"อนันดา"ผ่าทางรอดอสังหาฯ ‘Do or Die’ ยุคดิสรัปชั่น
“ยุคดิสรัปชั่นคือสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นจริงๆ หรือ?” เป็นคำถามแรกที่ ชานนท์ เรืองกฤตยา ซีอีโอ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ โยนให้เหล่าผู้บริหารธุรกิจที่เข้าคลาส “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟอร์ ซีอีโอ" ร่วมขบคิด วานนี้(6พ.ย.)
เพราะแท้จริงแล้วดิสรัปชั่นไม่ใช่สิ่งใหม่ ประวัติศาสตร์ของโลกฉายหนังเรื่องการดิสรัปชั่นมานาน ตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มาถึงคน จนถึงยุคหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI)ที่กำลังจะเทคโอเวอร์โลก!
“ดิสรัปชั่นไม่ใช่สิ่งใหม่ก็จริง แต่มันแรง” ชานนท์ฉายภาพชัดว่า มีกรณีศึกษาของธุรกิจเก่าแก่มากมาย แต่ต้องตายไปไม่ต่างจากไดโนเสาร์ เอาแค่เรื่องการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ ยังเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา10ปีเท่านั้น เปลี่ยนผ่านจากการส่งข้อความทั่วไป มาเป็น BBM (แบล็คเบอร์รี่ เมสเซนเจอร์)จนมาถึงแอพพลิเคชั่นสำหรับแชต เช่น วอท์สแอพ ฟากธุรกิจสตรีมมิ่ง ย้อนไปยังกรณีของ บล็อกบัสเตอร์ ซึ่งเคยปฏิเสธการซื้อหุ้นของเน็ตฟลิกซ์ เมื่อปี2001แต่สุดท้ายเป็นบล็อกบัสเตอร์ที่ต้องจากไปเสียก่อน ขณะที่เน็ตฟลิกซ์มีมาร์เก็ตแคปพุ่งต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังย้ำถึงธุรกิจสตาร์ทอัพที่ยกระดับเป็นบริษัทขนาดใหญ่ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว กรณีคลาสสิกที่ทราบกันดี มีอูเบอร์, แอมะซอน, อาลีบาบา, เฟซบุ๊ก และแอร์บีแอนด์บี ที่เล่นบท “ตัวกลาง” จนได้ดี ไม่จำเป็นต้องมีสินทรัพย์เป็นของตัวเอง ยกเว้นเทคโนโลยี
แล้วธุรกิจ “อสังหาริมทรัพย์”..จะปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด!
“อนันดาจึงปรับตัวด้วยการบอกทีมงานว่า เราขายความสะดวก ไม่ได้ขายอสังหาฯ”
จริงอยู่ที่ธุรกิจหลักของอนันดาคืออสังหาฯ แต่ได้เลือกนิยามองค์กรว่าเป็น Urban Living Solution Companyมองธุรกิจและโปรดักท์ที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในลักษณะ “ธุรกิจบริการ” มากขึ้น
หลังเห็นแนวโน้มการทรานส์ฟอร์มของธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและเคลื่อนย้าย (Mobility Technology) ที่จะเข้ามา “เปลี่ยนวิถีชีวิตคนเมือง” เช่น รถขับเคลื่อนอัตโนมัติด้วยตัวเอง หรือแม้แต่ โดรน ที่จะเปลี่ยนโฉมการเดินทางเป็นโดรนโดยสารหรือรถยนต์บินได้ หลังจากหลายๆ บริษัทได้ประกาศพัฒนาและทดสอบโปรดักท์แล้ว เช่น Ehang, Toyota, AirbusและUberซึ่งรายหลัง ทางอนันดาจะนำโดรนของค่ายนี้มาทดสอบการบินในปีหน้า
“เมื่อเทคโนโลยีการเคลื่อนย้ายขนส่งผู้โดยสารพัฒนาไปในทิศทางนี้ อนันดามองว่าธุรกิจอสังหาฯก็จะโดนดิสรัปทั้งหมด จนเกิดคำถามว่า โลเกชั่นที่เคยพูดกันว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและตัดสินใจซื้ออสังหาฯนั้น ต่อไปนี้จะยังสำคัญอีกหรือไม่ แล้วถ้าโลเกชั่นและถนนไม่สำคัญอีกต่อไป จะทำอย่างไร โดยอนาคตพื้นที่ใช้สอยที่แพงที่สุดจะเป็นดาดฟ้าของแต่ละตึก เพราะสามารถใช้เป็น Air Sky Portให้โดรนโดยสารลงจอดได้ อนันดาจึงศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจนี้อย่างจริงจัง”
