จากฟาร์มฮอปส์ 'เดวา' สู่ โค-บริวเวอรี่ สเปซ

จากฟาร์มฮอปส์ 'เดวา' สู่ โค-บริวเวอรี่ สเปซ

จากความฝันของอดีตนักซอฟต์แวร์ที่อยากผลิตคราฟท์เบียร์เป็นงานอดิเรกสู่การทำฟาร์มฮอปส์ ‘เดวา ฟาร์ม’ ในรูปแบบ สมาร์ทฟาร์ม ที่สามารถปลูกฮอปส์ได้ แม้จะไม่ใช่เมืองหนาว เเถมยังมีสามารถนำผลผลิตมาใช้ ผลิตคราฟท์เบียร์ ‘เทพพนม’ ให้คอเบียร์ชาวไทยได้ลิ้มลอง

ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ เจ้าของฟาร์มฮอปส์ อดีตเคยเป็นเจ้าของบริษัทผลิตซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นผู้ผันตัวเองมาสวมบทบาทเกษตรกรปลูกฮอปส์ในโรงเรือน หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในการทำคราฟท์เบียร์ กล่าวว่า จุดเริ่มเกิดจากการชอบดื่มเบียร์ และเคยไปเรียนทำคราฟท์เบียร์จึงรู้ว่าดอกฮอปส์เป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักของการทำเบียร์ ซึ่งมี 4 อย่าง คือ มอลต์ ฮอปส์ ยีสต์ และน้ำ ซึ่งฮอปส์ปลูกได้เฉพาะในเมืองหนาวเท่านั้น แต่ด้วยความอยากทดลองปลูก จึงลองสั่งเหง้าฮอปส์จากสหรัฐอเมริกา มาปลูกในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศร้อนชื้น เพราะที่ผ่านมามีปลูกกันบ้างที่ภาคเหนือ แต่ผลผลิตไม่มากแต่ ในภาคกลางยังไม่มีใครปลูก ในปี2558 จึงลองปลูกในกระถางไว้ในห้องขนาด 12 ตารางเมตร เปิดแอร์ 25 องศาเซลเซียส ตลอด 24 ชั่วโมงปรากฏออกดอก ภายในเวลาแค่ 4 เดือน

หลังจากนั้นได้นำความรู้เชิงโปรแกรมเมอร์มาประยุกต์ ทุกอย่างควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ รวมถึงสมาร์ทโฟน ที่เขียนซอฟต์แวร์ควบคุมเอง ทำเซ็นเซอร์เอง เดินระบบให้น้ำ ให้ปุ๋ยอัตโนมัติเข้ามาใช้โรงเรือนฮอปส์จะถูกควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ร้อนเกินไป จะมีที่พ่นหมอก มีเซ็นเซอร์คอยวัดอุณหภูมิตลอดเวลา หากร้อนเกินไปหมอกจะถูกพ่นออกมาเพื่อรักษาอุณหภูมิและความชื้น ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถปลูกพืชเมืองหนาวอย่าง ฮอปส์ ที่ปกติต้องปลูกในพื้นที่อากาศติดลบ มาปลูกในเมืองร้อนได้

ทุกอย่างศึกษาจากอินเตอร์เน็ต และหนังสือทั้งในและต่างประเทศ ต้องอาศัยความมุ่งมั่นที่เรียนรู้ในการลองผิดลองถูกอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี

ณัฐชัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผมทำบริษัทซอฟต์แวร์ แล้วไปเรียนทำคราฟท์เบียร์เป็นงานอดิเรก ทำให้รู้ว่าวัตถุดิบของการทำเบียร์ต้องนำเข้าแทบจะ 100% ไม่ว่าจะ มอลต์จากข้าวบาร์เลย์ ยีสต์ และฮอปส์ซึ่งต้องนำเข้าจากอเมริกา เยอรมนี นิวซีแลนด์ หรือออสเตรเลีย และราคาฮอปส์ตกกิโลกรัมละ 2,800 บาท จึงลองเอาฮอปส์มาปลูก ซึ่งฮอปส์ 1 ต้นสามารถใช้ทำเบียร์ได้ถึง 20 ลิตร ปลูกรอบหนึ่ง 100-200 ต้น ก็เพียงพอจะใช้ทำเบียร์ได้แล้ว

จากงานอดิเรกในช่วงแรกกลายมาเป็นธุรกิจ เมื่อต้องปิดบริษัทซอฟต์แวร์ลง เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันสูง ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ตลาดคราฟท์เบียร์กลับเติบโตขึ้น จากจำนวน 10 รายปัจจุบันเพิ่มเป็นหลัก1,000 ราย และในจำนวนนี้สามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ 100 ราย

