ธุรกิจแห่ออกหุ้นกู้ ทะลุ ‘1ล้านล้าน’ อสังหาฯแชมป์
ไทยบีเอ็มเอ” เผยยอดออก “หุ้นกู้” คึกคัก ล่าสุด 11 เดือน มูลค่าทะลุ 1 ล้านล้าน ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ชี้ผลจากดอกเบี้ยต่ำ หนุนเอกชนระดมทุน กลุ่มอสังหาฯ ออกขายมากสุดรวมกว่า 1.44 แสนล้าน ประเมินปีหน้าส่อลดเหลือ 8 แสนล้าน
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ภาพรวมการระดมทุนของบริษัทเอกชนไทยผ่านตลาดตราสารหนี้ในปีนี้เพิ่มขึ้นอย่างคึกคัก โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางเดือนพ.ย.2562 พบว่ามียอดออกเสนอขายหุ้นกู้ระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) ทะลุระดับ 1 ล้านล้านบาทไปเรียบร้อยแล้ว ถือว่าเกินกว่าเป้าหมายที่สมาคมฯคาดการณ์ไว้และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้เชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้ยอดออกหุ้นกู้ปีนี้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากระดับปกติ เป็นผลมาจากแรงหนุนจากภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสะท้อนได้จากผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีที่ปรับตัวลดลงเหลือระดับ 1.43% ในช่วงเดือนส.ค.2562 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดจึงเอื้อให้ภาคเอกชนหันมาล็อกต้นทุนทางการเงิน ประกอบกับความต้องการของนักลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะดอกเบี้ยขาลง ส่งผลให้คนโยกเงินฝากจากธนาคารมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงมากขึ้น รวมถึงอานิสงส์จากเทรนด์ดอกเบี้ยต่ำมานานหลายปี ยังทำให้ผู้ประกอบการต่างๆฉวยจังหวะดังกล่าวในการเข้าซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศ และหันมาออกหุ้นกู้เพื่อรีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะสั้นที่นำไปซื้อกิจการ
สำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกหุ้นกู้มากที่สุดในปีนี้ ได้แก่ 1.กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ มูลค่ารวม 1.44 แสนล้านบาท รองลงมาคือ 2.กลุ่มธุรกิจการเงิน (ไฟแนนซ์) มูลค่ารวม 1.33 แสนล้านบาท,3.กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) มูลค่ารวม 1.24 แสนล้านบาท,4.กลุ่มไอซีที มูลค่ารวม 1.15 แสนล้านบาท และกลุ่มอาหาร มูลค่ารวม 8.9 หมื่นล้านบาท
“มองว่าปีนี้เป็นปีที่มีผู้ออกหุ้นกู้มูลค่ามากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ ขณะที่ช่วงต้นปีสมาคมฯไม่คิดว่าจะมีผู้มาออกเยอะขนาดนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มาเร่งการออกในช่วงครึ่งปีหลังจำนวนมาก โดยเฉพาะหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนหรือPerpetual Bond ที่ปีนี้ถือว่ามีบริษัทขนาดใหญ่มาออกมากกว่าที่เราคาดไว้มาก”
ส่วนแนวโน้มการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนปี 2563 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 8 แสนล้านบาท อาจปรับตัวลดลงจากปีนี้ เนื่องจากเชื่อว่าจะมีแรงกดดันตลาดตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะการออกเกณฑ์ใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เพิ่มความเข้มงวดในการซื้อขายหุ้นกู้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับแรงปัจจัยลบจากการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ที่เพิ่มมากขึ้นในปีนี้จะกดดันให้นักลงทุนวิตกกังวลและเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนหุ้นกู้เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามในปีหน้าจะมีหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอนสูงถึง 6.22 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะมีการออกหุ้นกู้รุ่นใหม่เพื่อทดแทนรุ่นเดิม ซึ่งนักลงทุนสามารถเริ่มช้อปหุ้นกู้กันยาวๆตั้งแต่ช่วงกลางเดือนม.ค.ไปจนถึงปลายปีหน้า
“ปัจจุบันทิศทางดอกเบี้ยต่ำมากแล้ว ซึ่งปีหน้าไม่น่าจะต่ำไปกว่านี้มากนัก โดยเชื่อว่าช่องว่างทางนโยบายการเงินของแบงก์ชาติเริ่มแคบแล้ว ซึ่งทำให้การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจะทำได้อีกซักกี่ครั้ง อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจว่าการใช้ดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยกระตุ้นได้มากน้อยแค่ไหน”
สำหรับหุ้นกู้ที่ี่จะครบกำหนดไถ่ถอนปี 2563 มูลค่ารวม 6.22 แสนล้านบาท แบ่งเป็น เดือน ม.ค. มีจำนวน 4 บริษัท คือ บมจ. เอพี (ไทยแลนด์) ( AP) มูลค่า 1.5 พันล้านบาท, บมจ. พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ( PF)มูลค่า 3 พันล้านบาท , บมจ. ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) มูลค่า 3พันล้านบาท ,บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ( TU) มูลค่า 3.5 พันล้านบาท เดือน ก.พ. มี 1 บริษัท คือบมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ ( BDMS) มูลค่า 3 พันล้านบาท เดือนมี.ค. จำนวน 4 บริษัท คือ บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ( BJC) จำนวน มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ,บมจ.ธนาคารกรุงศรี ( BAY)มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท บริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา ( KCC) มูลค่า 8 พันล้านบาทเดือนเม.ย. มี2 บริษัท คือ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย( SCC) มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท และ บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH )มูลค่า 6 พันล้านบาท
ในเดือนพ.ค.มี 2 บริษัท คือ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) มูลค่า 6.5 พันล้านบาท และ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่ ( TUC) มูลค่า 9 พันล้านบาท เดือน มิ.ย. 2 บริษัท คือ BJC มูลค่า 1.79 หมื่นล้านบาท และ บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) มูลค่า 1.5 พันล้านบาท เดือนก.ค. 54 บริษัท คือ บริษัท ดีแทคไตรเน็ต ( DTN)มูลค่า 4 พันล้านบาท , บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) มูลค่า 7 พันล้านบาท , บมจ.บ้านปู (BANPU) ,บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ ( EA) เดือน ส.ค. TUC มูลค่า 8.8 พันล้านบาท, PTT, บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น ( BCP) เดือนต.ค. CPALL มูลค่า 1.07 หมื่นล้านบาท เดือนพ.ย. CPF มูลค่า 6.7 พันล้านบาท , บีทีเอส กรุ๊ป ( BTSG) และ LH มูลค่า 6 พันล้านบาท