กรุงเทพธุรกิจสำรวจ ‘ซีอีโอ’ คาดศก.ไตรมาส 4 'ทรงตัว'
"58 ซีอีโอ" ประเมินเศรษฐกิจไตรมาส 4 แนวโน้ม "ทรงตัว" ห่วงกำลังซื้อในประเทศกดดัน หวังมาตรการรัฐช่วยกระตุ้น เผยส่วนใหญ่ยังมีแผนลงทุนเพื่อรักษาระดับการเติบโตของธุรกิจ
การประคับประคองเศรษฐกิจของรัฐบาลในปี 2562 เกือบทั้งปีนี้ ต้องเผชิญกับปัจจัยแวดล้อมมากมายที่ส่งผลต่อสภาพคล่องของเศรษฐกิจทั้งระบบ มีปัจจัยทั้งภายใน และภายนอกประเทศเป็นตัวแปรสำคัญ โดยเฉพาะพิษจากสงครามการค้าของมหาอำนาจ 2 ประเทศ สหรัฐกับจีน รวมไปถึงสงครามค่าเงิน สร้างความสั่นสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศเป็นอย่างมาก
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือเป็นหมากตัวสำคัญที่รัฐบาลนำมาใช้ เพื่อกระตุ้นการลงทุน กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ รวมถึงมาตรการลดดอกเบี้ย หลายมาตรการที่ถูกนำมาใช้อย่างเร่งด่วน เพื่อพยุงให้เศรษฐกิจยังขับเคลื่อนต่อไปได้ท่ามกลางความท้าทายที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้ายไตรมาส 4 ปีนี้ ที่น่าสนใจว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปในทิศทางใด
"กรุงเทพธุรกิจ" ได้ทำการสำรวจความคิดเห็น 58 ซีอีโอองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลากหลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีกและไอทีดิจิทัล ที่มีรายได้ตั้งแต่พันล้านขึ้นไปถึงความเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อธุรกิจช่วงไตรมาสที่ 4 โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9-27 ก.ย. 2562
"ซีอีโอ" ฟันธงไตรมาส 4 ศก."ทรงตัว"
เมื่อถามถึงการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4/2562 เทียบไตรมาสก่อนหน้า ซีอีโอจำนวน 40.4% คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจยัง "ทรงตัว" รองลงมา 31.6% ระบุว่า "ชะลอตัว" ขณะที่ 19.3% ยังมองว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 มีโอกาสขยายตัว และ 8.8% เชื่อว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 มีแนวโน้ม "ถดถอย"
ส่วนปัจจัยบวกที่ประเมินว่าจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 4 ซีอีโอจำนวน 69% ระบุว่า มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ขณะที่ 8.6% คาดว่ามาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว รวมถึงกำลังซื้อในประเทศดีขึ้น ส่วนอีก 6.9% ระบุว่า มาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
เมื่อถามถึงปัจจัยลบที่คาดว่าจะฉุดเศรษฐกิจไตรมาส 4 ซีอีโอส่วนใหญ่ 43.1% ระบุว่า มาจากกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว รองลงมา 27.6% ระบุว่า มาจากสงครามการค้า และ 22.4% เชื่อว่าปัจจัยลบที่เป็นฉุดเศรษฐกิจไตรมาส 4 มาจากเงินบาทแข็งค่า
ส่วนการประเมินยอดขายของบริษัทในไตรมาส 4 ซีอีโอจำนวน 45.6% เชื่อว่า ยอดขายของบริษัทยัง “ทรงตัว” ส่วน 31.6% มั่นใจว่าจะดีขึ้น และมีซีอีโอจำนวน 15.8% มองว่ายอดขายไตรมาส 4นี้มีแนวโน้ม "ชะลอตัวลง"
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงยอดขายที่เพิ่มขึ้น หรือลดลงนั้นจะอยู่ในระดับใด ซีอีโอมากถึง 71.4% ระบุว่า อาจจะอยู่ในระดับ 0-10% ขณะที่ ซีอีโอจำนวน 12.5% เชื่อว่ายอดขายที่เพิ่มขึ้น หรือลดลงจะอยู่ในระดับ 11-15%
ลงทุนเพิ่มรักษาระดับการเติบโต
ในด้านแผนการลงทุนของธุรกิจในไตรมาสที่ 4 จากผลสำรวจครั้งนี้ ซีอีโอส่วนใหญ่ 43.1% ยังมีแผนลงทุนเพิ่ม ขณะที่ 32.8% ยังไม่มีแผนลงทุนเพิ่มใดๆ ส่วน 20.7% ระบุว่ากำลังพิจารณา
เมื่อถามถึงแผนการลงทุนที่ธุรกิจส่วนใหญ่จะลงทุนนั้น ซีอีโอจำนวน 75% บอกว่า วัตถุประสงค์การลงทุนเพื่อรักษาระดับการเติบโตของธุรกิจ และซีอีโอจำนวน 13.6% ระบุว่า ต้องการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตรับดีมานด์ในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ 9.1% ต้องการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพเครื่องจักร เพื่อประสิทธิิภาพในการผลิต และมีเพียง 2.3% เท่านั้นที่บอกว่า ลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตรับดีมานด์ต่างประเทศ
