดยระบุว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นนัดแรก ภายหลังจากที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่งตั้งให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะทำงานนี้เพื่อเร่งสรุปแนวทางยุติข้อพิพาทให้พิจารณาภายใน 15 วัน


โดยรายละเอียดการหารือคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ได้มาชี้แจงที่มาของการพิจารณาแนวทางยุติข้อพิพาทด้วยการแลกสัมปทานทางด่วน 15 ปี กับข้อพิพาททั้งหมด 17 คดีที่มีร่วมกับบีอีเอ็ม ซึ่งในที่ประชุมได้ขอให้ กทพ.กลับไปนำแนวทางเลือกทั้งหมดที่เคยศึกษามาก่อนหน้านี้ กลับมาให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งในช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้ ก่อนจะเร่งสรุปข้อมูลเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ภายในวันที่ 27 ส.ค.นี้


“คณะทำงานได้ถาม กทพ.ว่าข้อดี ข้อเสีย ของการเลือกแนวทางนี้มีอะไรบ้าง และเหตุผลที่เลือกแนวทางแลกสัมปทานเพราะอะไร หากเลือกแนวทางนี้แล้วจะส่งผลกระทบเงินทุน รายได้ หนี้สินต่อไปอย่างไรกับการทางฯ ขอให้การทางฯ กลับไปทำข้อมูลที่พิจารณามารายงานอีกรอบ พร้อมทั้งให้กลับไปเอาทางเลือกอื่นๆ ที่เคยศึกษากลับมาให้คณะทำงานพิจารณา เพราะท้ายที่สุดคนที่จะเป็นคนเลือกแนวทางที่เหมาะสมคือรัฐมนตรีว่าการฯ และเรื่องนี้ต้องรีบสรุปโดยเร็วเพื่อเข้า ครม.”


สำหรับ ข้อพิพาทระหว่าง กทพ.และบีอีเอ็ม เกิดจากโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) โดยมีประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญ คือ ผลกระทบการสร้างทางแข่งขัน กรณีรัฐก่อสร้างดอนเมืองโทลเวย์ส่วนต่อขยาย ช่วงอนุสรณ์สถาน – รังสิต ซึ่งกระทบต่อรายได้ของผู้รับสัมปทาน และกรณีไม่ปรับขึ้นค่าผ่านทางตามที่ระบุในสัญญา เป็นเหตุให้ผู้รับสัมปทานฟ้องร้อง กทพ. มีมูลค่าข้อพิพาทจาก 2 ประเด็น รวมทั้งประเด็นอื่นๆ จำนวน 137,517 ล้านบาท