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่อง “โลกร้อน” (Climate Change) ที่ส่งผลอย่างยิ่งต่อธุรกิจอสังหาฯ เช่นกัน หลังจากมีคาดการณ์ว่าในปี2050หรืออีก30ปีข้างหน้า กรุงเทพฯจะเป็น “เมืองใต้น้ำ” พื้นที่บางส่วนหายไป จนพูดถึงประเด็นการย้ายเมืองหลวง พอถึงวันนั้นแล้วกรุงเทพฯจะอยู่อย่างไร ในภาวะที่คนยังแห่เข้ามาอาศัยในเมืองมากขึ้น ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่อนันดาต้องเตรียมการรับมือ หาโซลูชั่นให้เจอ
ขณะที่ความฉลาดของหุ่นยนต์และAIที่จะเหนือกว่ามนุษยชาติราวปี2040ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจโลก เมื่อสามารถเชื่อมระบบAIมายังสมองคนเราได้ และจะทำให้คนเราฉลาดล้ำเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่สั่งสมมากว่า12,000ปี ซึ่งผ่านการดิสรัปชั่นมาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะช่วงเวลา150ปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ และวิทยาการเปลี่ยนโลกไว้มากมาย ไล่เรียงตั้งแต่เครื่องจักรไอน้ำรถไฟ ไฟฟ้า หลอดไฟ โทรศัพท์ มาจนถึง “ระบบอินเทอร์เน็ต” ที่จะเชื่อม “ทุกคนบนโลก” ได้อย่างสมบูรณ์ภายในปี2023หรือแค่3ปีข้างหน้าเท่านั้น เพราะฉะนั้น...ธุรกิจไหนไม่ “ค้าออนไลน์” จุดจบอาจหนีไม่พ้นคำว่าตาย
“เมื่อโลกเชื่อมกันสมบูรณ์ด้วยเทคโนโลยี แล้วผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ (ดีเวลลอปเปอร์) จะทำอย่างไร เป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจมีCrowdfundingหรือการระดมทุนจากฝูงชน มาลงขันกัน อาจจะผ่านรูปแบบเงินดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี่) มาออกแบบร่วมกันว่าอยากได้อาคารแบบไหน โดยไม่ต้องมีดีเวลลอปเปอร์อีกต่อไปก็ได้ ผมกำลังทำนายว่าในตลาดน่าจะมีดีมานด์เรื่องนี้ โดยไม่ต้องมีดีเวลลอปเปอร์เป็นตัวกลางในการพัฒนาอสังหาฯอีกต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ชานนท์ มองว่า สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ท้าทายที่สุดขององค์กรในยุคดิสรัปชั่นไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องมายด์เซ็ทของ “คนในองค์กร” มากกว่า ว่าจะยอมเปลี่ยนหรือไม่ หากทุกคนในองค์กรดื้อกันหมด ไม่ยอมเปลี่ยน องค์กรก็เดินต่อไปยาก แม้ว่าวันนั้นจะซื้อเทคโนโลยีมูลค่าพันล้านบาทมาก็ไม่ช่วยอะไร ความร่วมมือของคนในองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และความร่วมมือนั้นเกิดขึ้นได้จากการคุยกันของคนทุกเจเนอเรชั่นให้รู้เรื่อง
“วัฒนธรรมองค์กร” จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการปรับตัว เหมือนกับวรรคทอง “Culture eats Strategy for Breakfast” ของPeter Druckerที่ ชานนท์ ชื่นชอบ
“ผมไม่ได้บอกว่าอนันดาเป็นองค์กรที่เพอร์เฟ็ค แต่ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ จะเริ่มเมื่อไร คำตอบชัดอยู่แล้วว่าเริ่มกันวันนี้เลยดีที่สุด เราจึงลองลุยธุรกิจใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยี ทำผิดๆ ถูกๆ ก็มี แต่นั่นคือบทเรียนมากคุณค่าให้ได้เรียนรู้”
เข้าทำนอง “Do or Die” ก่อนที่ธุรกิจจะตายไปจากโลก!