ขวดสีไม่ดียังไง? กระทั่ง 'สไปรท์' ยังต้องเปลี่ยน

ขวดสีไม่ดียังไง? กระทั่ง 'สไปรท์' ยังต้องเปลี่ยน

แม้ขวดพลาสติกสีดูสวยงาม แต่หากมองอีกด้านหนึ่งพลาสติกประเภทนี้แทบจะรีไซเคิลไม่ได้ เพราะต้องแยกเม็ดสีที่มีมากถึง 300,000 โทนสี ออกมาก่อนแปรรูป จึงทำให้เหลือตกค้าง นี่คงเป็นโจทย์ใหญ่ของแบรนด์สินค้าที่ต้องเปลี่ยนมาสู่พลาสติกใสที่สามารถแปรรูปได้ง่าย

จากประเด็น "สไปรท์" ยอมสละภาพจำ จากขวดพลาสติกสีเขียวที่คนทั้งโลกจดจำได้เป็นสิบๆปี มาสู่ "ขวดพลาสติกใส" โดยเป็นการเปลี่ยนทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น

เรื่องนี้ไม่ใช่เล็กๆ อย่างแน่นอน ซึ่งทางแบรนด์ให้เหตุผลในเรื่องมูลค่าบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างมาก และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างไม่รู้จบ ทำให้เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

สงสัยกันไหมว่า ขวดพลาสติกสีเขียวไม่ดียังไง ทำไมต้องเปลี่ยน?​

ประเด็นแรก บางคนอาจเคยได้ยินว่า ขวดพลาสติก PET สีเขียวแบบเดิมไม่สามารถรีไซเคิลได้ ...เรื่องนี้จริงหรือไม่?

  • ก่อนอื่นมารู้จักพลาสติก PET กันก่อนว่าคืออะไร?

พลาสติก PET หรือ Polyethylene terephthalate มีจุดเด่นอยู่ที่มีความแข็งแรง สีใส มีความเหนียวสูง ทำให้สามารถป้องกันไม่ให้ก๊าซ ไอน้ำ และไขมันซึมผ่านออกมาได้ ทนแรงกระแทกได้ดี  ที่สำคัญมีน้ำหนักเบา แน่นอนว่าด้วยคุณสมบัติที่ครบถ้วนนี้ทำให้อุตสาหกรรมอาหารนิยมนำไปใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ เช่น ขวดเครื่องดื่ม น้ำเปล่า หรือน้ำมัน เป็นต้น นอกจากนี้อุตสาหกรรมอื่นๆ ก็มีการนำไปใช้เช่นเดียวกัน

จริงๆ พลาสติกประเภท PET นี้ สามารถนำมารีไซเคิลได้ จากขั้นง่ายๆ คือรียูสนำมาใช้ใหม่ ไปถึงขั้นแอดวานซ์ แปรรูปออกมาเป็น "เส้นใย" ทำเสื้อกันหนาว พรม และใยสังเคราะห์ในหมอน อย่างเช่น Adidas ที่ผลิตรองเท้าจากเส้นใยพลาสติก, Nike ก็ขอร่วมรักษ์โลกโดยการออกชุดนักกีฬาจากขยะพลาสติก หรือเอาใจสายแฟชั่นนิสต้า เสื้อผ้าขยะรีไซเคิลกิ๊บเก๋แบรนด์ Ecoalf สัญชาติสเปน และล่าสุดยูนิโคล่ก็ประกาศขอแจมเอาขวดพลาสติกมาแปรรูปเป็นเส้นใยไฟเบอร์ ตัดเย็บเสื้อผ้าอีกด้วย

157382126618

ขณะเดียวกันการแข่งขันทางด้านการตลาดของอุตสาหกรรมอาหารค่อนข้างสูง จึงทำให้แต่ละบริษัทหรือแบรนด์ต้องหาลูกเล่นใหม่ๆ บนบรรจุภัณฑ์พลาสติก PET  ทั้งรูปลักษณ์ และเปลี่ยนพลาสติกจากใสๆ ไม่มีสี ให้เป็นสีสันสดใส เพื่อดึงดูดกลุ่มบริโภคและสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ของตัวเอง

157382541670

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาเข้าร้านสะดวกซื้อ เปิดตู้ส่องขวดเครื่องดื่มบนชั้นวาง แล้วก็พบว่ามีเกือบ 10 แบรนด์ที่ยังใช้ขวดตลาสติกสีสันสดใส ไม่ว่าจะเป็นน้ำเปล่า น้ำหวานกลิ่นผลไม้ เครื่อดื่มชาเขียวยอดนิยม จนถึงน้ำวิตามินยี่ห้อดัง รวมถึงเชลฟ์น้ำอัดลม ต่างก็ไม่พลาดที่จะเลือกใช้พลาสติก PET สีสดใส สะดุดตา โดยหวังที่จะเรียกความสนใจจากลูกค้ายามกวาดตามอง

