Unicorn หรือ Zebra?
ได้มีโอกาสเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำรุ่นใหม่ Asia 21 Young Leaders จากประเทศต่าง ๆ ในงาน Asia 21 Summit ระหว่างวันที่ 14-17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
Asia 21 Young Leaders นั้นเป็นเครือข่ายผู้นำในศตวรรษที่ 21 จากหลากหลายประเทศ และหลากหลายวงการทั่วเอเชีย เริ่มก่อตั้งโดย John D. Rockefeller 3rd ซึ่งในปีนี้ผู้นำเหล่านี้ได้มีการรวมตัวกันที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกาในหัวข้อเรื่อง Technology & Humanity: Roadmaps for the Future
หนึ่งในประเด็นที่มีการพูดคุยกันอย่างเข้มข้นคือ วัฒนธรรมการล่า Unicorns หรือ ยูนิคอร์นใน Silicon Valley
“ยูนิคอร์น” ในวงการสตาร์ทอัพนั้น หมายถึงสตาร์ทอัพที่สร้างนวัตกรรมขึ้นมาแล้วประสบความสำเร็จอย่างสูงสามารถสร้างมูลค่าได้ในหลักพันล้านเหรียญ อย่างเช่น Uber AirBnb หรือ Snapchat เป็นต้น หรือหากพูดถึงสตาร์ทอัพจากจีน ก็มีตัวอย่างเช่น Xiaomi หรือ Didi ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนความสำเร็จของบริษัทกับจำนวนสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด ต้องถือว่ามีอยู่น้อยมาก เลยมีการเปรียบสตาร์ทอัพเหล่านี้เป็นเหมือน “ม้ายูนิคอร์น” ในเทพนิยาย ซึ่งจะพบเจอได้ยากมาก
ท่ามกลางความพยายามในการเร่งสปีดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาเพื่อแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในเอเชียอย่างจีน การหา “ยูนิคอร์น” จึงเป็นเป้าหมายของนักลงทุนและบุคลากรในวงการสตาร์ทอัพในแถบ Silicon Valley ตลอดมา
แต่การสร้างและพัฒนาสตาร์ทอัพที่เป็นยูนิคอร์นนั้น โดยส่วนใหญ่จะเน้นการหาธุรกิจที่สร้าง disruption เพื่อทลายกรอบหรือโครงสร้างเดิม ๆ อันอาจจะทำให้เกิดเป็น zero-sum game ที่ต้องมีคนแพ้ และมีคนชนะ และหรือบางครั้งความพยายามของสตาร์ทอัพในการหา Quick Exit เพื่อตอบแทนนักลงทุนมากกว่าการหาทางเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable growth) นั้นทำให้มีผลกระทบทางสังคมในมุมต่าง ๆ
ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น Facebook กับความไม่ชัดเจนของโครงสร้างในการตรวจสอบข่าวเท็จในสังคม หรือ Uber กับความขัดแย้งทางผลประโยชน์และทางการเมืองกับระบบคมนาคมเดิมในพื้นที่
ความเซ็กซี่และหวือหวาน่าดึงดูดของยูนิคอร์น ทำให้เกิดการ Move Fast and Break Things ในวงการสตาร์ทอัพ จนเริ่มเกิดทำคำถามว่า พวกเรากำลังทำลายโครงสร้างทางสังคม หรืออุดมการณ์สำคัญผ่านการสร้างกำไรมหาศาลหรือไม่?
การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้นำในการประชุม Asia 21 Summit ครั้งนี้ มีการพูดถึงการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของวงการสตาร์ทอัพว่าควรจะหยุดล่า Unicorns และหันมาล่า Zebras หรือ “ม้าลาย” แทนเพื่อมุ่งแก้ปัญหาสังคม (พร้อมทั้งสร้างผลกำไร) อย่างยั่งยืน
“สตาร์ทอัพม้าลาย” ในนิยามของผู้นำในที่ประชุมนั้นหมายถึง ธุรกิจที่มุ่งแก้ไขปัญหาในสังคมด้วยโมเดลธุรกิจที่มี Double Bottomline ที่ชัดเจน นั่นคือ ธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งสร้าง disruption แต่สร้างความร่วมมือและแก้ปัญหาพื้นฐานในสังคมไปด้วยกัน เพื่อสร้างเป็นแนวทางธุรกิจที่ยั่งยืน และตอบโจทย์ “Stakeholders” หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย มากกว่า “Shareholders” หรือผู้ถือหุ้น
เหตุผลของการเสนอให้ปรับเปลี่ยนเป็น “ม้าลาย” นี้ก็เพราะว่า
(1) ม้าลายจะอยู่ด้วยกันเป็นฝูง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ย้ำถึงการสร้างธุรกิจที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันและการร่วมมือกัน มากกว่าการต่อสู้เอาชนะเพื่อเป็นหนึ่งเดียวเหมือนม้ายูนิคอร์น
(2) ม้าลายมีสีขาวและดำ บ่งบอกถึงความชัดเจนว่า บริษัทต้องสร้างกำไร และในขณะเดียวกันต้องสร้างประโยชน์ให้กับสังคมด้วย จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
การขับเคลื่อนให้สังคมสตาร์ทอัพหันมาสนใจธุรกิจม้าลายนั้นได้เริ่มต้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว Jennifer Brandel, Mara Zepeda, Astrid Scholz และ Aniyia Williams เป็นกลุ่มคนที่พยายามผลักดันให้มีการเกิดของ “ธุรกิจม้าลาย” มากขึ้นโดยผ่านเครือข่ายทีมีชื่อว่า “Zebra Unites”
การเลือกกำหนดแนวทางของธุรกิจว่าควรจะเป็นยูนิคอร์นหรือม้าลายนั้น คงไม่ได้เป็นสีดำขาวบ่งบอกว่าถูกหรือผิดชัดเจน หากแต่คงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละองค์กรด้วย
ในฐานะที่ปรึกษาและสอนกระบวนการสร้างความคิดสร้างสรรค์เพื่อช่วยขับเคลื่อนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้ริเริ่มคิดอะไรใหม่ ๆ สิ่งหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ คือการแก้ปัญหาในสังคมด้วยการมอง “ช้างทั้งตัว” โดยผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในระบบร่วมกันคิดหาโมเดลธุรกิจ หรือโมเดลในการแก้ปัญหาเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรของตัวเองพร้อม ๆ ไปกับการเติบโตของสังคมที่สร้างสรรค์
ผศ. ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญเรื่องการคิดเชิงระบบ (systems thinking) ในประเทศไทยที่ดิฉันได้มีโอกาสร่วมงานด้วยในการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคมนั้นเคยบอกไว้ว่า การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน คือการแก้ปัญหาที่ “มองครบ” “มองลึก” และ “มองยาว”
นั่นคือ “มองครบ” ว่าธุรกิจที่กำลังจะสร้างนั้นมองเห็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย “ครบ” ทุกคนหรือไม่? มีใครบ้างที่จะได้รับผลกระทบ? “มองลึก” ว่าธุรกิจที่กำลังจะสร้างนั้นจะไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอะไรบ้างที่อาจจะคาดไม่ถึง? และ “มองยาว” ว่าธุรกิจที่กำลังจะสร้างนั้นจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรในอีกหลาย ๆ ปีข้างหน้า?
การมองให้ครบ ลึก และ ยาวนั้นสำคัญเหลือเกิน โดยเฉพาะในสังคมธุรกิจที่เรามักโดนปิดหูและปิดตาด้วยกำไรและผลตอบแทนในระยะสั้น
จริง ๆ แล้ว โลกอาจจะไม่ได้ต้องการยูนิคอร์นหรือม้าลาย แต่เพื่อความแข็งแกร่งและยั่งยืนอาจเป็นม้าพันธุ์ผสมของทั้งสองก็เป็นไปได้
เราคงคุยเรื่องนี้กันได้เป็นวันๆ หากแต่การได้ยินผู้นำโลกอภิปรายประเด็นนี้อย่างจริงจังทำให้ดิฉันคิดว่าความแตกต่างและเส้นบาง ๆ ระหว่าง Do Well กับ Do Good นั้นสำคัญ และอาจจะเป็นสิ่งที่เราต้องถกเถียงกันเพิ่มขึ้นบ้างในสังคมไทย