กบข.เซ็นเอ็มโอยู 32 สถาบันแบนหุ้นไร้ 'อีเอสจี'

กบข.เซ็นเอ็มโอยู 32 สถาบันแบนหุ้นไร้ 'อีเอสจี'

กบข.เซ็นเอ็มโอยู 32 นักลงทุนสถาบันที่มีพอร์ตลงทุนกว่า 10.8 ล้านล้านบาท ประกาศเจตนารมน์ไม่ลงทุนหุ้นที่ไม่มี "อีเอสจี"

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นประธานและสักขีพยานในการประกาศเจตนารมณ์ ความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างรับผิดชอบ (ESG Collaborative Engagement) ของนักลงทุนสถาบันในการลงนามแนวปฏิบัติการระงับลงทุน (Negative List Guideline) โดยระบุว่า การตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนสถาบันนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรต้องพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG เพื่อผลักดันให้นักลงทุนตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนอย่างรับผิดชอบ (Responsible Investment)
ด้านนายวิทัย รัตนากร เลขาธิการ กบข. กล่าวว่า การลงทุนโดยพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จะช่วยสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่สม่ำเสมอ และลดความเสี่ยงให้แก่สมาชิกในระยะยาว และก่อให้เกิดพัฒนาการที่ยั่งยืนของตลาดทุนอีกด้วย
"การรวมตัวในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ของกลุ่มนักลงทุนสถาบันชั้นนำของประเทศไทย ในการขับเคลื่อนการลงทุนตามหลัก ESG" นายวิทัยกล่าว


โดย กบข.ในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มผลักดันจนเกิดความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ ได้เล็งเห็นตรงกันกับนักลงทุนสถาบัน รวม 32 ราย ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกันกว่า 10.8 ล้านล้านบาท ทั้งจากสำนักงานประกันสังคม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และบริษัทประกันชีวิต ในการประกาศเจตนารมณ์ร่วมลงนาม แนวปฏิบัติการระงับลงทุน (Negative List Guideline) เพื่อยกระดับการลงทุนของประเทศไทยสู่การลงทุนอย่างรับผิดชอบ (Responsible Investment) ตามมาตรฐานสากล


สำหรับความร่วมมือกันครั้งนี้ มีสาระสำคัญ คือ กรณีที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ในประเด็นที่ร้ายแรง หรือดำเนินงานขัดแย้งต่อหลักการ ESG และก่อให้เกิดผลกระทบทางลบอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มนักลงทุนสถาบันที่ร่วมกันลงนามฯ จะเข้าประสานงานกับบริษัท เพื่อหาทางแก้ปัญหาหรือหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน (Positive Engagement) ซึ่งท้ายที่สุด หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาที่รุนแรงนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบทางลบที่อาจเกิดกับผู้ถือหุ้นและสังคมในภาพรวม นักลงทุนแต่ละรายได้ตกลงร่วมกันที่จะไม่เข้าลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทที่มีปัญหานั้นเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือจนกว่าจะแก้ไขปัญหาสำเร็จ เพื่อผลักดันให้บริษัทกลับมาดำเนินธุรกิจที่มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับหลักการ ESG ต่อไป


เลขาธิการ กบข. กล่าวว่า การร่วมลงนามแนวปฏิบัติการระงับลงทุน (Negative List Guideline) ของนักลงทุนสถาบันครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การเป็นผู้นำด้าน ESG ที่ กบข.จะดำเนินการอีกหลายโครงการในอนาคต โดย กบข. เชื่อมั่นว่าการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Investment) จะช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่การลงทุนในประเทศ และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน