SB19 ชุมพรโมเดลแปลงฐานทุน สร้างคุณค่าชุมชนเหนือราคา
เปิดโมเดล “Sustainable Brand” สูตรการบริหารจัดการจาก 5 ทุน ชุมชนสู่คุณค่าที่นักท่องเที่ยวถวิลหา ยอมจ่ายเพื่อเรียนรู้วิถีชุมชน นักท่องเที่ยวคุณภาพกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเติบโตมีเศรษฐกิจมั่นคงบนฐานทุนทรัพยากรท้องถิ่น
การที่ธุรกิจจะเติบโตไปพร้อมกันการเป็นแบรนด์ยั่งยืนได้ จะต้องวางจุดสมดุลห่วงโซ่คุณค่ากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders)ที่ไม่ใช่เพียงลูกค้าหรือผู้ถือหุ้น แต่ยังรวมถึงเส้นทางการผลิต ขายจนถึงผู้บริโภค จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ การสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เช่นเดียวกันกับเป้าหมายของการจัดประชุมสัมมนา “Sustainable Brand” แบรนด์ยั่งยืน (SB)ในปี 2019 ที่ระดมแนวคิดสร้างพลังแห่งความยั่งยืนในเวทีระดับโลกมาแล้วในหลายประเทศ
โดยมี ดร.ศิริกุล เลากัยกุล Country Director, Sustainable Brands Thailand ผู้นำแนวทางการสร้างแบรนด์ยั่งยืน ผ่านการสัมมนา“ Sustainable Brand”ให้เกิดขึ้นในไทย ถือเป็นประเทศแรกในอาเซียน โดยจัดงานในไทยมาแล้ว 4 ครั้ง เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดจากนักธุรกิจ นักการตลาด ผู้ทำโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม(CSR) และผู้บริหารจากองค์กรธุรกิจชั้นนำในทุกขนาด ให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรธุรกิจชั้นนำ ธุรกิจขนาดเล็ก และชุมชน เพื่อสร้างพลังแห่งความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแก่ประเทศไทย โดยการน้อมนำ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ในการทำงานเพื่อชุมชน มีหลักการเน้นการแบ่งปันองค์ความรู้ความร่วมมือของชุมชนและการสร้างผลของการประชุมที่จับต้องได้ชุมชนสามารถนำไปใช้ได้จริงจึงถือได้ว่าเป็นแบรนด์ที่มีอายุยาวนาน
การประชุมSBในปี2019 ภายใต้แนวคิด SB’19 Oceansand beyond สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร เขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร เป็นครั้งแรกที่ออกไปสัมมนาต่างจังหวัด โดยจังหวัดชุมพรเป็นกรณีศึกษา เพราะเป็นหนึ่งในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งผลิตอาหารทะเลและแหล่งท่องเที่ยงเชิงนิเวศน์ ตลอดจนชุมชนที่แข็งแกร่งที่ร่วมมือกับภาคธุรกิจในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน จึงยังถือเป็นเมืองที่มีป่าเขียวชอุ่มและเป็นแหล่งผลิตกาแฟโรบัสต้า ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ รวมไปถึงผลผลิตทางการเกษตรหลากหลาย เช่น กล้วยเล็บมือนาง จึงทำให้ SB19 นำภาคธุรกิจและผู้เกี่ยวข้องไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนจริง พร้อมกันกับงานสัมมนา
ในห้องเสวนากลุ่มย่อย “Sustainable Destination” ผศ.วัชระ ศิลป์เสวตร์ รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดี วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้นำเสนอการบริหารจัดการท่องเที่ยวยั่งยืน ว่าต้องเริ่มจากการสร้างเครือข่ายธุรกิจ รวมไปถึงแสวงหาความร่วมมือจากคนในชุมชน เพื่อดึงให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมสร้างความสุขอย่างยั่งยืนจากการท่องเที่ยว ที่จะมีส่วนลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
ขณะที่จุดหมายปลายทางความเป็นหมู่บ้าน ชุมชน อยู่ในจุดที่เป็นเทรนด์โลก คนโหยหา จะเห็นว่าหลายคนที่สร้างบ้านหลังที่สองโดยมุ่งเน้นรูปแบบหลังคามุมจากอย่างสมัยก่อน เพราะคนในยุคนี้ต้องการสุนทรียะของชีวิตมนุษย์ ที่แท้จริง นั่นคือวิถีชุมชนที่ทุกคนขาดหายเพราะชีวิตมีไลฟ์สไตล์แบบคนเมือง”
เทรนด์ท่องเที่ยวในยุคปัจจุบันจึงนิยมท่องเที่ยวที่สร้างคุณค่าในรูปแบบของการทำงานเพื่อชุมชน และสังคม เช่น การเป็นอาสาสมัครพัฒนาชุมชน (Volunteer Tourism)ดังนั้นชุมชนของไทย มีสิ่งที่สร้างคุณค่าที่จะต้องดึงกลับมา สร้างโอกาสให้ชุมชนไทย ได้เติบโตควบคู่กับกระแสโลกยุคดิจิทัล ด้วยการบริหารจัดการภูมิปัญญาท้องถิ่น “Wisdom management” ถือเป็นคุณค่าทางประสบการณ์ที่ทุกคนยอมจ่ายโดยไม่คำนึงถึงราคา
