หมากล้อมของจีน

กลยุทธ์การช่วงชิงอำนาจของจีนและสหรัฐต่างเดินหมากที่แตกต่างกัน ฝั่งจีนถนัดเดินหมากล้อม ที่วางกลยุทธ์แบบกระจัดกระจาย ขณะที่สหรัฐถนัดหมากรุก ชี้ชัดเด็ดขาด แต่สหรัฐไม่อาจมองข้ามไปได้

สหรัฐและจีนต่างก็เป็นชาตินักกลยุทธ์ทั้งคู่ ทราบไหมครับว่า ในสหรัฐ โรงเรียนการทหารที่มีชื่อเสียงอย่าง West Point ถือว่าการสอนเรื่องกลยุทธ์เป็นหัวใจของหลักสูตรการศึกษาของทหาร ทำให้นายทหารสหรัฐผ่านการเรียนรู้เบื้องหลังชัยชนะในยุทธการสงครามต่างๆ ในประวัติศาสตร์โลกมาอย่างช่ำชอง ส่วนในจีนนั้น แต่ไหนแต่ไรมาปราชญ์จีนโบราณก็ได้เรียบเรียงตาราพิชัยสงครามไว้หลากหลายสำนักคิด เพื่อถอดรหัสกลศึกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในสมรภูมิ

ในหนังสือเล่มใหม่เรื่อง Trump vs. China : America’s Greatest Challenge ของ Newt Gingrich อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ ได้อ้างอิงงานของ David Lai ศาสตราจารย์ประจำที่ The U.S. Army War College ซึ่งได้เคยเขียนเปรียบเทียบความต่างระหว่างการคิดเชิงกลยุทธ์แบบจีนกับแบบสหรัฐ โดยมองว่าจีนคิดแบบหมากล้อม ส่วนสหรัฐคิดแบบหมากรุก!!

ในหนังสือก้องโลกเรื่อง On China ของ Henry Kissinger นักการทูตชั้นครูของสหรัฐ ก็ได้กล่าวเปรียบเทียบในทำนองเดียวกัน โดยอธิบายว่า วัฒนธรรมหมากรุกแบบสหรัฐนั้น เก่งในศึกใหญ่ที่ชี้ขาดความเป็นความตาย ส่วนวัฒนธรรมหมากล้อมแบบจีนนั้น เก่งในศึกการรบยืดเยื้อยาวนาน

157309974621

หมากล้อมหรือ "โกะ" เป็นเกมโบราณของจีนที่มีชื่อเสียงด้วยกติกาที่เรียบง่าย แต่ลึกซึ้งและซับซ้อนยิ่ง เป็นเกมที่ฝึกการคิดเชิงกลยุทธ์ได้อย่างยอดเยี่ยม ตัวหมากนั้นมีเพียงหมากขาวกับหมากดำ โดยต่างฝ่ายต่างเล่นเพื่อล้อมพื้นที่และกินหมากอีกฝ่าย ฝ่ายใดที่สร้างพื้นที่ได้มากกว่าอีกฝ่าย แม้เพียง 1 คะแนน ก็จะเป็นฝ่ายชนะ

ลองมาดูความแตกต่างที่สำคัญ ระหว่างลักษณะของเกมหมากล้อมกับเกมหมากรุกกันครับ

หนึ่ง หมากล้อมอาศัยการวางหมาก เปิดเกมพร้อมกันทีเดียวหลายพื้นที่ในกระดาน ในขณะที่หมากรุกเป็นเกมที่มีจุดหมายชัดเจนที่การรุกฆาตตัวคิงของฝ่ายตรงข้าม

สหรัฐ เก่งในการวางแผนในศึกที่ชัดเจนและเฉพาะจุด ในขณะที่จีนนั้น ชอบทำศึกกระจัดกระจายและวางหมากหลากหลายในเวลาเดียวกัน ในหนังสือของ Newt Gingrich ยกตัวอย่างหมากของจีน ได้แก่ เกมการรุกด้าน 5G ของหัวเว่ย การรุกสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ การปล่อยเงินกู้ให้ประเทศยากจนตามยุทธศาสตร์ Belt & Road ตลอดจนการเดินเกมเข้ายึดครองเทคโนโลยีตะวันตก

ในเกมหมากล้อมนั้น ตัวหมากทุกตัวล้วนมีความสำคัญเท่าเทียมกันทั้งหมด และอาจส่งผลแพ้ชนะได้ด้วยพลังการสร้างสรรค์ของผู้เล่นในการวางหมาก แตกต่างจากในเกมหมากรุก ซึ่งมีตัวคิงเป็นตัวสำคัญที่สุดและต้องรักษาให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรุกฆาตตัวคิงของฝ่ายตรงข้ามเพื่อคว้าชัยชนะ

ดังนั้น หากสหรัฐคิดว่ากำลังเล่นหมากรุกกับจีน โดยจับจ้องไปที่ตัวคิง แต่ปรากฏว่าแท้จริงแล้ว พี่จีนกำลังเล่นหมากล้อม สหรัฐก็จะตามไม่ทันเกมของจีนที่วางหมากไว้หลากหลาย โดยที่หมากแต่ละตัวของจีน บางหมากแม้อาจดูไม่โดดเด่นหรือไม่น่าจะสำคัญนัก แต่ก็อาจเป็นตัวหมากที่ชี้เป็น ชี้ตายในท้ายที่สุดได้ในเกมของหมากล้อม