157412836230

ณัฐชัย กล่าวว่า ปัจจุบันฟาร์มปลูกฮอปส์ ที่เขาปลูกมีจำนวนมี 6 โรงเรือนในจังหวัดนนทบุรี และกำลังวางแผนจะขยายเพิ่มอีกเป็น 10-20 โรงเรือนในปีหน้า โดยเขามีแผนจะไปปลูกที่เขาใหญ่หรือจังหวัดเชียงราย ภายใน 1-2 ปีนี้ เนื่องจากอากาศเย็นกว่า คาดว่าจะทำให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น รวมทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ฮอปส์สัญชาติไทยขึ้นมา มีคุณสมบัติในการทนร้อนและออกสีและกลิ่นที่ดี คาดว่า ใช้เวลา 4-5 ปี จะทำให้มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองมากขึ้นในการนำมาใช้ผลิตคราฟท์เบียร์ จากปัจจุบันใช้สายพันธุ์จากต่างประเทศ 100 สายพันธุ์ในการผลิตคราฟท์เบียร์

แม้ว่าที่ผ่านมาเขาผลิตคราฟท์เบียร์ เทพพนม” ออกมาจำหน่ายตามร้าน แต่ผลผลิตในฟาร์มที่ออกมายังไม่ได้ อีโคโนมีออฟสเกล เนื่องจากยังต้องต้องจ้างผลิตในประเทศกัมพูชา ระหว่างที่ยื่นขอทำโรงเบียร์ประเภท โรงเบียร์ขนาดเล็ก (Microbrewery) ชึ่งเป็นโรงงานผลิตเบียร์ที่อยู่ภายในร้าน ขายเฉพาะในร้าน ที่ต้องมีกำลังผลิตขั้นต่ำ 1.5 แสนลิตรต่อปี โดยใช้เวลานานถึง 3 ปีกว่าจะได้รับใบอนุญาต ล่าสุดกำลังจะเปิดโรงเบียร์เร็วๆนี้

“เราตั้งใจทำไมโครบริวเวอรี่ ที่มีความหลากหลายรสชาติของคราฟท์เบียร์กึ่งๆ เมกเกอร์ สเปซของคนทำเบียร์ ตอนนี้เราได้ใบอนุญาตก่อสร้างโรงเบียร์เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ทุกคนสามารถมาพูดคุยแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับไมโครบริวเวอรี่ ในรูปแบบของโค-บริวเวอรี่ สเปซ”

ณัฐชัย ระบุว่า กลุ่มเป้าหมายของไมโครบริวเวอรี่ ลักษณะนี้แตกต่างจากไมโครบริวเวอรี่ ที่มีอยู่ คือ จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มจากกลุ่มเจนวาย ที่ชอบลองของใหม่ ที่มีความหลากหลาย ไม่ยึดติดกับแบรนด์ หรือรูปแบบการดื่มแบบเดิมๆ เหมือนกับกลุ่มเจนเอ็กซ์ ขณะเดียวกันระดับราคาคราฟท์เบียร์ รูปแบบใหม่จะมีราคาสูงกว่า จากสมัยก่อนที่จ้างผลิตต้นทุนสูงระดับราคา 180-220 บาทต่อขนาด 330 ml. แต่ถ้ามาผลิตในประเทศราคาลดลงเหลือ 140-160 บาทต่อขนาด 330 ml. (มิลลิลิตร) ขณะที่คู่แข่ง ราคา 120 บาทต่อขนาด 330 ml.

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการทำตลาดยากขึ้น เนื่องจากห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การโปรโมทลำบากเน้นการบอกต่อปากต่อปากแต่โชคดีที่ผ่านมาคนรู้จักเราจากฟาร์มฮอปส์

 ณัฐชัย กล่าวว่า  จากประสบการณ์ที่ผ่านมาหลังจากที่เลิกทำบริษัทซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ เขียนโปรแกรมในมือถือ แล้วผันชีวิตมาผลิตคราฟท์เบียร์ ทำฟาร์มฮอปส์ ชีวิตเปลี่ยนไปจากที่การทำซอฟต์แวร์ต้องทำให้เร็วเพื่อให้ทันกับเวลาสามารถรู้ได้ทันที่ว่า ขายได้ไม่ได้ ใช้เวลาไม่นานเพราะซอฟต์แวร์เป็นเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งมันเปลี่ยนค่อนข้างเร็ว ต้องเรียนรู้อยู่ตลอด แต่พอมาทำเบียร์ ทำฟาร์มฮอปส์ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเปลี่ยนไปสุขภาพดีขึ้น ไม่ต้องนั่งอยู่แต่ในห้องแอร์

“ เราต้องมีความอดทนมากขึ้น ใจเย็นมากขึ้นจากเดิม1-2 เดือนงานเสร็จแต่พอมาทำฟาร์มต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ผลผลิต 5-6 เดือนบางครั้งเป็นปี ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจสูงกว่าเดิมเยอะ รวมทั้งต้องใช้แรงกายมากกว่ามากขึ้นแต่ก็มีความสุขมากขึ้น ”

เป้าหมายในอนาคตสำหรับฟาร์มปลูกฮอปส์ คือการเพิ่มปริมาณผลผลิต และพัฒนาสายพันธุ์ที่นำไปจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจทำคราฟท์เบียร์ที่ผลิตและประเทศและมีเอกลักษณะเฉพาะตัวมากขึ้น

------------

key success

แผนรุกธุรกิจ เดวา ฟาร์ม 

-เน้นวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นระบบ

-ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์

- มีความอดทน และมุ่งมั่น

- เรียนรู้ที่ลองถูกลองผิดตลอดเวลา