กพร.เล็งชงเพิ่ม 3 แหล่งทำเหมืองหิน 'ระยอง'
กพร.ระบุกฤษฎีกา เปิดโอกาสให้ปรับปรุงแผนแม่บทเหมืองแร่ได้ก่อน 5 ปี หากมีข้อมูลใหม่ ให้ทันต่อการพัฒนาประเทศ เตรียมเปิดแหล่งเหมืองหินใหม่ จ.ระยอง 3 แห่ง เพื่อรองรับอีอีซี คาดภายใน 5 ปี อีอีซี ต้องการใช้หิน 100 ล้านตัน
นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมือนแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า จากความต้องการแหล่งแร่ โดยเฉพาะหินอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และพื้นที่อื่นทั่วประเทศ
ดังนั้น กพร.จึงได้ทำหนังสือหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงแผนแม่บทเหมืองแร่ ตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับแนวทางการจัดทำแผนแม่บททุก 5 ปี หากเจอแหล่งแร่ก่อนเวลาที่กำหนดจะปรับปรุงแผนแม่ใหม่ได้หรือไม่
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบกลับมาแล้วว่าดำเนินการได้ โดยให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) เป็นผู้ดำเนินการ และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเห็นชอบได้ โดยไม่ต้องรอ 5 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด เพราะข้อเท็จจริงอาจจะเจอแหล่งแร่ตามพื้นที่อื่นที่ไม่อยู่ในแผนแม่บท
นอกจากนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายพัฒนาอีอีซี ดังนั้น การหาวัตถุดิบและหินที่ใช้ในอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก โดย กพร.สำรวจแหล่งแร่สำรองในจังหวัดระยอง 3 แหล่ง ได้แก่ 1.แหล่งหินแกรนิต อำเภอบ้านฉาง 2.แหล่งหินแกรนิต อำเภอบ้านค่าย 3.แหล่งหินปูน อำเภอวังจันทร์และ กิ่งอำเภอเขาชะเมา คาดว่าแหล่งหินอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งนี้ จะมีปริมาณ 3.96 หมื่นล้านตัน
เตรียมหินรองรับ“อีอีซี”
“กพร.คาดว่าหลังจากออกอาชญาบัตรสำรวจแร่ได้จะใช้เวลาสำรวจ 1 ปี จากนั้นจะเสนอ คนร.และที่ประชุม ครม. ซึ่งการประกาศเขตแหล่งแร่เพิ่มใช้เวลา 1 ปี จัดทำแผนผังและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งจะทำควบคู่กับการออกประทานบัตรและการจัดทำประชาพิจารณ์ที่ใช้เวลา 2-3 ปี รวมแล้วจะใช้เวลา 4-5 ปี จึงจะผลิตแร่หินออกมาได้ เป็นระยะที่เพียงพอในการผลิตหินอุตสาหกรรมเพื่อรองรับอีอีซีระยะยาว”
นายวิษณุ กล่าวว่า แผนการบริหารจัดการวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม กพร.มีการสำรวจความต้องการของประเทศที่จะนำวัตถุดิบมาใช้ในอนาคต โดย กพร.ได้ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการใช้วัตถุดิบ เช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ,กรมทางหลวง ,กรมทางหลวงชนบท ,สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) ,กรมชลประทาน ,การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กรมเจ้าท่า ซึ่งจะสอบถามหน่วยงานดังกล่าวถึงแผนการก่อสร้าง ที่ตั้งโครงการและความต้องใช้วัตถุดิบ
คาดมีหินรองรับถึงปี 2572
สำหรับพื้นที่ อีอีซี คาดว่าจะใช้หินปีละ 25 ล้านตัน โดยมีการใช้ตามแผนงาน 100 ล้านตัน ในขณะที่ปัจจุบันมีแร่หินสำรองทั้งสิ้น 340 ล้านตัน สามารถรองรับการพัฒนาได้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี หรือใช้ได้ถึงปี 2572
นอกจากนี้ ความต้องการใช้หินในอีอีซีจะใช้ในโครงการถนน ระบบรางและท่าเรือ จะใช้หิน 100 ล้านตัน ภายใน 5 ปี ซึ่งใช้ในการก่อสร้างระบบราง ถนน และโลจิสติกประมาณ 80 ล้านตัน และเป็นโครงการท่าเรือและถมทะเลในท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ถมทะเล 1,000 ไร่ จะใช้หิน 8 ล้านตัน และท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ถมทะเล 1,000 ไร่ จะใช้หิน 11 ล้านตัน อย่างไรก็ตามหากเพิ่มโครงการถมทะเลเพื่อขยายนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คาดว่าจะใช้หิน 30 ล้านตัน ซึ่งยังมีแหล่งหินเพียงพอ