สอง ในเกมหมากล้อม หมากทุกตัวที่วางไปล้วนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน การเปิดเกมในแต่ละจุดของกระดาน ล้วนมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมโยง และนำไปสู่ชัยชนะในตอนจบเกม เกมการเล่นในพื้นที่หนึ่งของกระดาน จึงต้องมองอีกพื้นที่หนึ่งประกอบ และมองภาพทั้งกระดานใหญ่ด้วย

ความหมายก็คือ ในเชิงกลยุทธ์หมากต่างๆ ของจีนที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นการรุกด้าน 5G การรุกในทะเลจีนใต้ การเดินหน้า Belt & Road ตลอดจนการเข้ายึดครองเทคโนโลยีตะวันตก ล้วนมีความเชื่อมโยงและส่งผลต่อกัน ในมุมของจีนนั้น มิติด้านเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี ยังสัมพันธ์กัน ทั้งสิ้น เป้าหมายสุดท้ายคือการรักษาอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์และการรื้อฟื้นความแข็งแกร่งของชาติจีน

หมากล้อมเป็นเกมที่มีพลวัตรสูง นั่นคือ มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดในทุกการวางหมาก แตกต่างจากหมากรุก ซึ่งไม่ซับซ้อนเท่าและสามารถวางกลยุทธ์ระยะยาวได้พอสมควร แต่เมื่อพิจารณาดูในเกมหมากล้อม ผู้เล่นจำเป็นต้องปรับแผนการเล่นตลอดเวลา และต้องคอยทำความเข้าใจสถานการณ์ ความได้เปรียบเสียเปรียบในภาพรวมอยู่ตลอดเวลาด้วย จึงจะรู้ว่าเมื่อไรควรรุก เมื่อไร ควรตั้งรับ ในพื้นที่ใดควรเดินหน้าสู้ ในพื้นที่ใดควรยอมยกธง โดยมองผลกระทบต่อภาพรวมของทั้งกระดานเป็นหลัก

ในเกมหมากล้อม ชัยชนะในระยะสั้นในแต่ละพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าคือชัยชนะระยะยาว โดยความแตกต่างจากหมากรุก คือไม่มีตัวขุนหรือจุดใดที่สำคัญอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นในเกมหมากล้อม ผู้เล่นจึงอาจยอมแพ้ในบางจุดได้ บางครั้งการยอมแพ้ในบางจุด อาจเป็นทางนำไปสู่ชัยชนะเสียอีก อย่างเช่นการที่จีนดูเหมือนกำลังจะยอมถอย และให้ชัยชนะในเรื่องสงครามการค้ากับสหรัฐในเฟสแรก ก็อาจเป็นหนึ่งในการเดินหมากสำหรับเกมใหญ่ระยะยาว

สาม หมากล้อมเป็นเกมที่การชนะระหว่างผู้เล่นที่ฝีมือใกล้เคียงกัน มักเป็นการชนะอย่างสูสี ไม่ใช่การชนะขาดแบบหมากรุก เป้าหมายสำคัญคือการชนะทีละนิดทีละหน่อยในแต่ละจุด และในคู่แข่งขันที่สูสี ผลสุดท้ายมักเป็นการชนะแต้มเพียงเล็กน้อย

แก่นของตาราพิชัยสงครามซุนวูของจีน แท้จริงแล้วสอนให้หลีกเลี่ยงที่จะรบแตกหัก โดยเฉพาะการรบเผชิญหน้า ตัดสินแพ้ชนะด้วยกำลังในครั้งเดียวแบบเกมหมากรุก แต่ให้ปรับมุมคิดมาอาศัยเกมการทูต เกมหลอกล่อ และเกมการต่อสู้ ยืดเยื้อหลากหลายดังเกมหมากล้อม

มองจากมุมหมากล้อม กลยุทธ์ของจีน อาจไม่ใช่การต้องการรุกฆาตคว่าสหรัฐ เหมือนกับที่สหรัฐรุกฆาตคว่ำสหภาพโซเวียต แต่เป็นเพียงการรักษาพื้นที่ของตัวเอง หลีกเลี่ยงการถูกสหรัฐปิดล้อม และต่อสู้กับสหรัฐ ในเกมการต่อสู้ระยะยาวที่ทั้งคู่ต่างมีกำลังสูสีกัน ขณะเดียวกันวัฒนธรรมหมากล้อมก็อาจอธิบายการเดินเกมของจีนที่ต้องการสร้างอิทธิพลในพื้นที่ต่างๆ จนนักวิเคราะห์บางคนถึงกับมองว่า ยุทธศาสตร์ Belt & Road ก็เหมือนการเดินเกมหมากล้อมของจีนที่กำลังออกไปกินพื้นที่ล้อมคู่แข่งและล้อมโลก

ข้อคิดสำคัญจากผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ในสหรัฐ ก็คือถ้าสหรัฐเล่นหมากล้อมกับจีน โดยใช้วิธีคิดแบบหมากรุก ก็จะเป็นเรื่องผิดพลาดมหันต์ เพราะจะมองไม่เห็นความเชื่อมโยงของหมากของจีนในจุดต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมกัน โดยจะเผลอสนใจเพียงบางเกมหรือเพียงตัวหมากที่เป็นคิง ซึ่งตนคิดว่าสำคัญ แต่มองไม่ขาดภาพใหญ่ทั้งกระดาน

ส่วนอาเซียนเราที่กำลังประชุมใหญ่อยู่ในขณะนี้ ได้รู้ตัวไหมว่ากำลังเป็นตัวหมากสำคัญตัวหนึ่งในเกมหมากล้อมของจีน และเกมหมากรุกของสหรัฐ? แล้วอาเซียนจะเล่นตัวอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างต้องใช้เราเป็นหมากในเกมการช่วงชิงมหาอำนาจโลก?