เศรษฐกิจ
'สภาพัฒน์'ชี้เศรษฐกิจชะลอไม่กระทบจ้างงาน แต่นายจ้างลด 'โอที'
สศช.ชี้เศรษฐกิจชะลอตัวไม่กระทบจ้างงานหลังอัตราว่างงานไตรมาส 3 อยู่ที่ 1.04% ใกล้เคียงระดับปกติ จับตานายจ้างหั่น "โอที"ลูกจ้าง หลังตัวเลขการจ้างงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ลดลงกว่า 7.9% ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส4ปี59
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่3/2562 ว่าแม้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้แม้จะมีบางช่วงที่ชะลอตัวลงแต่ก็ไม่ได้กระทบกับภาวะการจ้างงานและภาวะตลาดแรงงานในประเทศมากนักซึ่งเมื่อพิจารณาจากอัตราการว่างงานจากแรงงานทั้งหมด 38 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำอยู่ 37.5 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ว่างานอยู่ประมาณ 4 แสนคน หรือ 1.04% เพิ่มขึ้นจาก 0.98%ในไตรมาสก่อนหน้าและ 0.94% ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งถือว่าเป็นระดับการว่างงานที่ปกติของประเทศ
สำหรับภาวะการว่างงานในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมาพบว่าจำนวนผู้มีงานทำลดลง 2.1% แบ่งเป็นการจ้างงานในภาคเกษตรลดลง 1.8% และการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
"สิ่งที่ต้องจับตาคือจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ซึ่งสะท้อนว่าในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมีสถานประกอบการที่ลดชั่วโมงการทำงานหรืองดการทำงานล่วงเวลา (โอที) ของแรงงานโดยในไตรมาสที่3 จำนวนผู้มีงานทำมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไปลดลง 7.9% เป็นการลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2559"
รวมทั้งยังมีสถานประกอบการที่ขอใช้มาตรา 75 ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายที่อนุญาตให้สถานประกอบการสามารถหยุดงานชั่วคราวโดยจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างไม่ต่ำกว่า 75% ของค่าจ้างได้
โดยไตรมาสที่3 มีจำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 48,015 คน จากสถานประกอบการ 93 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นหยุดกิจการบางส่วน 21,297 คน และหยุดกิจการทั้งหมดจำนวน 26,718 คน ส่วนกรณีที่มีผู้ขอรับประประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มี 1.72 แสนคน หรือคิดเป็น1.5% ต่อจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สูงที่สุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2552 เป็นต้นมา