“ไชยวัฒน์” ส่งต่อทายาทรุ่น 2 พลิก“สวนสยาม”สู่ สยามอะเมซิ่งพาร์ค
“สวนสยาม” หรือสยามพาร์ค ซิตี้ คือ “ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ” และ “ไชยวัฒน์” ก็คือสวนสยาม !! นี่เป็นภาพจำ(Perception)ซึ่งตัดกันไม่ขาดสำหรับผู้บริโภคที่รับรู้ต่อสวนน้ำสวนสนุกแห่งแรกของประเทศไทย
เพราะ “สวนสยาม” เกิดจากชายผู้บอกว่าตัวเองจบเพียงประถม 4(ป.4) ก่อร้างสร้างตัวจนเป็นนักธุรกิจแถวหน้าของเมืองไทยคนหนึ่ง
ปีหน้าจะครบ 40 ปี ของการก่อตั้งสวนน้ำ สวนสนุกแห่งนี้ แต่นักธุรกิจรุ่นลายครามวัย 81 ปี ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกลุ่มบริษัท สยามพาร์คซิตี้ จำกัด กำลังจะ “วางมือ” เกษียณตัวเองจากการทำงานและนั่งเก้าอี้บริหารทุกตำแหน่งในบริษัท(เว้นกิจการกงสี) ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ เพื่อปล่อยให้ “ทายาทรุ่น2” 3 ชีวิต ได้แก่ บุตรชายคนโต สิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามพาร์ค บางกอก จำกัด สะใภ้ นพกาญจน์ เหลืองอมรเลิศ รองผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามพาร์ค บางกอก จำกัด และจิรวรรณ เหลืองอมรเลิศ ดิศกุล ณ อยุธยา ทายาทคนเล็กของ “ไชยวัฒน์” นั่งเก้าอี้รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามพาร์ค บางกอก จำกัด เป็นผู้รับไม้ต่อ
ก่อนยกภารกิจบริหารสวนน้ำ ให้ทายาทดูแล “ไชยวัฒน์” เท้าความถึงการจับธุรกิจแรกคือ ธุรกิจก่อสร้าง และพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขาย ก่อนจะบุกเบิกธุรกิจสวนน้ำแห่งแรกในประเทศไทย เผชิญอุปสรรคมากมายกว่าจะพบความสำเร็จ ทั้งพิษเศรษฐกิจจนเป็นหนี้และ “ล้มละลาย” ต้องเร่ขายที่ดินย่านลาดพร้าวให้กับบิ๊กอสังหาฯรายหนึ่ง ได้เงินก้อนโตสางหนี้จนหมด เป็นต้น
ในวันที่ต้องส่งต่อธุรกิจแก่ทายาท มาพร้อมกับการปรับ “โครงสร้างองค์กร” เกือบยกกระบิ เพื่อผลักดันธุรกิจสู่การเติบโตในอนาคต !!
