‘หุ้นทีวีดิจิทัล’ ยังเหนื่อย โฆษณาหด-คนหันเสพสื่อออนไลน์
“ทีวีดิจิทัล” เป็นหนึ่งในธุรกิจแรกๆ ที่ถูกดิสรัปจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้คนไทยดูทีวีน้อยลง เพราะมีสื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย
จากเดิมที่ต้องเฝ้าหน้าจอรอดูรายการโปรด เปลี่ยนไปเล่นมือถือ ท่องโลกโซเชียล เข้าเน็ตฟลิกซ์ ดูยูทูบ ทำให้ความนิยมของรายการโทรทัศน์ หรือ ที่เรามักเรียกกันติดปากว่า “เรทติ้ง” ลดลงอย่างฮวบฮาบ สั่นสะเทือนถึงเม็ดเงินโฆษณาหดหายไปไม่น้อย เพราะเมื่อคนไม่ดู เรทติ้งไม่มา บรรดาเอเจนซี่ เจ้าของสินค้า ก็ไม่อยากที่จะใส่เงินลงไป
ทำให้ช่องน้อยใหญ่ต่างเจ็บหนักไปตามๆ กัน ผลประกอบการขาดทุนหลายปีติด เพราะลงทุนกันอย่างมหาศาล นับตั้งแต่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเมื่อปี 2556 หวังเปลี่ยนผ่านการรับชมทีวีของคนไทยจากระบบอนาล็อกไปสู่ดิจิทัล
สร้างความแตกตื่นให้กับธุรกิจ มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลและได้ใบอนุญาตไปทั้งหมด 24 ช่อง แบ่งเป็น 4 ประเภทรายการ นำเงินเข้ารัฐไปมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท แต่ดูเหมือนว่าเส้นทางกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะหลังออกอากาศได้เพียงแค่ 1 ปี มี 2 ช่อง ของ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ประกาศปิดตัวไปก่อน ส่วนช่องอื่นๆ สถานการณ์ไม่สู้ดีเช่นกัน เพราะรายจ่ายมหาศาล ทั้งค่าไลเซ่นส์ ค่าเช่าโครงข่าย ไหนจะยังมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมืออีกมากมาย ต้องลงทุนสร้างสตูดิโอ ผลิตคอนเทนท์ จ้างพนักงานอีกไม่น้อย
ลงทุนมากมายขนาดนี้ แต่เมื่อโฆษณาไม่เข้า เรทติ้งไม่มี คนไม่ดู ผู้ประกอบการก็ไปไม่ไหวเหมือนกัน เดินหน้าออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือ ในที่สุดเหมือนฟ้าจะเป็นใจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกคำสั่งเปิดทางให้คืนช่องพร้อมรับเงินชดเชย ส่วนใครจะไปต่อไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตส่วนที่เหลืออยู่ทั้งหมด
สุดท้ายแล้ว มี 7 ช่อง ขอยกธงขาว โบกมือบ๊ายบาย... ลาจอไปก่อน มีช่องสปริงส์นิวส์, สปริง 26, ไบรท์ ทีวี จอดำเป็นล็อตแรกตั้งแต่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้รับเงินเยียวยาไป 500 ล้านบาท, 675 ล้านบาท และ 371 ล้านบาท ตามลำดับ ต่อมาเป็นคิวของวอยซ์ทีวี ยุติออกอากาศ 1 ก.ย. รับเงินเยียวยา 378 ล้านบาท
ส่วน บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT ขอคืนช่องเด็ก MCOT Family โดยหยุดออกอากาศ 16 ก.ย. ได้เงินชดเชยทั้งหมด 161 ล้านบาท ส่วน 2 ช่องสุดท้ายที่ขอคืนไลเซ่นส์เรียกว่าเป็นยักษ์ใหญ่ “กลุ่มมาลีนนท์” ซึ่งเจ็บหนักจากศึกครั้งนี้ไม่น้อย เพราะประมูลไปถึง 3 ช่อง จึงมีรายจ่ายมหาศาล
ทำให้ผลประกอบการของช่อง 3 ภายใต้บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC ดิ่งหนัก จากก่อนประมูลเคยมีกำไรสูงกว่า 5 พันล้านบาท ค่อยๆ ลดลงจากหลักพันล้านมาเหลือสิบล้าน จนปีล่าสุด 2561 ขาดทุนเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท 330 ล้านบาท ขณะที่ 6 เดือนแรกปีนี้ เลือดยังไหลไม่หยุด ขาดทุน 231 ล้านบาท
ที่ผ่านมา ช่อง 3 พยายามปรับโครงสร้างองค์กร รัดเข็มขัดทุกช่องทาง หวังฝ่ามรสุมที่ถาโถมเข้าถล่ม มีการดึงผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารงาน ล่าสุดได้ “บี๋ อริยะ พนมยงค์” อดีตนายใหญ่ “ไลน์ ประเทศไทย” มาเป็นแม่ทัพคนใหม่ หวังพาช่อง 3 โต้คลื่นดิสรัปชั่น เดินหน้ารุกดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
และตัดสินใจคืนช่องไป 2 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 SD และ ช่อง 3 Family รวมแล้วได้เงินชดเชยจากรัฐไปทั้งหมด 819 ล้านบาท โดยยุติการออกอากาศสิ้นเดือนที่ผ่านมา เท่ากับว่าตอนนี้ทั้ง 7 ช่องที่ขอคืนไลเซ่นส์หยุดออกอากาศทั้งหมดแล้ว ดังนั้น จึงเหลือช่องทีวีดิจิทัลที่ยังออกอากาศอยู่ทั้งหมด 15 ช่องธุรกิจ และอีก 4 ช่องสาธารณะ
แม้คู่แข่งจะลดลงแต่ไม่ได้หมายความว่าสงครามทีวีดิจิทัลจะจบลงง่ายๆ เพราะยิ่งเหลือผู้เล่นน้อยราย แต่ละช่องคงต้องงัดหมัดเด็ดปล่อยใส่กันอย่างเต็มที่ เพื่อหวังช่วงชิงเรทติ้ง ดึงดูดเม็ดเงินโฆษณา และนอกจากจะแข่งกันเองแล้ว ยังต้องแข่งกับสื่อใหม่อื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะสื่อออนไลน์และดิจิทัลที่เม็ดเงินโฆษณาเติบโตก้าวกระโดด สวนทางสื่อเก่าอย่างทีวีที่เม็ดเงินโฆษณาหดตัวแทบทุกปี
ดูแล้วเส้นทางสายนี้คนที่จะอยู่รอดได้จริงๆ นั้นยากเหลือเกิน เมื่อพฤติกรรมของคนดูเปลี่ยนไป หลายช่องจึงปรับตัวเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ นำสื่อในมือ คอนเทนท์ รายการต่างๆ จากเดิมที่ฉายแค่ในทีวี ไปออกอากาศผ่านช่องทางอื่นๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์อย่างครบวงจร
คงต้องเฝ้ารอดูว่าหลังปรับทัพแล้วจะได้ผลแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ระยะสั้นผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2562 ดูดีขึ้นแน่นอน เพราะมีกำไรพิเศษจากเงินชดเชยบุ๊คเข้ามา แต่ราคาหุ้นก็รับข่าวกันไปมากแล้ว นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงมองว่ากลุ่มทีวีดิจิทัลยังไม่ค่อยน่าสนใจ