“ในทุกชุมชนจะมีธาตุแท้ที่เป็นคุณค่า (Value)ที่เหนือคำว่า ราคา (Price)เพราะคุณค่าคือสิ่งที่ได้รับ แต่ราคาคือสิ่งที่จ่ายไป การจัดการท่องเที่ยวชุมชนโดยออกแบบการเรียนรู้วิถีชุมชน วัฒนธรรม ชิมของดีท้องถิ่น เช่นกาแฟ โรบัสต้า ชุมพร หากจับดีๆ เป็นมูลค่าทางธุรกิจที่ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร เพราะทุกชุมชนมีในตัว เพราะอัตลักษณ์ และมีความหลากหลาย"
สิ่งสำคัญคือการบรหารจัดการภูมิปัญญา ที่จะต้องมีการถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนให้กับผู้มาเยือน โดยมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง มีการจัดการอย่างมืออาชีพ มีการสื่อสารบอกเล่าเรื่องราว (Story telling)ดูเรื่องความจัดการมืออาชีพผู้นำที่ที่สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน มีการจัดกิจกรรมสร้างคุณค่าและประสบการณ์ให้กับนักท่องเที่ยว เช่น กิจกรรมปล่อยลูกปูของเกาะไข่ กิจกรรมเก็บขยะชายหาด ชมปลาฉลามวาฬ กิจกรรมล่องแพและชมธรรมชาติ เที่ยวชมวิถีชุมชนและชิม ช้อป ใช้ อาหารและสินค้าตามวิถีชุมชน
การพัฒนาคุณค่าชุมชน มีองค์ประกอบ5ด้าน ประกอบด้วย1.ทุนธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศ2.ทุนกายภาพ ทุนที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น การเลี้ยงปลา ธนาคารปู3.ทุนมนุษย์ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ถือเป็นทุนอันทรงคุณค่าของชุมชน4.ทุนทางสังคม อัตลักษณ์ท้องถิ่น วัฒนธรรม ความสามัคคี และ5.ทุนทางการเงิน การรวมกลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์ โฮมสเตย์ ที่มีการปันผลให้กับสมาชิก
“สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนถือเป็นทุนของชุมชน ภาคการเกษตร สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ดึงดูดทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมสร้างประสบการณ์ในชุมชน เช่น สวนพันพรรณ ที่ให้เข้าไปเรียนรู้การสร้างบ้านดิน”
อำพล ธานีครุฑ หรือผู้ใหญ่หรั่ง แห่งชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์ ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร คือหนึ่งในแกนนำผู้เปลี่ยนวิถีหมู่บ้านที่ทำประมงตามวิถีดั้งเดิม หารายได้เลี้ยงชีพและครอบครัวด้วยการจับปลา ที่ต้องต่อสู้กับต้นทุนอุปกรณ์จับปลา แต่ราคาขายปลากลับลดลง จึงชักชวนชาวบ้านร่วมกันคิด วางแผนพัฒนารายได้ให้ชุมชน ผ่านการท่องเที่ยว ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการที่นักท่องเที่ยวมาเยือนเพื่อเรียนรู้ชุมชน ตั้งแต่ปี 2539 มีการบริหารจัดการห้องพักโฮมเสตย์ จนชุมชนเติบโตและมีชื่อเสียงจากจำนวนการการมาเยือนของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่แสวงหาสิ่งที่แตกต่าง ปัจจุบันชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์ เป็นหนึ่งในชุมชนหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village: CIV)
ผู้ใหญ่หรั่งเล่าบนเวทีเสวนาว่า เริ่มต้นจากการปรับทัศนคติชองคนในชุมชนให้เห็นคุณค่าในตัวเอง จากที่สิ้นหวังกับการที่ชาวบ้านธรรมดาไม่มีอำนาจต่อรอง จากนั้นจึงลุกขึ้นร่วมมือกันจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นดูแลรักษา สร้างรายได้ และแบ่งปันผลประโยชน์ให้มีการกระจายตัวในชุมชน มีการกระจายรายได้ ทำให้ทุกคนพึงพอใจและมีพร้อมมีส่วนร่วม
“หัวหน้าชุมชนต้องจับใจชุมชนให้ได้ ทำให้คนท้องถิ่นภูมิใจในการมีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่น มีการเชื่อมโยงคน ปราชญ์ชาวบ้าน และสร้างรายได้ ดึงเด็กรุ่นใหม่เข้ามาช่วย เปลี่ยนแนวคิดอาชีพ จากนักล่าจับปลาทำประมงอย่างเดียวจนขาดทุน มาสู่การทำอาชีพอย่างมีจิตสำนึก ดูแลทรัพยากร โดยใช้ทุนชุมชน องค์ความรู้ ธรรมชาติป่าชายเลน หาดทราย คนในชุมชนช่วยบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวต่อจิ๊กซอว์ความคิดสร้างสรรค์ เชื่อมโยงคนรอบข้าง ระดับจังหวัดและภูมิภาค ทำให้ทุกคนมีความสุขจากการมีส่วนคิดและแบ่งปันผลประโยชน์ ก็จะเกิดรอยยิ้มความสุขจากชุมชน ส่งต่อให้กับนักท่องเที่ยว”