แน่นอนว่าในแง่ของการตลาดนั้นถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ด้านของการรีไซเคิลหรือการแปรรูปพลาสติก PET สี เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่นั้น อาจเรียกได้ว่า "ล้มเหลว"

จากข้อมูลของ สมาคมรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้วในสหรัฐอเมริกา (The Association of Postconsumer Plastic Recyclers : APR) ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งที่มีการรีไซเคิลพลาสติก PET ขนาดใหญ่ของโลก ได้พูดถึงการรีไซเคิลขวด PET แบบใส ไม่มีสี ว่า มีมูลค่าสูงที่สุด และสามารถเอาไปทำผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายมาก

แต่เทรนด์ของตลาดที่เกิดบรรจุภัณฑ์สีสันสดใส ก็ส่งผลให้มีการใช้เม็ดสีในพลาสติก PET มากกว่า 300,000 โทนสี รวมทั้งสีขาวและสีดำด้วย แต่ตลาดของอุตสาหกรรมรีไซเคิลไม่สามารถรองรับสีพิเศษที่เพิ่มขึ้นมาเหล่านั้นได้ เพราะการรีไซเคิลนั้นต้องใช้เทคโนโลยีในการแยกเม็ดสีอื่นๆ ออกจากสีขาว รวมถึงต้องย้อมเพื่อให้เป็นสีดำหรือเทา ก่อนจะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งยังไม่มีอุตสาหกรรมที่รองรับการรีไซเคิลเหล่านี้ในจำนวนมากๆ ได้ และมีการปนเปื้อนสูง

ย้อนกลับมาดูที่บ้านเรา ก็เคยมีการตั้งคำถามถึงการนำขวดพลาสติกไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่า ว่าทำไมเมื่อเอาขวดพลาสติก PET แบบสีไปขายถึงไม่รับซื้อ ก็ได้คำตอบคล้ายๆ กันว่าเมื่อเอาพลาสติกเหล่านี้ไปแปรรูปทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้เพียงอิฐ ซึ่งยังไม่มีตลาด ร้านรับซื้อบางแห่งจึงขอไม่รับซื้อ PET แบบสีเลย 

157382151179

เมื่อได้ไปดูราคารับซื้อจากเว็บไซต์ของผู้เล่นรายใหญ่ของวงการรับซื้อของเก่า "วงษ์พาณิชย์" จะเห็นว่าพลาสติก PET แบบใสมีราคาสูงกว่า PET สี ค่อนข้างเยอะ แยกเป็น

  • ขวดน้ำ PET ใส ราคา 6 บาท/กิโลกรัม
  • ขวดน้ำ PET สีเขียว ราคา 1 บาท/กิโลกรัม
  • ขวดน้ำ PET ใส (สกรีน) ราคา 0.50 บาท/กิโลกรัม*ราคา ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2562

ตอกย้ำแนวโน้มฝั่งผู้ประกอบการที่ไม่รับซื้อหรือรับซื้อขวดพลาสติกสีในราคาถูก ด้วยงานวิจัยของ "เต็ดตรา แพ้ค" ผู้นำโซลูชั่นบรรจุภัณฑ์อันดับต้นๆ ของโลก ที่คำนวณออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ พบว่าผู้บริโภคกว่า 63% เริ่มตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและมองเป็นเรื่องใกล้ตัว และยังเห็นว่าเรื่องนี้แยกไม่ออกจากเรื่องของสุขภาพที่อาจได้รับผลกระทบตามมาด้วย

ดังนั้นผู้บริโภคจะเริ่มตระหนักและมองหาผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ ผู้บริโภคก็พร้อมที่ซื้อทันทีและจะยอมจ่ายแพงมากขึ้นด้วย

ทำให้การทำธุรกิจในอนาคต จะคิดเพียงเรื่องกำไรอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมองด้วยว่าธุรกิจจะสามารถทำอะไรกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อมได้บ้าง เพราะอนาคตผู้บริโภคจะไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์ใหญ่ๆ เหมือนเมื่อก่อนแล้ว

ดังนั้นคงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจะต้องไปคิด และวางแผนการทำการตลาดรูปแบบใหม่ ทดแทนการใช้พลาสติกลง เพื่อเป็นอีกหนึ่งส่วนเล็กๆ ที่จะช่วยผลักดันลดหรือชะลอผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะแย่ลงในอนาคต