คน Gen Y อยากมีอะไรตอนอายุ 40

คน Gen Y อยากมีอะไรตอนอายุ 40

เจาะลึกพฤติกรรมของ Gen Y กับความคาดหวัง "ของมันต้องมี" เมื่ออย่างเข้าวัย 40

40 กะรัต วัยกลางคนที่มักถูกตั้งความหวังในมิติต่างๆ โดยเฉพาะสถานะทางการเงิน ช่วงวัยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่เลข 4 ในปัจจุบันคือ Generation Y หรือเจนวาย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีช่วงอายุระหว่าง 23-38 ปี ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงาน และกำลังก้าวเข้าสู่วัยกลางคนที่เริ่มสร้างครอบครัว และความมั่นคง กลุ่มเจนวาย จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มธุรกิจพยายามศึกษาพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจในอนาคต

157891175525

ข้อมูลพฤติกรรมเชิงลึกทางการเงินในโซเชียลมีเดียของกลุ่มคน “GEN Y” ผ่านแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40 ที่ ทีเอ็มบี จับมือกับ ไวซ์ไซท์ พบว่า ส่วนใหญ่มีความฝันสร้างอนาคตที่ดี และมั่นคง แต่ไปไม่ถึงเป้าหมาย เพราะพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัว!

คนกลุ่มนี้มีความคาดหวังว่าจะมีของต่างๆ ในช่วงอายุ 40 ปีที่แตกต่างกัน โดย “ของมันต้องมี” ในมุมมองของเจนวาย 3 อันดับ ได้แก่ อันดับแรก "อยากมีบ้าน" 48% อันดับที่สองคือ "อยากมีรถยนต์" 22% และ "อยากมีเงินออม" หรือสินทรัพย์อื่นๆ 13%

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับ GEN Y เมื่อวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษา พบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังเกิดขึ้นไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง เนื่องจาก สถิติพบว่าคน GEN Y มีแนวโน้มมีบ้าน 12% มีรถ 10% มีเงินออมหรือสินทรัพย์ 9% และมี “ของมันต้องมี” 69%

เมื่อเจาะลงไปในรายละเอียดพบว่า “ของมันต้องมี” ล้วนเป็นของที่ไม่ได้อยู่ในความคาดหวังแต่เป็นสิ่งที่ GEN Y ซื้อและใช้จ่ายเงินกับสิ่งของเหล่านี้เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ 22% เสื้อผ้า 11% เครื่องสำอาง 8% อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 5% กระเป๋า 4% และนาฬิกาหรือเครื่องประดับ 2%

นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ระบุถึงมูลค่าของการใช้จ่ายกับสินค้าดังกล่าวนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 95,518 บาท/ปี/คน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปีของคน GEN Y ส่วนใหญ่ ซึ่งหากเทียบมูลค่ารวม ตกอยู่ที่ปีละ 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงเทียบได้กับ 13% ของรายได้ประเทศ (GDP) หรือ 8 เท่าของมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือ 91% ของมูลค่าการลงทุนในโครงการ EEC 5 ปี

สาเหตุที่เจนวายอยากได้ “ของมันต้องมี” เป็นเพราะซื้อตามเทรนด์กลัวเอ้าท์ 42% มองว่าเป็นของจำเป็น 37% เชื่อมโยงกับโลกของบริโภคนิยม (Consumerism) การซื้อแบบไม่คิด (Impurchase) และแนวคิดที่ว่าประสบการณ์ซื้อความสุขได้ (Experience Economy)

โดย 54% ใช้โซเชียลมีเดียหาข้อมูลของสินค้า ขณะที่ 37% ได้แรงบันดาลใจ หรือรู้สึกอยากซื้อสินค้าบางอย่างจากการท่องโลกโซเชียลมีเดีย และ 49% เชื่อคำแนะนำสินค้า Influencers ทำให้อยากซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ

สิ่งที่น่ากังวลคือ 70% ของคนที่ซื้อสินค้าเหล่านี้มีเงินไม่พอซื้อ แต่ใช้การกู้ยืมจากธนาคารและใช้บัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดในการใช้จ่าย และมีการผ่อนชำระที่ต้องเสียดอกเบี้ยอยู่เสมอ

ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าคนเจนวายจากจำนวนทั้งหมด 14.4 ล้านคน เกินกว่าครึ่งเป็นหนี้ต่อหัวประมาณ 423,000 บาท และอีก 20.2% หรือ 1.4 ล้านคนผิดนัดชำระหนี้

นั่นคือสิ่งที่ พุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลบริษัทไวซ์ไซท์(ประเทศไทย) ค้นพบจากข้อมูลพฤติกรรมของคนเจนวายในการจับจ่ายที่สะท้อนผ่านโซเชียลมีเดีย

ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนว่าคนเจนวายยังขาดทักษะการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล ขณะเดียวกันยังขาดการวางแผนทางการเงินในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่การเกษียณจนในอนาคตได้ง่ายๆ 

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า หากคนกลุ่มนี้ลดสัดส่วนการใช้เงินกับ “ของมันต้องมี” ลงราว 50% ของพฤติกรรมการซื้อทั้งหมด ควบคู่กับวางแผนการบริหารเงินให้ดีโดยเพิ่มการออมการลงทุนให้ถูกที่ จะมีเงินสะสมเพิ่มขึ้น 43,000 บาทต่อปี 

และหากสะสมเงินส่วนนี้นาน 10 ปีมีโอกาสซื้อรถมูลค่า 829,900-1,099,000 บาท หากสะสมยาวถึง 20 ปี จะมีโอกาสเซ้งร้านกาแฟย่านทองหล่อมูลค่า 1,900,000 บาท หรือยาวไป 30 ปีก็จะสามารถซื้อคอนโดย่านห้วยขวางมูลค่าเฉลี่ย 2,500,000 บาทได้!

หรือสามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์ในการลงทุน ต่อยอดชีวิตในมิติอื่นๆ ตามที่คาดหวัง การหาความสุขให้ตัวเองไม่ใช่เรื่องผิด แต่การใช้จ่ายโดยปราศจากการวางแผน และเน้นการบริโภคตามกระแสสังคม อาจนำไปสู่หายนะทางการเงินส่วนบุคคล และหนี้ครัวเรือนที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ในเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตามผลสำรวจเป็นเพียงภาพที่สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่การบริหารเงินส่วนบุคคลที่ดีจะเริ่มต้นได้จากการตระหนักถึงปัญหาของแต่ละบุคคล ประเมินกำลังของตัวเองก่อนซื้อหรือใช้เงินเพื่อเป็นตัวกรองว่าสุดท้ายแล้วของท่ี่กำลังจะซื้อคือ “ของมันต้องมี” หรือแค่ “ของที่อยากมี”