'อ้น' ยันขึ้นค่าแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ
"อ้น" ยันขึ้นค่าแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามหลักประชาธิปไตยกินได้ พปชร.ไม่ลืมสัญญาประชาคม มุ่งวางฐานเศรษฐกิจให้มั่นคง เหน็บมีบทเรียนมาแล้วจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขึ้นค่าแรง 300 ทำธุรกิจขนาดเล็ก เอสเอ็มอีพัง
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ หรือ "อ้น" อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ได้จัดโครงการให้ความรู้และพัฒนาด้านเทคโนโลยีกับประชาชน ในระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ด้วยมาตรฐานระดับสากล โดยเริ่มจากกลุ่มเยาวชนก่อน โดยตนได้จัดการสัมมนา "ประเทศไทยก้าวไกล คนไทยมีออาชีพ" ขึ้น ที่โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ นำร่องเป็นแห่งแรกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ประสานงานให้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับ DIGITAL LITERACY การใช้ดิจิทัลอย่างปลอดภัย การใช้อินเตอร์เน็ตและการประเมินระดับสมรรถนะด้านเทคโนโลยี
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า เนื่องจากตนเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยี ให้มีความเชี่ยวชาญ รู้เท่าทัน และใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยน์สูงสุด ดังนั้นจึงต้องสร้างโอกาสในการเข้าถึง เข้าใจ และนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยคาดหวังให้เยาวชนทุกคนเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์และยกระดับวิชาชีพให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
จากการพูดคุยกับน้องๆนักเรียนหลายคนอยากเป็นวิศกรคอมพิวเตอร์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักออกแบบเกมส์ ซึ่งการที่จะทำงานในสายอาชีพนี้เขาต้องมีทักษะอย่างไร และทำงานอะไรบ้าง เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้ความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้องกับนักเรียนที่จะเริ่มก้าวเข้าสู่โลกการทำงานที่แท้จริง การทำงานแบบมืออาชีพ ซึ่งโครงการนี้จะมีการประเมินสมรรถนะด้านเทคโนโลยี นักเรียนที่เข้าโครงการจะได้รับใบประกาศนียบัตรซึ่งจะเป็นใบเบิกทางเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ยังเป็นใบเบิกทางสำหรับการประกอบอาชีพในอนาคตได้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมใหม่ของเทคโนโลยี ทำให้อาชีพของคนในยุคปัจจุบันต่างจากในอดีต เช่นคนรุ่นพ่อแม่ของเราที่ต้องเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัยแล้วจึงเข้าสู่การทำงาน ในปัจจุบันหลายคนในวัยเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาก็มีการเริ่มหารายได้เสริม การทำงานนอกเวลา การทำงานผ่านอินเตอร์เน็ต ถือเป็นช่องทางสร้างรายได้เสริม ที่สามารถบริหารเวลาไม่ให้กระทบกับการเรียนได้และอาจพัฒนาเป็นอาชีพหลักในอนาคต แต่จะทำอย่างให้ลูกค้ามีความเชื่อถือว่ามีความสามารถและเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีจริง โครงการนี้จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้ใบประกาศนียบัตรไปเพื่อรับรองความสามารถ เป็นมืออาชีพที่จะเพิ่มค่าแรงให้กับทุกคนได้ เป็นการติดอาวุธทางปัญญาและยกระดับฝีมือให้เป็นแรงงานคุณภาพในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
น.ส.ทิพานัน กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-6 บาททั่วประเทศให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2563 ว่า การปรับขึ้นค่าแรงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ ถึงจะขึ้นในอัตราที่ไม่สูงมากนัก แต่จะเป็นผลดีให้เกิดการใช้จ่ายในระบบมากขึ้น เป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนที่ตรงจุด และเป็นรูปธรรมที่สุด หรือที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยกินได้" สอดรับไปกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของรัฐบาลที่ทยอยออกมาก่อนหน้านี้
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านกล่าวหาว่ารัฐบาลหลอกลวง โดยช่วงหาเสียงประกาศจะขึ้นค่าแรง 425 บาทนั้น รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า
การจะปรับค่าแรงขึ้นถึง 425 บาทนั้น เป็นนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐประกาศไว้ตอนหาเสียง ซึ่งได้ยืนยันมาตลอดว่าจะทำ "แบบค่อยเป็นค่อยไป" เมื่อเข้ามาเป็นแกนนำรัฐบาลแล้ว เราไม่ได้ลืมสัญญาประชาคม แต่ต้องพิจารณาบริบทต่างๆ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของปัจจัยทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และแรงงาน ที่สำคัญต้องให้แรงานทุกคนได้ประโยชน์จากนโยบายอย่างทั่วถึง เพราะหากปรับขึ้นในอัตราที่สูงในทันทีหรือไม่รอบคอบ ก็จะมีผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ "ผลเสียก็จะตกอยู่ที่แรงงานเอง"
จึงขอให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลพยายามสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีรายได้มากขึ้นอย่างแน่นอน ในส่วนของแรงงาน อยากให้มุ่งเน้นพัฒนาฝีมือเพิ่มขึ้น อัตราค่าแรงก็จะสอดรับเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งมีหลายองค์กรที่พัฒนาวิชาชีพให้เป็นมืออาชีพ เช่น สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นต้น ซึ่งการที่แรงงานเข้ารับการอบรม ฝึกทักษะแล้วได้รับใบประกาศนียบัตรรับรอง สามารถนำไปสมัครงานที่มีรายได้สูงขึ้นหรือขอเพิ่มค่าแรงตามคุณวุฒิวิชาชีพได้
"พรรคพลังประชารัฐเรียนรู้จากบทเรียนในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ประกาศขึ้นค่าแรง 300 บาทแล้ว ซึ่งทำให้อัตราค่าแรงขึ้นต่ำทั่วประเทศเพิ่มขึ้นถึง 70% ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจขนาดเล็ก กลุ่มเอสเอ็มอี และภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก และแรงงานยังไม่ทันปรับตัวให้มีศักยภาพเพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการยิ่งต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น และขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศในการส่งออกลดลง การจ้างงานในบริษัทเล็กๆลดลง ส่งผลให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปในประเทศที่มีค่าแรงที่ต่ำกว่า ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยหลายด้านในการขึ้นค่าแรง" รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าว