'ไบโอดีเซล' พลังงานชีวภาพจากพระปรีชาญาณของพ่อหลวง

'ไบโอดีเซล' พลังงานชีวภาพจากพระปรีชาญาณของพ่อหลวง

พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่หาที่สุดมิได้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงศึกษาวิจัยค้นคว้าพลังงานชีวภาพ แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล จากผลิตผลทางเกษตรในประเทศ และช่วยให้ประชาชนสามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในราคาถูก กว่านำมันเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวภาพของโครงการส่วนพระองค์จิตรลดา เริ่มต้นในปี 2528 ด้วยในหลวงรัชกาลที่9

พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย มีพระราชดำริว่า ในอนาคตอาจเกิดการขาดแคลนน้ำมัน จึงมีพระราชประสงค์ให้นำอ้อยมาผลิตแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ต่อมาโครงการได้ศึกษาวิจัยการผลิตและกลั่นแอลกอฮอล์ จากพืชผลทางเกษตรหลายอย่าง เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง อ้อย มีการปรับปรุงการกลั่นเรื่อยมา จนสามารถผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95%หรือที่เรียกว่าเอทานอล ไปกลั่นแยกน้ำ และใช้เป็นวัตถุดิบผสมน้ำมันเบนซินผลิตแก๊สโซฮอล์ โดยศึกษาทดลองสูตรการผสม และผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ใช้กับรถยนต์ทุกคันของโครงการส่วนพระองค์ฯ

ต่อมา บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ได้นำผลการศึกษาของโครงการส่วนพระองค์จิตรลดามาต่อยอด ผลิตน้ำมันแสโซฮอล์ เริ่มจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี2545 ส่วน บริษัท บางจาก จำกัด(มหาชน) ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ศึกษาทดลองผลิตเอทานอลบริสุทธิ 99.5% จากมันสำปะหลังแล้วนำมาผสมกับน้ำมันเบนซินในสัดส่วน 10% ทดแทนสาร เพิ่มอออกเทน MTBE ที่ใช้แทนสารตะกั่ว ซึ่งต้องนำเข้าเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เริ่มจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก ถ.ติวานนท์

ปัจจุบันน้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นที่นิยมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพราะราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซิน ซึ่งช่วยลดการนำเข้าน้ำมันได้ส่วนหนึ่ง และยังช่วยลดมลพิษในอากาศได้อีกด้วย เพราะแก๊สโซฮอล์ไม่ต้องเติมสารตะกั่ว และสารเพิ่มออกเทน MTBE

ไบโอดีเซลในประเทศไทย เริ่มพัฒนามาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2526 ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มทดลองขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึกจ.กระบี่ และอีกหลายแห่งในเวลาต่อมา ในปี 2543 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และกองงานส่วนพระองค์ วังไกลกังวล หัวหิน เริ่มการทดลองนำน้ำมันปาล์มมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล จากการทดลองพบว่า น้ำมันปาล์ม บริสุทธิ์ 100% สามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลได้ โดยไม่ต้องผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงอื่นฯ หรืออาจใช้ผสมกับน้ำมันดีเซลได้ ตั้งแต่น้อยสุด 1 - 99% ทั้งนี้องคมนตรี(อำพล เสนาณรงค์) เป็นผู้แทนในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้จดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล” แล้ว

จากโครงการพัฒนาและทดลองการผลิตการใช้น้ำมันไบโอดีเซลในโครงการส่วนพระองค์ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 จนเทคโนโลยีการผลิตการใช้ไบโอดีเซลก้าวหน้า สามารถนำมาใช้ในเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในทางพาณิชย์ได้ ผลการวิจัยในการนำน้ำมันพืชมาใช้ผลิตไบโอดีเซลในประเทศไทย พบว่าน้ำมันพืชที่เหมาะสมและมีศักยภาพในการผลิตไบโอดีเซล คือ น้ำมันปาล์ม

ไบโอดีเซลในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็นไบโอดีเซลชุมชน และไบโอเชิงพาณิชย์

ไบโอดีเซลชุมชน คือไบโอดีเซลที่กลั่นน้ำมันปาล์มออกมาเหมือนน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร เหมาะกับเครื่องยนต์ดีเซลสูบเดียว รอบเครื่องยนต์คงที่ เช่น รถไถนาเดินตาม รถอีแต๋น เครื่องสูบน้ำ แต่ไม่เหมาะกับการใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลที่มีหลายสูบ เช่นเครื่องยนต์ที่ใช้กับรถยนต์ เพราะระยะยาวจากเกิดยางเหนียวในเครื่องติดที่ลูกสูบ

สำหรับไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ คือ ไบโอดีเซลที่ใช้น้ำมันปาล์มผ่านกระบวนการไปผสมกับน้ำมันดีเซลโดยผู้ผลิตรถยนต์ทดสอบและให้การรับรองว่าใช้กับรถยนต์รุ่นที่ทดสอบแล้วได้

ไบโอดีเซลช่วยเกษตรกรชาวสวนปาล์ม

นอกจากการส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้ไบโอดีเซล เพื่อลดการการนำเข้าน้ำมันแล้ว ในยามที่ปาล์มมีราคาตกต่ำ รัฐบาลก็สนับสนุนส่งเสริมให้มีการผลิต การจำหน่าย การใช้ไบโอดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มในรถยนต์ด้วย

ที่ผ่านมาใช้น้ำมันดีเซลผสมกับน้ำมันปาล์มที่ผ่านกระบวนการในอัตรา 95 : 5 จะได้ไบโอดีเซล ที่เรียกว่า บี 5 ถ้าเป็นอัตรา 93 :7 จะได้ไบโอดีเซลเรียกว่า ยกว่า บี 7 ซึ่งเป็นการเพิ่มความต้องการน้ำมันปาล์ม ที่สามารถยกระดับราคาปาล์ม ตามกลไกตลาดได้ระดับหนึ่ง

ปัจจุบันมีปัญหาราคาปาล์มตกต่ำอีก กระทรวงพลังงานจึงได้ร่วมกับหน่วยงานอื่นและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ผลักดันไบโอดีเซล บี 10 เพื่อแก้วิกฤตราคาปาล์ม

บี 10 คือ น้ำมันไบโอดีเซล ที่มีอัตราผสมน้ำมันดีเซลอัตรา 90 ส่วน ต่อน้ำมันปาล์มผ่านกรรมวิธี 10 ส่วน ซึ่งจะสามารถเพิ่มความต้องการน้ำมันปาล์มได้ดีกว่า บี 5 และบี 7 นอกจากนี้ยังมีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล บี 20 ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มผ่านกรรมวิธี 20%ด้วย

ในการผลักดันการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 10 ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซล นอกจากช่วยผู้ใช้รถประหยัดค่าใช้จ่ายจากราคาน้ำมันแล้ว ยังเป็นการช่วยชาวสวนปาล์มด้วยทางหนึ่ง

แต่ก็มีผู้ใช้รถยนต์บางส่วน วิตกกังวลว่า บี 10 ซึ่งเป็นน้ำมันดีเซลที่ผสมกับน้ำมันปาล์มถึง 10% เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพเป็นไปตามาตรฐานหรือไม่ ใช้แล้วจะมีปัญหากับเครื่องยนต์หรือไม่ เนื่องจากจากการผลิตการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 แม้ไบโอดีเซล ทั้ง บี10 บี 20 จะมีน้ำมันปาล์มผสมอยู่ แต่ก็เข้าข่ายถือเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ตามคำนิยาม ของน้ำมันเชื้อเพลิง ตามพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งกรมธุรกิจพลังงาน อาศัยอำนาจตามมาตรา 25 ประกาศกำหนดลักษณะคุณภาพของน้ำมันดีเซล ซึ่งรวมถึงน้ำมันไบโอดีเซล บี 10 และบี 20 ด้วย ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่องกำหนดคุณภาพของน้ำมันดีเซลพ.ศ.2562 ลงวันที่ 14 พ.ค.2562 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่องกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่2) พ.ศ.2562 ลงวันที่ 7 มิ.ย.2562

ส่วนรถยนต์ที่ผู้ผลิตรับรองให้สามารถใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 10 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ได้ เป็นไปตามตารางหมายเลข 2 และตารางหมายเลข 3 แนบท้ายประกาศกรมธุรกิจพลังงานเรื่องกำหนดคุณลักษณะและคุณภาพน้ำมันดีเซล (ฉบับที่3 )พ.ศ.2562 ลงวันที่21 ส.ค. 2562

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่หาที่สุดมิได้ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย ที่ได้ทรงพระเมตตาและพระปรีชาญาณที่ทรงศึกษาวิจัยค้นคว้าพลังงานชีวภาพ แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล จากผลิตผลทางเกษตรในประเทศ ที่ทำให้ประชาชนสามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในราคาถูก กว่านำมันเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม ลดการนำเข้าปิโตรเลียม และยังเป็นช่องทางในการช่วยยกระดับราคาผลิตผลทางเกษตรที่ใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพดังกล่าวด้วย