'จีซี-แอลพลา' ทุ่ม3พันล้าน รีไซเคิลขยะผลิตพลาสติก
จีซี-แอลพลารุกตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกเกรดสูงจากขยะพลาสติกแห่งแรกในไทย ที่ระยอง กำลังผลิต 4.5 หมื่นตันต่อปี กำจัดขยะพลาสติกปีละ 6 หมื่นตัน เดินเครื่อง เม.ย. 2564 เล็งร่วมมือญี่ปุ่นตั้งโรงงานผลิตพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงในอีอีซี
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี กล่าวว่า จีซี ในฐานะผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิวัติการใช้ทรัพยากรตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมา จีซี ได้นำแนวทาง GC Circular Living มาปรับใช้ในการดำเนินงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร
ทั้งนี้ ล่าสุด จีซี ได้ร่วมลงทุนกับ บริษัท แอลพลา จำกัด ตั้งบริษัท เอ็นวิคโค จำกัด ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จ.ระยอง เพื่อนำขยะพลาสติกมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูงเกรดบรรจุภัณฑ์บรรจุอาหารชนิดโพลีเอทิลีน และโพลีเอสเตอร์ ที่มีมาตรฐานสูงแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งแอลพลาเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจรีไซเคิลตลอดห่วงโซ่การบริหารจัดการ และการใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงจากประเทศออสเตรีย
รวมทั้งมีระบบการจัดการที่ดี การออกแบบการผลิตที่รักษาและดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลที่มีคุณภาพสูง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้พลาสติกใช้แล้วให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างคุ้มค่า รวมทั้งการเกิดการจ้างงานคนในชุมชน จ.ระยอง และแผนการจัดหาวัตถุดิบผ่านความร่วมมือกับชุมชนอีก และเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อีกด้วย
“จีซี”ถือหุ้นใหญ่70%
สำหรับโรงงานแห่งนี้ ใช้เงินลงทุน 3 พันล้านบาท โดย จีซี ถือหุ้น 70% แอลพลา ถือหุ้นอีก 30% สามารถรองรับพลาสติกใช้แล้วได้ 6 หมื่นตันต่อปี มีกำลังผลิตเม็ดพลาสติกได้ 4.5 หมื่นตันต่อปี แบ่งเป็นเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน 1.5 หมื่นตันต่อปี และเม็ดพลาสติกโพลีเอสเตอร์ 3 หมื่นตันต่อปี คาดว่าจะมีรายได้ปีละ 1.7 พันล้านบาทต่อปี
รวมทั้งจะเริ่มก่อสร้างโรงงานในช่วงปลายปีนี้ และจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ประมาณเดือนเม.ย. 2564 ซึ่งเม็ดพลาสติกที่มาจากการรีไซเคิลกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพราะทั่วโลกให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมลดปริมาณขยะพลาสติกมากขึ้นเรื่อยๆ
“การลงทุนตั้งโรงงานแห่งนี้ จีซี ไม่ได้หวังในเรื่องของผลกำไร เพราะต้นทุนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสูงกว่าพลาสติกทั่วไป ทำให้มีผลตอบแทนทางการเงินไม่มากนัก แต่วัตถุประสงค์หลักคือการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย และของโลก นอกจากนี้ จีซี ยังมีแผนที่จะยกเลิกการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดที่นำไปผลิตถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2567 หรืออีก 5 ปีนับจากนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทย”
นอกจากนี้ จีซี ยังได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการจัดการขยะพลาสติกผ่านโครงการต่างๆ ของบริษัทฯ เช่น โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ซึ่งเป็นการเก็บขยะพลาสติกจากทะเลมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นสินค้าแฟชั่น โครงการ ThinkCycle Bank มุ่งให้ความรู้ สร้างความเข้าใจในการจัดการขยะให้กับเด็กและเยาวชน และโครงการ PPP Rayong โครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดการขยะ เป็นต้น
สำหรับธุรกิจเม็ดพลาสติกรีไซเคิลถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทฯ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาที่เกิดจาก Single-use plastic โดยการมีโรงงานรีไซเคิล เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่จะทำให้ห่วงโซ่แห่งคุณค่าครบสมบูรณ์
เล็งผลิตพลาสติกเทคโนฯสูง
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การลงทุนใน อีอีซี จีซี ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท คุราเร่ และซุมิโตโม จากประเทศญี่ปุ่น ตั้งบริษัท คุราเร่ จีซี แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ จำกัด และ บริษัท คุราเร่ แอดวานซ์ เคมิคอลส์ (ประเทศไทย) ตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก จ.ระยอง เพื่อผลิตเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงงานผลิตยางเทอร์โมพลาสติกและพอลิเอไมล์ชนิดพิเศษ และโครงการโรงงานผลิตไอโซบิวทิลีนและอนุพันธ์
สำหรับโรงงานแห่งนี้ มีกำลังการผลิต PA9T 13,000 ตันต่อปี และ HSBC 16,000 ตันต่อปี คาดว่าจะเสร็จปี 2565 สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่ต้องการขยายธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายเกรดพิเศษเพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีปริมาณความต้องการและอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะใช้วัตถุดิบจากโรงโอเลฟินส์ของบริษัทฯ มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม
“พลาสติก PA9T มีคุณสมบัติทนความร้อนและสารเคมี และความสามารถในการขึ้นรูปที่คงตัว เหมาะสำหรับขึ้นรูปชิ้นงานที่มีความละเอียดซับซ้อน มีความแข็งแรงทนทานสามารถใช้ทดแทนโลหะในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ทำให้รถยนต์มีน้ำหนักลดลงและประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ส่วน HSBC มีคุณสมบัติเหมือนยางและพลาสติก คือ ให้ผิวสัมผัสที่นุ่มเหมือนยาง ทนทาน ต่อสภาพอากาศได้ดีฉีดขึ้นรูปได้ง่ายและนำกลับมารีไซเคิลใช้งานใหม่ได้เหมือนพลาสติก นำมาใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์, ก่อสร้าง, เครื่องมือแพทย์และเด็ก”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'สินค้าจากขยะพลาสติก' พลิกธุรกิจชุมชนอาเซียน
-ทุ่มลงทุนพันล้าน ลุยตั้งโรงไฟฟ้าขยะ
-กลยุทธ์ '3 R' ปฐมบทลดขยะพลาสติก
-ดันระยองโมเดล 'กำจัดขยะ' ตั้งเป้าใน 5 ปีไร้ขยะพลาสติก