ไชยวัฒน์ หารือทายาท ดึง “อีวาย” หรือ เอินส์ทแอนด์ยัง หนึ่งในบิ๊กโฟร์ตรวจสอบบัญชีระดับโลก มารื้อและตรวจสอบบัญชีใหม่แบบละเอียดยิบ แยกการใช้จ่ายของครอบครัวออกจากธุรกิจ “เด็ดขาด” เพื่อโปร่งใส วางรากฐานสู่การต่อยอดธุรกิจต่อไป โดยเฉพาะการเตรียมตัวให้ทางบัญชีก่อนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เพื่อระดมทุน ซึ่งเป็น “เป้าหมาย” ที่ต้องการเห็นมาหลายปี แต่ยังไม่สำเร็จเสียที
นอกจากนี้ยังจัดทัพพนักงานใหม่ ทั้งทำงานประจำราว 400 คน พาร์ทไทม์อีก 200 คน มีคนเก่าแก่อยู่มา 20 ปีราว 1 ใน 7 ต้อง “เกษียณ” จากนั้นจะเติมเลือดใหม่เข้ามาทำงานบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบันมากขึ้น
มีการปรับกลยุทธ์การตลาด สลัดภาพ ทะเลกรุงเทพฯ เป็นจุดขายของสวนสยาม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นจุดอ่อน เพราะยุคนี้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการเลือกจุดหมายปลายทางเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้บริษัท “รีแบรนด์” เป็น “สยามอะเมซิ่งพาร์ค” และเติมแม่เหล็กใหม่ๆให้กับสวนสนุก ด้วยการควักงบลงทุน 3,000-5,000 ล้านบาท พัฒนาดินแดนอะเมซิ่งที่ 6 คือ “บางกอกเวิลด์” แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่ให้สินค้าโอท็อปทั่วไทยเข้ามาทำตลาด จำลองสถาปัตยกรรมต่างๆมาไว้ภายใน เช่น ศาลาเฉลิมไทย ศาลาเฉลิมกรุง ห้างแบดแมนแอนด์โก ห้างบี.กริม เยาวราช เพิ่มเอ็ดดูเทนเมนต์เอาใจเด็กๆ เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นดินแดนนี้พัฒนามาเพื่อแก้ Pain point สวนน้ำ ที่โล่ง เจออากาศร้อน ไม่ถูกจริตคนไทยมากนัก
จากปัจจุบันมี 5 ดินแดนที่เป็นไฮไลท์ดึงลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ วอเตอร์เวิลด์ สวนน้ำเจ้าของสถิติทะเลเทียมใหญ่สุดในโลกจากกินเนส์ เวิลด์ เรคคอร์ส เอ็กซ์ตรีมเวิลด์ มีเครื่องเล่นรถไฟเหาะตีลังกา “วอร์เท็กซ์” เครื่องเล่นทิ้งดิ่ง ไจแอนท์ ดร็อป ล่องซุงมหาสนุก ล็อกฟลูม ฯ แอดเวนเจอร์เวิลด์ ผจญภัยไดโนเสาร์ แฟมิลี่เวิลด์ เครื่องเล่นตอบโจทย์ครอบครัว และสมอลล์เวิลด์ เครื่องเล่นไซส์มินิ
19 ก.ย.นี้ แบรนด์ใหม่จะเริ่มทำตลาดในเชิงรุก แต่ภาพความสมบูรณ์ของสยามอะเมซิ่งพาร์ค จะเห็นมี.ค.ปีหน้า หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน บริษัทคาดว่าจะช่วยปูทางการทำรายได้ให้เติบโตได้ 10% ต่อเนื่อง 2-3 ปี และโครงสร้างรายได้จะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะ
ปี 2561 สยามพาร์ค บางกอก มีรายได้รวม 370 ล้านบาท ลดลงกว่า 6% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่กว่า 1.1 ล้านบาทเท่านั้น โดยรายได้ 3 ปีย้อนหลังค่อนข้างเป็นขาลง ส่วนกำไรมีความผันผวน ปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้ 500 ล้านบาท อาจไม่ถึงเป้า โดยรายได้หลักมาจากการขายตั๋วเข้าสวนน้ำ 70% แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเยือนราว 1.2-1.5 ล้านคน เป็นคนไทย 85% ต่างชาติ15% หลักๆจากตะวันออกลาง อินเดียและ รัสเซีย ฯ อนาคตจะมุ่งเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 40%
ส่วนรายได้อีก 30% มาจากการจำหน่ายอาหาร เช่าพื้นที่ จัดเลี้ยง ขายสินค้าและของที่ระลึกต่างๆ ซึ่งสวนทางกับธุรกิจสวนน้ำสวนสนุกทั่วโลกที่มีรายได้จากการขายตั๋ว 50% และรายได้อื่นๆ 50% โดยภายใน 2 ปี บริษัทต้องการทำให้สัดส่วนรายได้จัดเลี้ยง ขายสินค้า ของที่ระลึกมีบทบาทมากขึ้น และขายตํ๋วมีสัดส่วน 50%