การผลักดันนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะทำให้ความต้องการบุคลากรเฉพาะทางเพิ่มสูงขึ้น เพื่อป้อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะการสร้างความรู้และทักษะด้านวิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (STEM) ให้นักเรียนมัธยมศึกษา
ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า การพัฒนาบุคลากรเป็นเรื่องหลักที่ให้ความสำคัญตั้งแต่ริเริ่มโครงการมาเกือบ 3 ปีแล้ว เพราะคนเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความยั่งยืนต่อหลายโครงการที่ สกพอ.กำลังพัฒนา
สำหรับโครงการพัฒนาบุคลากรต้นแบบเพื่อผลิตบุคลากรรองรับนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) : ระดับมัธยมศึกษา ดำเนินการร่วมกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร.ต่อเนื่องเป็นระยะที่ 2 ในปี 2562 เพื่อพัฒนาเยาวชนกลุ่มใหม่ 500 คน ให้ได้รับแรงบันดาลใจและสนใจเรียนรู้และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สกพอ.ต้องการพัฒนาบุคลากรต้นแบบ หรือ Change Agent ของสถานศึกษาที่ร่วมโครงการ เป็นการต่อยอดครู เยาวชนที่เคยร่วมค่ายในระยะที่ 1-2 และนักศึกษาที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยการฝึกอบรมต้นแบบในอีอีซี 500 คน เพื่อนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์และการปฏิบัติจริง
รวมทั้งสร้างให้เกิดความร่วมมือจากสถานศึกษาในการปรับรูปแบบของโมดูลการเรียนรู้ระดับมัธยมศึกษาของสถานศึกษาในอีอีซีให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานพื้นที่อย่างแท้จริง โดยตั้งเป้าหมายผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้นอย่างน้อย 1,000 คน
สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมี อุตสาหกรรมดิจิทัล การแพทย์ครบวงจร
อุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นธุรกิจสะอาดและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ยั่งยืน ต้องการส่งเสริมให้เยาวชนที่มีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ให้มีโอกาสได้เข้าสู่ตลาดแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงจัดค่าย EEC Innovative Role Model เพื่อให้เยาวชนลองเรียนรู้ค้นหาความชอบและความถนัด ซึ่งนำไปสู่การศึกษาต่อยอดและประกอบอาชีพในพื้นที่ที่อาศัยและเป็นสาขาอาชีพที่มีรายได้ดี
“กิจกรรมนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับเยาวชนเพื่อพัฒนาและยกระดับการเรียนรู้ของตน และเกิดแรงบันดาลใจในการค้นพบและพัฒนาตัวเอง ให้เป็นบุคลากรที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ในอนาคต”
อภิชาติ ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักโครงการและจัดการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร.กล่าวว่า พร้อมร่วมมือกับ สกพอ.ให้ร่วมดำเนินการ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจเด็กและเยาวชนพัฒนาตนเองเลือกเรียนต่อในสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอีอีซี โดยเน้นการพัฒนาหลักสูตรให้มีความน่าสนใจและมีประสิทธิภาพ
“จะทำให้เยาวชนมีความสุขในการเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะนอกจากเรียนรู้องค์ความรู้เกี่ยวกับด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ รวมทั้งนำศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะในการคิดวิเคราะห์ ทักษะในการแก้ปัญหา และทักษะในการทำงานเป็นทีมใส่เข้าไปในกิจกรรมด้วย”
รวมทั้งจะช่วยให้เยาวชน ครู อาจารย์ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ได้ตื่นตัว เกิดแรงบันดาลในการพัฒนาตนเอง มองเห็นช่องทางด้านอาชีพ และเตรียมพร้อมตนเองทั้งในด้านความรู้และทักษะ ให้สอดรับกับตลาดแรงงาน
สำหรับกิจกรรมในเดือน พ.ย.นี้ มี 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การถ่ายทอดความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใหม่ ให้กับบุคลากรต้นแบบในพื้นที่ EEC : Technologies Integration for Modern Education ใช้เวลาเรียน 2 วัน รวม 12 ชั่วโมง ภาคทฤษฎีและปฏิบัติ
ทั้งนี้ จะรวบรวมและเชื่อมโยงเนื้อหาดังนี้ ได้แก่ อินเตอร์เน็ตออฟติงส์และการประยุกต์ใช้งาน การออกแบบอย่างสร้างสรรค์ด้านกราฟฟิกส์สองมิติ สามมิติ และแอนิเมชัน การพัฒนาเว็บและโมบายแอปพลิเคชันสมัยใหม่เพื่อการใช้งานจริง เทคโนโลยีวีอาร์และเออาร์สำหรับเกมส์และสื่อความบันเทิง การควบคุมและติดตามการทำงานของหุ่นยนต์ในระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเครื่องจักร การสอนและการเรียนสมัยใหม่สำหรับอนาคต
2.ค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใหม่ให้กับบุคลากรต้นแบบในพื้นที่ : EEC Innovation Youth Camp ใช้เวลาเรียน ค่ายละ 1 วัน ประกอบด้วย หลักสูตรค่ายเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ค่ายเทคโนโลยีเกมและแอนิเมชัน ค่ายเทคโนโลยีการบินและอวกาศ ค่ายอินเทอร์เน็ตออฟติงส์ (IoT)
สำหรับโครงการพัฒนาบุคลากรต้นแบบเพื่อผลิตบุคลากรรองรับนโยบายอีอีซีระดับมัธยมศึกษา เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการศึกษาและจัดทํามาตรการสําคัญภาครัฐเพื่อพัฒนาบุคลากรรองรับอีอีซี ซึ่งเริ่มเมื่อปี 2560 มีเยาวชนและครูผู้สอนเข้าร่วม 4,800 คน ซึ่งได้ปรับหลักสูตรและแนวทางการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะให้บุคลากรต้นแบบและเครือข่าย
นอกจากนี้ มีเป้าหมาย 3 ด้าน คือ 1.ให้ผู้เรียนสนใจเกี่ยวกับการหลอมรวมกันของศาสตร์ต่างๆ ที่นําไปใช้ในการเรียนการสอนและการประยุกต์ใช้งานในชีวิตประจําวัน 2.ให้เยาวชนรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี รวมทั้งนําความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปใช้ในการพัฒนาสมรรถนะด้านการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์และการปฏิบัติจริง 3.พัฒนาบุคลากรต้นแบบให้ถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะของบุคลากรต้นแบบไปยังเครือข่ายได้