“พลังงาน” ปั้นแม่แจ่มโมเดล โรงไฟฟ้าชุมชนแห่งแรก
การประกาศเตรียมจัดทำโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ของกระทรวงพลังงาน ถือเป็นนโยบายที่สร้างความฝันให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล และยังขาดแคลนไฟฟ้าใช้ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความหวังที่จะได้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เห็นศักยภาพของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ หลังจากได้เข้าไปร่วมดำเนินโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร(CSR) กับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ พบว่า มีพื้นที่ในการทำไร่ข้าวโพด จำนวน 1 แสนไร่ ซากข้าวโพด (เปลือก,ซัง,ลำต้น) จำนวน 90,000 ตันต่อปี
แบ่งเป็น ซังและเปลือกข้าวโพด 4.5 หมื่นตันต่อปี และลำต้นข้าวโพด 4.5 หมื่นตันต่อปี(รอเผาเตรียมปลูกใหม่) รวมถึงมีพื้นที่ปลูกนาข้าวอีก 5 หมื่นไร่ ซึ่งจะได้ผลผลิตคือ แกลบ และฟาง อีกทั้งยังมีขยะแห้งจากชุมชน จำนวน 3-4 ตันต่อวัน
พัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษก กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.เตรียมเสนอภาครัฐ เพื่อเข้าร่วมจัดทำโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนต้นแบบที่อ.แม่แจ่ม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่จะป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าทั้งรูปแบบชีวมวล และชีวภาพ (Gasification) สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2-3 เมกะวัตต์ คาดว่า จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ ภายใต้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) จะอยู่ที่ราว 8-10%
โดย กฟผ. อยู่ระหว่างคัดเลือกพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าแห่งแรกก่อน ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายเสนอให้เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าชุมชน 2 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านบนนา ต.ช่างเคิ่ง และบ้านแม่นาจร ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความสนใจ เพราะเล็งเห็นประโยชน์ในการกำจัดของเสียทางการเกษตรแทนการเผาที่สร้างมลพิษเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ให้เกิดเป็นพลังงานไฟฟ้าให้กับคนในท้องถิ่นแล้ว
รวมทั้งยังสามารถสร้างรายได้จากการขายเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้า สอดคล้องกับแนวคิด Energy for All ซึ่งโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสังคมให้มีความเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงพื้นที่เป้าหมาย อ.แม่แจ่ม เพื่อมอบนโยบายและดูความพร้อมในพื้นที่ พบว่าเป็นพื้นที่มีศักยภาพที่จะจัดทำเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งแรก บาท โดยโมเดลการร่วมทุนที่นำเสนอ คือ กฟผ. ภาคเอกชน และชุมชน ร่วมทุนฝ่ายละ 1 ส่วน ขณะที่วงเงินร่วมทุนของชุมชนทุกโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น จะมีสัดส่วนถือหุ้น 10-30% ซึ่งจะให้เอกชนเป็นผู้ออกเงินให้ก่อน แล้วชุมชนนำเงินปันผลหรือรายได้อื่นมาผ่อนชำระภายหลัง
โดยชุมชนนอกจากได้รายได้จากการขายไฟฟ้าแล้วยังได้รายได้จากการขายซังข้าวโพด ที่ กฟผ.ศึกษาว่า ราคารับซื้อจะอยู่ที่ 500-700 บาทต่อตัน หรือ 50-70 สตางค์ต่อกิโลกรัม จากที่ต้องเผาทิ้งประมาณ 40,000 ตัน และสามารถนำขยะความชื้นต่ำมาเป็นเชื้อเพลิงได้ด้วย
ดังนั้น ได้มอบหมายให้ กฟผ.เดินหน้าประสานงานกับชุมชนเพื่อจัดทำสัญญาประชาคมข้อตกลงร่วมกันให้ชัดเจน ทั้งการจัดหาวัตถุดิบและจัดทำแผนงาน มาเสนอต่อกระทรวงฯพิจารณา เพื่อนำเรื่องรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้หน่วยงานต่างเข้ามาร่วมบูรณากาผลักดันโครงการฯต่อไป โดยคาดว่า หากสามารถเซ็นสัญญาจัดตั้งโรงไฟฟ้าได้ จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 10 เดือน โรงไฟฟ้าชุมชนแห่งแรกก็จะเกิดขึ้นได้ตามเป้าหมาย
“โรงไฟฟ้าชุมชนจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการทำสัญญาประชมคมระหว่างชุมชนกับโรงไฟฟ้า เพื่อการันตีว่า ทุกโรงไฟฟ้าจะมีส่วนสร้างรายได้ให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หากไม่มีสัญญาประชาคมร่วมจะไม่อนุมัติให้จัดตั้งโรงไฟฟ้า” สนธิรัตน์ กล่าว
ขณะที่รายละเอียดโมเดลโครงการทั้งหมดกระทรวงพลังงาน คาดว่า จะจัดทำเสร็จภายในเดือนพ.ย.นี้ ก่อนออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าที่ชัดเจนในเฟสแรกต่อไป ทั้งพื้นที่ จำนวนเมกะวัตต์ และอัตรารับซื้อไฟฟ้า เป็นต้น เบื้องต้นมีพื้นที่เป้าหมายแล้ว 30 จังหวัดทั่วประเทศ
ณัณฐณัชช์ เกิดใหม่ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอแม่แจ่ม กล่าวว่า อ.แม่แจ่ม มีประชากรอาศัยอยู่ 104 หมู่บ้าน แต่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้จำนวน 31 หมู่บ้าน และ 42 หย่อมบ้าน ปัจจุบันยังมีปัญหาไฟฟ้าตกดับเกิดขึ้นบ่อยและสร้างความเสียหายต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า ดังนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ เพราะจะทำให้มีไฟฟ้าใช้ และได้ร่วมเป็นของโรงไฟฟ้าด้วย แต่ก็ยังเป็นห่วงเรื่องของมลพิษจากการจัดตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งหากภาครัฐยืนยันว่ามีเทคโนโลยีที่ดูได้ได้จริง ก็พร้อมเข้าร่วมโครงการฯ ส่วนเรื่องของเงินลงทุนนั้น เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะสามารถจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อกู้เงินจากกองทุนฯต่างๆได้
อ.แม่แจ่ม แม้จะมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรปริมาณมาก แต่ก็มีการเพาะปลูกปีละครั้งเท่านั้น หากต้องป้อนเป็นเชื้อเพลิงเข้าสู่โรงไฟฟ้าในระยะยาว จะวางแผนการผลิตอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบหรือเกิดการถางป่าเพื่อเพิ่มการเพาะปลูกมากขึ้น อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้และป่าสงวน ฉะนั้น การจะเข้าไปดำเนินการต่างๆจะต้องศึกษาระเบียบให้รอบคอบเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะย้อนกลับมาในภายหลัง