พลิก! ตุลาการผู้แถลงคดี ชี้เอ็นซีพีมีสิทธิร่วมประมูล แหลมฉบังเฟส 3
ตุลาการผู้แถลงศาลปกครองกลาง ชี้กิจการร่วมค้า "เอ็นซีพี" มีสิทธิเข้าร่วมประมูลแหลมฉบังเฟส 3 หลังถูกการท่าเรือฯ ตัดสิทธิ ด้วยเหตุผลเซ็นชื่อผิดที่ ศาลนัดอ่านคำพิพากษาพรุ่งนี้
ในวันนี้ (วันที่ 26 กันยายน 2562)เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 1986/2562 ระหว่าง กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ซึ่งประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด, บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด, บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค จำกัด ผู้ฟ้องคดี กับ คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนของท่าเรือ F คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ผู้ถูกฟ้องคดี ได้ออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก
โดยในวันนี้ตุลาการเจ้าของสำนวนได้สรุปข้อเท็จจริงและประเด็นของคดีให้องค์คณะและคู่กรณีที่มาศาลรับทราบ ตุลาการผู้แถลงคดีได้แถลงการณ์ด้วยวาจาต่อองค์คณะ โดยมีประเด็นที่สำคัญในคำแถลงว่า ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่าคำสั่งที่พิจารณาให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP เป็นผู้ไม่ผ่านการพิจารณา ด้านคุณสมบัติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ นั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเห็นว่าควรพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่ชอบดังกล่าว โดยให้การเพิกถอนมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯได้มีคำสั่ง
ทั้งนี้ ศาลจะประชุมปรึกษาเพื่อจัดทำคำพิพากษาในคดีนี้ต่อไป โดยกำหนดนัดอ่านคำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ (27 กันยายน 2562) เวลา 10.00 น. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็น 1 ใน 5 โครงการลงทุนภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มูลค่าลงทุนประมาณ 84,000 ล้านบาท โดยมีการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) เป็นผู้รับผิดชอบในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน
เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2562 กทท. เปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 และมีผู้เข้าประมูล 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ซึ่งประกอบด้วยบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในเครือ ปตท., บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด จากประเทศจีน
2.กลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ซึ่งประกอบด้วยบริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด, บริษัท นทลิน จำกัด, บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน), บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิง จำกัด, บริษัท ไชน่า เรลเวบ์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ CRCC ประเทศจีน
โดยทั้ง 2 กลุ่ม จะต้องยื่นซองทั้งปิดผนึกและไม่ปิดผนึกต่อคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่มี เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการกทท.เป็นประธาน ประกอบด้วย ซองที่ 1 (ซองไม่ปิดผนึก) ซองเอกสารหลักฐาน
ซองที่ 2 (ซองปิดผนึก) ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ได้แก่ คุณสมบัติของนักลงทุน คุณสมบัติของทางการเงิน ประสบการณ์ของผู้ยื่นข้อเสนอ ซองที่ 3 (ปิดผนึก) ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 4 (ปิดผนึก) ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอนแทน และซองที่ 5 (ปิดผนึก)
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือก ปรากฎว่า ซองที่ 1 (ซองไม่ปิดผนึก) ซองเอกสารหลักฐาน ที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2562 ผ่านหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดทั้ง 2 กลุ่ม และได้พิจารณาซองที่ 2 (ซองปิดผนึก) ผลการพิจาร ณาปรากฏว่ากลุ่มเอ็นซีพี ยื่นเอกสารในส่วนสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มฯ ลงนามไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญ ซึ่งจะเป็นเอกสารแสดงให้เห็นว่าสมาชิกของกิจการร่วมค้าจะร่วมกันและแทนกันรับผิดอย่างหนี้ร่วม ในการดำเนินการตามสัญญาร่วมลงทุน จึงเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2
ผลพิจารณาของคณะกรรมการคดัเลือกดังกล่าว ทำให้กลุ่มเอ็นพีซี ถูกตัดสิทธิ์ และไม่ได้สู้ต่อในซองที่ 3 ที่ 4 และ ที่ 5 กลุ่มเอ็นซีพี เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงได้ร้องขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานต่างๆ โดยทำหนังสือ 4 ฉบับ เพื่อร้องเรียนเกี่ยวกับการตัดสิทธิ์การประมูล ประกอบด้วย 1.หนังสือถึงนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.เพื่อแจ้งข้อมูลการอุทธรณ์และโต้แย้งคำสั่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งขอให้ กพอ.ทบทวนคำสั่งที่พิพาทของคณะกรรมการคัดเลือกฯ รวมถึงทบทวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน
2.หนังสือถึงผู้อำนวยการ กทท.เพื่อโต้แย้งการพิจารณาหนังสืออุทธรณ์คำสั่งของกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี โดยระบุถึงการพิจารณาหนังสืออุทธรณ์คำสั่งของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีไม่ชอบด้วยขั้นตอนกฎหมาย รวมทั้งคำสั่งที่พิพาทเกิดจากการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเอกสารในซอง 2 ของกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีครบถ้วนและถูกต้องตามหลักเกณฑ์
3.หนังสือถือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ โดยขออุทธรณ์คำสั่งการแจ้งผลประเมินเอกสารซอง 2 (คุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ) และ 4.หนังสือถึง พล.อ.วิทวัส รชตะนันท์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อแจ้งข้อมูลกรณีขอร้องเรียนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 เพื่อแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยเร็ว
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2562 กลุ่มเอ็นซีพี ได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้พิจารณาเพิกถอนคำสั่งของกทท. ที่มีต่อกลุ่มเอ็นซีพี กรณีที่กทท. และ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) มีมติยืนยันตัดสิทธิ์ในการเข้าร่วมประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ดังกล่าว