'อุตตม' เผยหลังลงพื้นที่ขอนแก่น ย้ำค่าต้นทุนการผลิตไร่ละ500บ. งบ24,810ล้าน
รมว.คลังย้ำเงินช่วยเหลือค่าต้นทุนการผลิต ไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ วงเงิน 24,810 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านครัวเรือน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้งและน้ำท่วมที่ส่งผลมีภาระต้นทุนการผลิตข้าวสูงขึ้น
ดร.อุตตม สาวนายน รมว.คลัง โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า ช่วยเหลือเยียวยา และหาทางป้องกันภัยธรรมชาติในอนาคต ปีนี้สภาพอากาศบ้านเราแปรปรวนมาก มีทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม ได้สร้างผลกระทบกับพี่น้องเกษตรกรอย่างมาก โดยเฉพาะชาวนา ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรที่ประสบภัยอย่างยิ่ง และพยายามช่วยเหลือเยียวยาอย่างเต็มที่
เมื่อวานนี้ (22 ก.ย.) ผมได้เดินทางไปที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อติดตามมาตรการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกร ทั้งในส่วนที่ประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย
ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ผ่าน ธ.ก.ส. เช่น โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 โดยมอบเงินช่วยเหลือค่าต้นทุนการผลิต ในอัตราไร่ละ 500 บาท ตามพื้นที่ที่ปลูกข้าวจริง แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ วงเงิน 24,810 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์ 4.31 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้งและน้ำท่วมที่ส่งผลให้เกษตรกรมีภาระต้นทุนการผลิตข้าวสูงขึ้น และยังเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ ได้มอบหมาย ธ.ก.ส. พิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบปัญหาอุทกภัยอย่างเต็มที่ โดยเบื้องต้นได้จัดหาถุงยังชีพ และสนับสนุนศูนย์อพยพหรือจุดรวมพล โดยเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ก็จะพิจารณามอบเงินช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องของการซ่อมแซมบ้าน ของใช้จำเป็นในครัวเรือน การซ่อมแซมเครื่องมือ เครื่องจักรกลทางการเกษตร เป็นต้น
ด้านภาระหนี้สินที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส. ก็ได้มีมาตรการขยายระยะเวลาชำระหนี้ และพิจารณาให้สินเชื่อ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่จำเป็นในครัวเรือน เพื่อป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ ไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ในช่วง 6 เดือนแรก
นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการผลิตและพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น ค่าลงทุนสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โรงเรือนการเกษตร เครื่องมือเครื่องจักรกลที่จะนำมาใช้ในการฟื้นฟูอาชีพ เป็นต้น ไม่เกินรายละ 500,000 บาท ชำระคืนไม่เกิน 15 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.875 ต่อปี รวมวงเงินสินเชื่อเพื่อรองรับมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าว จำนวน 65,000 ล้านบาท
จากการลงพื้นที่ดังกล่าว นอกจากจะเพื่อติดตามความช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว ผมยังพยายามมองหาแนวทางการลดผลกระทบภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ผมคิดว่าเราควรจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างเต็มรูปแบบ เพราะการเกิดภัยธรรมชาติแต่ละครั้งได้สร้างความลำบากให้พี่น้องประชาชนอย่างหนัก สูญเสียโอกาส และงบประมาณมหาศาล
ดังนั้นเราจึงควรป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งรัฐบาลจะมีแนวทางในการบริหารจัดการเรื่องนี้โดยเร็วต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'ประยุทธ์' ลงพื้นที่พิษณุโลก-สุโขทัยพรุ่งนี้ ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม
-อุตุฯ เตือน! ฉบับ 14 'พายุโพดุล' เข้าปกคลุมบริเวณอ.ผาขาว จ.เลย
-อุตุฯ เผยไทยฝนตกต่อเนื่อง-ตกหนักบางพื้นที่ กทม. ร้อยละ 60
-ฝนตกถล่มกรุง ทั่วทุกพื้นที่ น้ำท่วมขังหลายจุด