รู้จัก 'มี ทิวา' วินมอเตอร์ไซค์พันล้าน
ขึ้นชื่อว่านักลงทุนระดับเซียน ปั้นพอร์ตหุ้นจากหลักสิบเป็นพันล้านใครๆ ก็อยากเดินรอยตามด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งเส้นทางการลงทุนเริ่มจากศูนย์ยิ่งทำให้น่าค้นหาว่ามีเคล็ดลับความสำเร็จการลงทุนมาอย่างไร “มี่” ทิวา ชินธาดาพงศ์ เซียนหุ้นอายุ 44 ปี
กับประสบการณ์ลงทุนเริ่มจากศูนย์ด้วยเงินเก็บ 10 ล้านบาท ไม่มีความรู้ด้านการลงทุนเลยแม้แต่นิดเดียว แต่กลับเลือกเส้นทางการลงทุนจนทำให้พอร์ตไต่ขึ้นไปถึงระดับพันล้านภายใน 10 ปี
จากการนำเงินเก็บ 10 ล้านบาทที่ผ่านการทำงานมาทุกรูปแบบตั้งแต่ขายตรง ขับวินมอเตอร์ไซค์ พนักงานบริษัท ร้านอินเตอร์เน็ต เข้ามาทำอาชีพนักลงทุนในตลาดหุ้นปี 2551 หลังได้แรงบันดาลใจ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” เจ้าพ่อต้นตำรับวีไอของไทย ทำให้เปลี่ยนความคิดต่อตลาดหุ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ
“ภาพตลาดหุ้นที่อยู่ในหัวคือการพนัน ใจกล้า เลือกถูกก็รวยได้ เป็นเรื่องของดวงไม่คิดว่าเป็นเรื่องหลักการหรือเหตุผลที่ทำให้รวยได้ บวกกับคนรอบข้างที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเจ๊งขาดทุนกันหมด แต่ความคิดเปลี่ยนทันทีเมื่อฟัง ดร.นิเวศน์ มาบรรยาย ตกผลึกความคิดด้วยตัวเองจากการอ่านตามทฤษฎีหรือหลักการในหนังสือลงทุน แต่สิ่งที่ทำให้เข้าใจตลาดหุ้นและลงทุนถูกตัวถูกทางคือต้องแปลความให้ได้ว่าหมายถึงอะไร”
ประสบการณ์เริ่มลงทุนด้วยเงินก้อนแรก 50% ตอนนั้นหาธุรกิจลงทุนตามทฤษฎี ธุรกิจมีสตอรี่รองรับ เทรนด์อุตสาหกรรมเป็นอย่างไร หาผู้เล่นที่ชนะในอุตสาหกรรม ดูมาร์เก็ตแชร์ ข้อมูลจะถูกบ้างผิดบ้างแต่ถ้าถูกต้องได้ผลตอบแทนสูง ส่วนถ้าผิดตัวผิดทางต้องเสียผลตอบแทนน้อยที่สุด ดูข้อมูลราคาก่อน 2 ปี ขึ้นมา 3 เท่า หากหุ้นอัตราต่อราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ต่ำ อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) ต้องสูง
เมื่อเจอหุ้นที่โดนแล้วต้องอนุมานว่ามีคนต้นทุนต่ำกว่าเราเยอะมาก ที่นี่ต้องมาศึกษาธุรกิจยังน่าสนใจแค่ไหน ต้องขุดลงไปอีกว่ามีใครแนะนำไหม ถ้าเชียร์ซื้อมากๆ จะระวังลงทุนมากขึ้น ตรงกันข้ามหุ้นที่ราคาอยู่ที่เดิม แต่ธุรกิจกำลังเปลี่ยนจากสนใจลงทุน
อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะตลาดหุ้นเจอวิกฤติซับไพรม์กระทบตลาดหุ้นตกต่ำทั่วโลก ซึ่งไทยเช่นกันทำให้พอร์ตขาดทุนอย่างหนัก จนเกือบจะถอดใจลงทุน จนได้รับคำแนะนำจาก ดร.นิเวศน์เตือนนักลงทุนว่าเหตุการณ์ในไทยไม่ได้น่ากลัวและยังยอมลงทุนด้วยบัญชีกู้ยืม หรือบัญชีมาร์จิน ทั้งที่ลงทุนด้วยเงินสดมาตลอด จึงทำให้เกิดกำลังใจและกล้าลงทุนต่อไม่ยอมตัดขาดทุน ด้วยการนำเงินสดที่เหลือ 50% ที่มีอยู่ไปลงทุนต่อ ทำให้ได้เรียนรู้ว่า “ซื้อเมื่อคนอื่นกลัว และขายเมื่อคนอื่นกล้า” ของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เป็นอย่างไรเพราะหุ้นราคาถูกจะเยอะจนไม่รู้จะเลือกลงทุนตัวไหน
ดังนั้นจึงตั้งหลักก่อนว่าจะเลือกลงทุนในหุ้นอะไรด้วยการฟังข้อมูลบริษัทก่อน (OPP DAY) เพื่อให้รู้ทั้งธุรกิจเป็นอย่างไรและฟังมุมมองผู้บริหารไปด้วย จากนั้นเลือกธุรกิจที่เราเข้าใจก่อน ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลนำปัจจัยทุกอย่างมาเรียงอันดับและเริ่มลงทุนตามที่เรียงไว้ไปเรื่อยๆ ทีละ 1-2 บริษัท แต่จะหมุนไปเรื่อยๆ ตามไตรมาส
“หุ้นปั้นพอร์ตโต ปีนั้น 400% คือหุ้น บมจ.โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) ราคาลงไป 2 บาทกว่าซื้อถัวเฉลี่ยเรื่อยๆ ซึ่งลงทุนแล้วต้องติดตามธุรกิจลงลึกไปเรื่อยๆ ว่าชนะคู่แข่งไหม สาขาเป็นอย่างไร เทรนด์ตกแต่งบ้านมันใช่หรือไม่ ถัดมาเป็นหุ้นอสังหาฯ ราคาหุ้นลงมา PE เหลือ 1 เท่า ถ้ากำไรยังเท่าเดิมมูลค่าเพิ่มขึ้นเท่าตัว”
อย่างไรก็ดี การลงทุนไม่ใช่จะชนะตลอดมีแพ้ระหว่างทาง เพราะเน้นเอาหุ้น P/E ต่ำ ROE สูง ตามหนังสือ แต่ปรากฏมีเรื่องกำไรบริษัทก็ต่ำไปด้วยจนเริ่มเข้าใจ ว่าจะมองธุรกิจลงทุนปีนี้ไม่ได้ต้องมองปีหน้าไปด้วย ทำให้สรุปได้ว่าการมองอนาคตหุ้นมีระยะเวลา 1-2 ปี ไม่ควรมอง 10 ปีหรือมองแต่ไตรมาสต่อไตรมาสก็จะสั้นไปและพลาดโอกาสดีๆ เพราะช่วงระยะเวลาดังกล่าวเชื่อว่าเป็นเวลาที่ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มองในทิศทางเดียวกันและเป็นระยะเวลาที่ผิดพลาดน้อยที่สุด
ที่สำคัญหาจังหวะลงทุนซื้อเมื่อถูกกว่ามูลค่านั้นต้องพยายามตามหามูลค่าที่ว่านั้นให้ได้ ซึ่งไม่สามารถวิเคราะห์จากตัวเลขทางการเงินเพียงอย่างเดียว ต้องมีคุณภาพของธุรกิจที่สามารถแข่งขันได้ เพราะการลงทุนเป็นเรื่องของตลาดไม่ใช่เราแค่คนเดียวต้องเข้าใจจังหวะตลาดด้วย
ก่อนจะทิ้งท้ายเคล็ดลับลงทุนว่าเริ่มจากดูเทรนด์ธุรกิจ 2-3 ปี ทิศทางเป็นอย่างไรหาคำตอบให้ได้ ซึ่งเชื่อว่าธุรกิจที่จะเจอศึกหนักกับการเปลี่ยนแปลง 2-3 ปี คือค้าปลีกมาจาก P/E ค้าปลีกไทยสูงที่สุดในโลก และการเติบโตของอีคอมเมิร์ซชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ หรือโรงพยาบาลน่าสนใจลงทุนในวันนี้ และมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต