‘THE FOUNDER’ ถึงยุคปั้นพนักงานเป็นสตาร์ทอัพ

‘THE FOUNDER’ ถึงยุคปั้นพนักงานเป็นสตาร์ทอัพ

คงไม่มีใครรู้จัก เข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าและความท้าทายในอุตสาหกรรมได้ดีไปกว่า “พนักงาน” แสนสิริ จึงผนึก สิริ เวนเจอร์ส ก่อตั้งโครงการ “THE FOUNDER” เพื่อปั้นพนักงานให้เป็นสตาร์ทอัพ และถือเป็น Internal Incubator ครั้งแรกของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย

โครงการดังกล่าวจะทำการเฟ้นหาพนักงานแสนสิริที่มากประสบการณ์ และมี Entrepreneurial Mindset ก้าวเป็นสตาร์ทอัพเลือดใหม่แห่งวงการ PropTech & UrbanTech ทำหน้าที่ปลดล็อคความท้าทายของธุรกิจอสังหาฯ ไทยได้อย่างตรงจุด


"ที่ผ่านมาเราซินเนอยี่กับสตาร์ทอัพ เรามองหาเทคโนโลยีจากข้างนอกเพื่อมาสร้างศักยภาพให้กับแสนสิริ แต่ในวันนี้คำถามมันกลับกัน เรามองว่าพนักงานของเราจะรู้ดีในทุกๆปัญหา รวมถึงความท้าทายต่าง ๆที่เกิดขึ้น เพราะเขาเป็นคนที่อยู่กับลูกค้า และเขาก็อยู่กับระบบการทำงานของบริษัท มีความเข้าใจเป้าหมายของบริษัทอีกด้วย"


“จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด (SIRI VENTURES) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ว่ามีอยู่ 3 ข้อหลักๆ ข้อแรก ต้องการมีส่วนช่วยทำให้สตาร์ทอัพด้าน PropTech ในประเทศไทยมีจำนวนเยอะขึ้นเรื่อยๆ และมีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ


"มีผลวิจัยของ Unissu เป็นบริษัทวิจัยด้าน PropTech ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ในปี 2018 สตาร์ท PropTech ทั่วโลก สามารถระดมทุนได้มากถึง 1.48 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 4.5 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ปัจจุบันมี PropTech startup ทั่วโลกกว่า 7,100 ราย ในเอเชียมีอยู่ราว 500-550 ราย แต่ในไทยมีเพียงแค่หลักสิบเท่านั้น จึงมีโอกาสเติบโตอีกมาก"


สอง เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องของ “นวัตกรรม” และเรื่องของความเป็น “เถ้าแก่” ให้กับพนักงานของแสนสิริซึ่งทั้งกลุ่มบริษัทมีอยู่ราว 3 พันคน และสาม เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างความผูกผันของพนักงาน โดยบริษัทมองเห็นคุณค่าของพนักงาน จึงได้มอบโอกาสให้พวกเขานำความรู้ ความเข้าใจในปัญหาเทิร์นกลับมาเป็นธุรกิจ สนับสนุนให้เขาก้าวสู่ผู้ประกอบการ


"เรามองว่า การคิดหาโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาในหมวกของลูกจ้างก็จะได้ความทุ่มเทในระดับหนึ่ง แต่ถ้าให้พนักงานเปลี่ยนหมวกมาเป็นเถ้าแก่ ความทุ่มเทในการหาโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาน่าจะเพิ่มเป็นทวีคูณ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งตัวเขาเองและต่อองค์กร สุดท้ายปัญหาจะถูกแก้ไขได้แน่ ๆ"


THE FOUNDER เป็นการเรียนรู้ “Best Practice” จากองค์กรอื่น ๆที่เคยทำแล้วนำมาปรับใช้สร้างเป็นเฟรมเวิร์คที่เหมาะกับบริบทของแสนสิริ สำหรับโรดแมพของโครงการจะมีอยู่ด้วยกัน 3 สเต็ปได้แก่ Rise-Bounce-Shoot


แต่ก่อนอื่นต้องทำการ “ลอนซ์” ตัวโครงการซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 2 เดือน เพื่อทำให้พนักงานเข้าใจ เกิดความสนใจมาสมัครเข้าร่วม จิรพัฒน์บอกว่าเขาให้ความสำคัญกับสเต็ปนี้ค่อนข้างเยอะ เนื่องจากแสนสิริเป็นองค์กรที่มีอายุร่วม 30 ปีแล้ว และก็มีพนักงานที่หลากหลาย มีทั้งพนักงานที่ทำงานด้วยกันมายาวนานถึง 20-30 ปี มีทั้งพนักงานใหม่ ฯลฯ จึงต้องคิดหาวิธีว่าจะต้องสื่อสารอย่างไรให้พนักงานเข้าใจว่าโครงการนี้คืออะไร สุดท้ายพวกเขาจะได้อะไร และองค์กรจะได้อะไร แต่ก็เหนือความคาดหมายเพราะมีพนักงานสมัครเข้าร่วมถึง 30 ทีม


“อาจเป็นเพราะเราทำการโฆษณาชวนเชื่อดี” จิรพัฒน์พูดแบบขำๆ แต่ในความเป็นจริงนั้น เขาย้ำว่าหัวใจความสำเร็จมาจากเรื่องของการสื่อสารที่ต้องทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ต้องสื่อสารทุกช่องทางเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานได้รับรู้ เข้าใจและมีความสนใจ


แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ก่อนจะเกิดเป็นโครงการได้ เขาจะต้องสื่อสารเพื่อให้เกิดการยอมรับจากผู้นำทุกระดับ และแน่นอนจาก “เบอร์หนึ่ง” ขององค์กรเสียก่อน


โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม้ว่าผลลัพธ์ของโครงการดูเหมือนจะเกิดผลดีในทุกๆด้าน ทว่าก็มีความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน เพราะในวันที่พนักงานก้าวเป็นสตาร์ทอัพก็ย่อมหมายถึงการที่บริษัทต้องปล่อยพนักงานระดับครีม พนักงานที่เป็น Talent ซึ่งนับวันจะหาได้ยากยิ่งให้เขาก้าวไปเติบโตบนเส้นทางของตัวเอง


ในเวลานี้โครงการกำลังอยู่ในสเต็ป Rise ที่ได้ทำการคัดเลือกทีมเข้ามาอยู่ขั้นตอนนี้จำนวน 12 ทีม ที่สามารถพิชชิ่งให้เห็นชัดว่าโซลูชั่นที่คิดค้นขึ้นมาฟิตกับปัญหาจริงๆ เขามีโอกาสจะเป็นสตาร์ทอัพได้จริงๆ


ถามถึงไคทีเรียในการพิจารณา จิรพัฒน์บอกว่าหลัก ๆมีอยู่ 2 ข้อใหญ่ๆ หนึ่ง มุ่งเน้นว่าต้องเป็นการแก้ไขเพนพ้อยท์หรือปัญหาที่อยู่ในธุรกิจหลัก ธุรกิจรอง และธุรกิจรอบๆของแสนสิริ จะไม่รับไอเดียที่ไม่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์เช่น เอดดูเคชันเทค หรือฟู้ดเทค เป็นต้น


โดยสรุปจะต้องเป็นโซลูชั่นที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของอสังหาริมทรัพย์ไทย ครอบคลุมทั้งในด้านผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้อยู่อาศัยยุคใหม่ ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีสร้างความแม่นยำ และลดขั้นตอน-ข้อผิดพลาดจากการประเมินราคาในการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ ตลอดจนโซลูชั่นที่ช่วยเฟ้นหาตลาดใหม่สำหรับการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไปถึงการจัดสรรพื้นที่ใช้สอยภายในคอนโดด้วยโมเดลธุรกิจการเช่าเฟอร์นิเจอร์ เพื่อเติมเต็มไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยยุคใหม่อย่างไร้รอยต่อ


อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสตาร์ทอัพก็คือ ธุรกิจต้องสเกลได้ ต้องมีขนาดตลาดที่ใหญ่พอ


สเต็ป Rise มีความหมายว่า “ลุกขึ้น” ทีมที่ได้เข้ารอบจะได้รับการเทรนนิ่ง โดยมีวิทยากรจากภายในและภายนอกองค์กร ให้ความรู้ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปถึงวิชาขั้นสูงที่พัฒนาไปสู่สตาร์ทอัพตัวจริงได้ จากนั้นก็ไปสู่สเต็ป Bounce หรือการเริ่ม “กระโดด” ซึ่งจะมีระยะเวลาทั้งหมด 12 เดือน


"ในสเต็ปนี้พวกเขาจะมีความเป็นเถ้าแก่ 80% เขาจะไม่ได้ทำงานที่เคยทำให้บริษัท แต่จะทำงานเป็นสตาร์ทอัพ 100% เขาอาจมานั่งทำงานที่บริษัทก็ได้ หรือที่ร้านกาแฟ ที่ไหนก็ได้แล้วแต่ ในสเต็ปนี้เขาต้องพัฒนา MVP ให้เราดู ถ้ามี Traction มียอดขายได้จริง ๆก็ยิ่งดี แต่เรายังมีเทรนนิ่งมีเมนทอร์ให้คำปรึกษาเขาโดยตลอด และจะให้เงินสนับสนุนเพื่อให้เขาเอาไปใช้พัฒนาโปรดักส์ ไปทำการตลาด ทีมละ 3 ล้านบาท สุดท้ายเขาต้องกลับมาพิชชิ่งอีกครั้งถึงความพร้อมสู่ขั้นตอน Shoot ที่หมายถึงการลาออกจากพนักงานเพื่อเป็นสตาร์ทอัพเต็มตัว"


จิรพัฒน์บอกว่า แนวทางนี้ช่วยลดความเสี่ยงให้กับพนักงานตั้งแต่วันแรกไปจนถึงวันที่เขากลายเป็นสตาร์ทอัพ และแนวทางนี้จะช่วยสร้าง PropTech สัญชาติไทยให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งในปีนี้น่าจะเกิดได้ 1-2-3-4 หรืออาจทั้งหมด 12 บริษัทเลยก็ได้