16บริษัทอสังหาฯรายได้ลด คาดปี63อ่วม“ระบายสต็อก”ต่อ
ธปท.ชี้เศรษฐกิจขาลง คาดจีดีพีโตไม่เกิน10%ภายใน10ปี หนี้สูงเกินกำลังซื้อ ฉุดอสังหาฯชะลอตัว “เอเชียพลัส” ระบุบริษัทอสังหาฯในตลาดมีแนวโน้มรายได้ลดลง แตะเบรกเปิดโครงการใหม่กว่า50โครงการ ปีนี้ ปีหน้าระบายสต็อกต่อ
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเชีย พลัส กล่าวในงานสัมมนาวิชาการในวาระครบรอบ 15 ปีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ว่า รายได้ของ16บริษัทในธุรกิจอสังหาฯตั้งแต่ต้นปี2562 เริ่มมีแนวโน้มลดลงหากเทียบเป็นรายไตรมาส โดยในไตรมาสที่4ปี2561มีมูลค่า81,551ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส1ปี2562มีมูลค่า65,461ล้านบาท และไตรมาส2ในปี2562มีมูลค่า49,831ล้านบาท
โดยในครึ่งปีแรกมีคอนโดที่ขายและรอรับรู้รายได้ (Backlog) มูลค่า 3.3แสนล้านบาท แยกเป็น แนวราบ4หมื่นล้านบาท คอนโดมิเนียม 1.58แสนล้านบาท และโครงการร่วมลงทุน มูลค่า1.32แสนล้านบาท ซึ่งคอนโดใหม่ที่มีการกำหนดสร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในปี2562คาดว่าจะมีโครงสร้างสินทรัพย์รายไตรมาส สะท้อนถึงสินค้าค้างคงคลังมีแนวโน้มสูงขึ้นหากมีการเติมซัพพลายใหม่ต้องใช้เวลาการดูดซับมากกว่า2ปี ซึ่งสถานการณ์ค่อนข้างสูงกว่าปกติ แต่สถานะทางการเงิน หรือภาระหนี้ของกลุ่มบริษัทอสังหาฯยังไม่สูงนัก
ทั้งนี้ส่งผลทำให้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใน16บริษัทในตลาดฯ มีการปรับแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ จากเดิมที่ต้นปีมีการวางแผนที่จะเปิดตัวโครงการมูลค่า4.4แสนล้านบาท จาก290โครงการ ครึ่งปีมีการเปิดตัวไปแล้ว79โครงการมูลค่า1.5แสนล้านบาท ตัดโครงการไป53โครงการทำให้ครึ่งปีหลังลดลงเหลือ236โครงการ มูลค่า3.7แสนล้านบาทดังนั้นปีหน้าควรเริ่มชะลอการเปิดตัวโครงการและเร่งระบายสินค้าคงคลังเก่าให้หมด
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในปี2562ว่า อัตราการโอนกรรมสิทธิ์ จะมีจำนวนหน่วยติดลบ7.7% คิดเป็นมูลค่าติดลบ2.7% โดยกลุ่มคอนโด เป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบชัดเจนจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และมาตรการคุมเข้มปล่อยสินเชื่ออสังหาฯจากธนาคารพาณิชย์
ขณะที่ นายสุวัชชัย ใจข้อ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติเศรษฐกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากหลายปัจจัยรุมเร้าทั้งเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้คาดว่า อัตราเจริญเติบโตเศรษฐกิจไทย จะไม่มีโอกาสเติบโตถึง10% ภายใน10 ปีจากนี้ สิ่งที่ธปท.เป็นห่วงคือ คนไทยหนี้สูงในอายุยังน้อย โดยสัดส่วน1ใน5ของคนอายุ29ปี เป็นหนี้เสีย(NPL)โดยรวมมีคนเป็นหนี้ถึง21ล้านคน ในจำนวนนี้กว่า3ล้านคนเป็นหนี้เสีย
ประกอบกับในภาคอสังหาฯพบว่ามีอุปทานคงค้างเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการซื้ออสังหาฯของต่างชาติลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้า รวมถึงมีการปล่อยสินเชื่อหย่อนลง ธปท.จึงต้องประกาศคุมเข้มสินเชื่อ(LTV)เบรกความร้อนแรงราคาอสังหาฯ