มหานครการบิน 'อู่ตะเภา' แม่เหล็กศูนย์ธุรกิจ-ลงทุน
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมูลค่าการลงทุน 2.9 แสนล้านบาทโครงการสำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี
ที่กำลังประมูลและคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนคาดว่าจะประกาศผู้ชนะประมูลได้ในเดือน ต.ค.นี้
ด้วยแนวคิดที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่โดยรอบสนามบิน และเกิดเป็นมหานครการบินในอนาคต ทำให้ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือกับ คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (ZAEZ) ประเทศจีน เพื่อใช้ ZAEZ เป็นต้นแบบการพัฒนา “มหานครการบินอู่ตะเภา”
การลงนามดังกล่าวเป็นความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมที่สนามบิน 2 แห่ง ครอบคลุมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนามหานครการบิน การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซ การส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านการบินครบวงจรร่วมกัน
จอห์น ดี คาร์ซาดา ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนามหานครการบิน กล่าว่า การพัฒนาสนามบินและเมืองการบินเจิ้งโจวเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการพัฒนามหานครการบินในระยะเวลาเพียง 5 ปี จากปกติที่ต้องใช้เวลาพัฒนา 20 ปี
ความสำเร็จนี้มาจากการวางยุทธศาสตร์ การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนและการเดินหน้าปฏิบัติโดยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของมณฑลเหอหนานและสภาแห่งรัฐของจีนที่เห็นชอบให้ยุทธศาสตร์นี้เป็นโครงการระดับชาติของจีน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของมณฑลเหอหนานและเมืองเจิ้งโจว โดยเริ่มจากการกำหนดเมืองการบินให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจวและมีคณะกรรมการบริหารโครงการ
เแนวความคิดเรื่องมหานครการบิน (The Aerotropolis model) ถูกยอมรับว่าเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางธุรกิจและเศรษฐกิจได้ โดยหลังจากสร้างสนามบินนานาชาติแล้วให้ใช้สนามบินเป็นตัวดึงดูดการลงทุนของภาคธุรกิจและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพิ่มเขตและพื้นที่การค้า ซึ่งจะนำมาสู่การขยายตัวของที่อยู่อาศัยและการจ้างงานให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรูปแบบนี้อีอีซีนำมาเป็นโมเดลในการพัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภาได้
ปัจจุบัน ZAEZ มีพื้นที่ 415 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น 4 โซนที่เชื่อมต่อกันด้วยโครงข่ายถนนขนาดใหญ่ และมีการสร้างพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะในพื้นที่เชื่อมโยงแต่ละโซน โดยพื้นที่ทั้ง 4 โซนของมหานครการบินเจิ้งโจวประกอบด้วย
1.พื้นที่เขตสนามบิน ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมการจัดประชุม นิทรรศการ และสัมนา (MICE) ภายในโซนนี้ประกอบไปด้วย สนามบิน และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ศูนย์ขนส่งผู้โดยสารทางบกที่มีรถไฟความเร็วสูงและรถโดยสาร รวมทั้งคลังสินค้าเพื่อรองรับอีคอมเมิร์ซ รวมถึงศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ศูนย์แสดงนิทรรศการ การประชุม และศูนย์แสดงสินค้าและโรงแรม
2.เขตพื้นที่สำหรับธุรกิจการผลิตที่ใข้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยกำหนดให้อยู่ในพื้นที่เขตทิศใต้ของสนามบิน ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมการผลิตชีวการแพทย์และวัคซีน การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอกนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การผลิตขิ้นส่วนอากาศยาน ธุรกิจวิจัยและพัฒนา ธุรกิจไอทีและไอซีที
