'ดับบลิวเอชเอ' ผุดโรงไฟฟ้าขยะชลบุรี กำจัดกากอุตฯ ปีละแสนตัน

'ดับบลิวเอชเอ' ผุดโรงไฟฟ้าขยะชลบุรี  กำจัดกากอุตฯ ปีละแสนตัน

"ดับบลิวเอชเอ" เดินเครื่องโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี กำจัดขยะได้ปีละกว่า 1 แสนตัน มีกำลังผลิตไฟฟ้า 8.63 เมกะวัตต์ ยันใช้เทคโนโลยีสะอาดมาตรฐานยุโรปแห่งแรกของอาเซียน

ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อรองรับปริมาณขยะทั่วไปและขยะอุตสาหกรรมที่จะสูงขึ้น โดยกลุ่มบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น นำร่องร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมที่ จ.ชลบุรี โดยใช้ใช้เทคโนโลยีสะอาดมาตรฐานยุโรปแห่งแรกของอาเซียน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group เปิดเผยว่า บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของดับบลิวเอชเอ ได้ร่วมกับบริษัทโกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 3,084 เมกะวัตต์ และบริษัท สุเอช เอเชีย ซึ่งเป็นบริษัทจัดการทรัพยากรด้วยระบบอัจฉริยะ ดำเนินธุรกิจการจัดหาโซลูชั่นด้านการจัดการน้ำและขยะ 

ร่วมกันจัดตั้งบริษัทชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (ซีซีอี) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1 โดยทั้ง 3 บริษัท จะถือหุ้นใน ซีซีอี ในสัดส่วนที่เท่ากันรายละ 33.33%

โดยโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมแห่งนี้ ใช้เงินลงทุน 1,800 ล้านบาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรงผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้มาตรฐานควบคุมการปล่อยมลพิษของยุโรป ติดตั้งด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ภายใต้แนวคิดเพื่อความยั่งยืน การมีเสถียรภาพ และการรักษาสิ่งแวดล้อม สามารถกำจัดขยะอุตสาหกรรมให้เป็นเชื้อเพลิงได้กว่า 400 ตันต่อวัน หรือราว 1 แสนตันต่อปี 

โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมแห่งนี้มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 8.63 เมกะวัตต์ โดยจะจำหน่ายเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำนวน 6.90 เมกะวัตต์ ภายใต้ข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (พีพีเอ) เป็นระยะเวลา 20 ปี

157469227838

ซีซีอี ได้ลงนามในข้อตกลงการจัดหาขยะอุตสาหกรรมกับบริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด (ดับบลิวเอ็มเอช) บริษัทรายใหญ่ด้านการจัดเก็บ บำบัด และกำจัดขยะของเสียในไทย เพื่อจัดหาขยะอุตสาหกรรม 1 แสนตันต่อปี จากนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรีและใกล้เคียง โดยโรงไฟฟ้าจะนำขยะอุตสาหกรรมเข้าสู่ห้องเผาไหม้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

โดยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2562 ก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อตกลง พีพีเอ ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2562 ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะมีรายได้ปีละ 210 ล้านบาท

“โรงไฟฟ้า ซีซีอี ตั้งอยู่ใจกลางอีอีซีจะสร้างประโยชน์ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของไทย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลของประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการจัดการขยะอุตสาหกรรมแบบยั่งยืน แทนการฝังกลบแบบเดิม”

หลังจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมแห่งนี้แล้ว ดับบลิวเอชเอ ก็มีความตั้งใจจะขยายโรงไฟฟ้าแบบนี้ไปยังพื้นที่อื่นใน อีอีซี ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าที่รองรับขยะอุตสาหกรรม และขยะชุมชน แต่จะต้องรอความชัดเจนของกระทรวงพลังงานที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานขยะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 ที่ดับบลิวเอชเอได้ประมูลโรงไฟฟ้าแห่งนี้ กระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าไว้ที่ 50 เมกะวัตต์ แต่มีผู้ผ่านคุณสมบัติและก่อสร้างโรงไฟฟ้าไปประมาณ 32 เมกะวัตต์ ดังนั้นรัฐบาลน่าจะนำส่วนนี้ไปประมูลสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเพิ่ม หากรัฐบาลเปิดประมูล ดับบลิวเอชเอก็พร้อมที่จะเข้าร่วมประมูล

“ดับบลิวเอชเอมีความสนใจที่จะตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในพื้นที่อีอีซีเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะในชุมชนที่มีปัญหาขยะมูลฝอย เพื่อลดปัญหาขยะในชุมชน" 

รวมทั้งยังช่วยผลิตไฟฟ้าเพิ่มให้กับพื้นที่อีอีซี ซึ่งก่อนจะสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้ชาวบ้านก็มีความกังวลในที่จะมีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเข้ามาตั้งในพื้นที่ แต่หลังจากเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแล้วชาวบ้านก็มีความมั่นใจมากขึ้น เพราะไม่มีกลิ่นเหม็น หรือมลภาวะเพิ่มขึ้นแต่อย่างไร โดยโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแห่งนี้จะเป็นต้นแบบให้ชุมชนต่างๆเข้ามาดูงาน ซึ่งจะทำให้ชุมชนอื่นๆมีความมั่นใจเปิดให้ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแบบนี้ต่อไป