สำหรับแผนการรับมือเศรษฐกิจที่อาจจะชะลอตัวในช่วงไตรมาสทีี่ 4 ซีอีโอจำนวน 40% ระบุว่า มีแผนที่จะหาแนวทางเจาะตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่จำนวน 23.6% มีแผนแตกไลน์ธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง
เสนอรัฐอัดมาตรการกระตุ้นศก.เพิ่ม
ซีอีโอจำนวน 14.5% ยังเน้นแผนจัดแคมเปญกระตุ้นยอดขาย และ 12.7% ขอรอจังหวะที่เหมาะสม ขณะที่มีซีอีโอจำนวน 9.1% เน้นแผนการลงทุนไปที่เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและบริการ
เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะต่อภาครัฐที่จะทำให้ธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ซีอีโอมากถึง 60.3% ยังต้องการให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รองลงมา 24.1% ให้รัฐบาลหันมาดูแลค่าบาท ขณะที่ 3.4% ให้ใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามมีซีอีโอ 8.6% ที่เสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่
ซีอีโอ 58 คนร่วมเซอร์เวย์
การสำรวจครั้งนี้ มีซีอีโอในภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งหมด 58 คน ร่วมตอบแบบสอบถามประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ประกอบด้วย ซีอีโอในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็นสัดส่วน 25.9% รองลงมาอยู่ในกลุ่มพลังงาน และกลุ่มการเงิน 13.8% กลุ่มไอทีดิจิทัล 12.1% และ 8.6% อยู่ในกลุ่มท่องเที่ยวและค้าปลีก
โดยกลุ่มซีอีโอที่ถูกสำรวจอยู่ในองค์กรธุรกิจที่มียอดขายเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมามากกว่าหนึ่งพันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน31.6% รองลงมาเป็นกลุ่มธุรกิจที่มียอดขายต่ำกว่าหนึ่งพัันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 29.8% และ 21.1% เป็นกลุ่มบริษัทที่มียอดขายตั้งแต่หมื่นล้านบาทขึ้นไป
"แอลทีวี" ฉุดกำลังซื้ออสังหาฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์ภาคธุรกิจที่แท้จริง (Real Sectors) ในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2562 พบว่า ภาพรวมอยู่ในภาวะทรงตัว ไปถึงขั้นชะลอตัว โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย มูลค่าตลาดรวมกว่า 4 แสนล้านบาท มองเห็นการชะลอตัวชัดในช่วงครึ่งปีแรก
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ระบุว่า ครึ่งปีแรก ภาคอสังหาฯติดลบ 5% เฉพาะไตรมาส 2 ชะลอมากกว่า 10% ขณะที่ภาพรวมครึ่งปีหลัง มองว่ายังขยายตัวต่ำเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมเป็นผลมาจากการเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อ ฉุดกำลังซื้อ
ขณะเดียวกันสถานการณ์กำลังซื้อที่ชะลอตัว ยังเป็นเหตุผลหลักที่ฉุดผลการดำเนินงานของเรียลเซ็กเตอร์อื่นๆในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ภาคค้าปลีก อุปโภคบริโภค รถยนต์ ภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น
"สงครามค้า-บาทแข็ง" ท่องเที่ยวโตชะลอ
ขณะที่ในภาคท่องเที่ยวยังมีปัจจัยแทรกซ้อนจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าในรอบ 6 ปี ฉุดให้ความน่าสนใจในการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะต้องจ่ายแพงกว่า เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นที่อ่อนค่ากว่าเงินบาท นอกเหนือจากประเด็นเรื่องสงครามการค้า ที่ฉุดเศรษฐกิจโลกและรายได้ของผู้คน ทำให้ต่างชาติชะลอเดินทางท่องเที่ยว
โดยข้อมูลจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในช่วง 8เดือนแรกของปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 26,563,001 คน เพิ่มขึ้น 2.83%รายได้รวม 1,289,626.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.91% เฉพาะนักท่องเที่ยวจีนนักท่องเที่ยวปริมาณมากที่สุดในไท เดินทางมา7,665,901 ล้านคน ลดลง 0.79%