3.เขตพื้นที่อยู่อาศัย การศึกษาและบริการ อยู่ทิศเหนือของสนามบินประกอบด้วยกลุ่มอาคารที่อยู่อาศัย คอมโดมิเนียม สถาบันการศึกษา โรงเรียนและศูนย์พัฒนาทักษะบุคลากร
4.พื้นที่ศูนย์กลางด้านการคมนาคม อยู่ด้านตะวันออกของสนามบิน โดยเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟความเร็วสูง Zhengzhou South Station ซึ่งพัฒนาเป็นศูนย์กลางคมนาคมที่เชื่อมกับสนามบินเจิ้งโจว รองรับผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงมายังสนามบินได้มากถึง 1 แสนคนต่อวัน โดยพื้นที่นี้ส่งเสริมให้เป็นที่ตั้งสำนักงานและพื้นที่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
ความสำเร็จของมหานครการบินเจิ้งโจวทำให้ ZAEZ เป็นพื้นที่สำคัญในการขนส่งและอุตสาหกรรมทันสมัย โดยมีบริษัทจำนวนมากมาลงทุน เพราะเห็นถึงศักยภาพการคมนาคมขนส่ง การขยายตัวและการเติบโตของเศรษฐกิจ
ปัจจุบันสินค้าที่มีการขนส่งทางอากาศมาจีนกว่า 60% หรือ 5.15 แสนตันต่อปี ขนส่งทางอากาศผ่านสนามบินแห่งนี้ ส่วนการลงทุนมีผู้ผลิตสมาร์ทโฟน 60 ราย รวมทั้งบริษัท Foxconn ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสมาร์ทโฟน 400 ล้านเครื่องต่อปี ตั้งอยู่ที่นี้
นอกจากนี้ บริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ และการผลิตวัคซีน โดยมีบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์และยากว่า 70 รายตั้งอยู่ที่มหานครการบินแห่งนี้ รวมทั้งมีศูนย์การแพทย์เฉพาะทางและโรงพยาบาลเฉพาะที่รักษาโรคที่มีความยากตั้งอยู่ในพื้นที่
ส่วนอุตสาหกรรมและธุรกิจอื่นที่น่าสนใจ ได้แก่ อุตสาหกรรมการบิน ธุรกิจอีคอมเมิร์ส ธุรกิจด้านข้อมูลและไอที มีการลงทุนในพื้นที่ 221 บริษัท ธุรกิจการออกแบบและซ่อมบำรุงเครื่องบิน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดนิทรรศการและงานสัมนาขนาดใหญ่ ซึ่งทั้งหมดอาศัยความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง
“นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้ไทยต้องยกระดับการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่สูงขึ้น ความร่วมมือของเมืองการบินเจิ้วโจวกับเมืองการบินอู่ตะเภาในประเทศ จะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งการพัฒนาสนามบิน เมืองการบินและการเชื่อมโยงฐานการผลิตและการขนส่งของภาคอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกันได้ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในระยะยาว”
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า การพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกถือว่าเป็นการนำเอาแนวคิดการพัฒนาที่คล้ายคลึงกับ ZAEZ เข้ามาวางแผนการพัฒนาพื้นที่ โดยอู่ตะเภาเน้นการวางแผนการพัฒนาพื้นที่รอบสนามบินไปพร้อมกับการพัฒนาสนามบินเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนพัฒนาสนามบิน ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาเมือง
สำหรับความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างสนามบินอู่ตะเภากับ ZAEZ จะเชื่อมโยงระหว่างเมืองการบินทางเหนือของเอเชีย จากเจิ้งโจว และเมืองการบินในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชีย หรือ เมืองการบินอู่ตะเภา
ZAEZ จะเป็นศูนย์กลางนำเข้าสินค้าทางอากาศของจีน และรับสินค้าที่ส่งออกสำคัญ เช่น ผลไม้ อาหารทะเล สัตว์ปีก สัตว์มีชีวิต อาหารสำเร็จรูป ยา อุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งผลไม้จากอีอีซีจะถูกส่งไปจีนแล้วขยายไปทั่วประเทศจีน ในขณะที่การลงทุนผลิตยาในอีอีซีจะถูกส่งขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซที่จะกระจายผ่านศูนย์รับสินค้าท่าเรือบกที่เจิ้งโจว โดยทำให้เกิดการสร้างช่องทางและขยายตลาด ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกผลไม้ และผู้ประกอบการ มีรายได้ที่ยั่งยืน