ยกชั้นอีโคทาวน์ "มาบตาพุด”คอมเพล็กซ์
“สมาคมเพื่อนชุมชน” ยกระดับพื้นที่มาบตาพุด “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ" ระดับ 5 มีมาตรฐานสูงสุดของไทยภายในปี 2563 พร้อมปั้นบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมใหม่ใน "อีอีซี"
นายวริทธิ์ นามวงษ์ นายกสมาคมเพื่อนชุมชนและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มปฏิบัติการเพื่อความเป็นเลิศ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มเพื่อนชุมชนก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.2554 เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรในทุกมิติ ได้แก่ โรงงานภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและชุมชน และเป็นผู้ประสานงานความร่วมมือและช่วยขับเคลื่อน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันได้ยั่งยืน
ทั้งนี้ จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยผู้ก่อตั้ง 5 ราย ได้แก่ กลุ่ม ปตท. ,กลุ่มเอสซีจี ,บริษัทบีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ,กลุ่มบริษัทโกลว์ และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย โดยปัจจุบันมีสมาชิกสมทบ 13 บริษัท รวมทั้งสิ้น 18 บริษัท มีโรงงานทั้งหมด 76 โรง
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สมาคมฯ พยายามยกระดับชุมชนในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์และชาว จ.ระยอง ครอบคลุมพื้นที่เนินพระ ทับมา ห้วยโป่ง มาบข่าพัฒนา บ้านฉาง และมาบตาพุดรวม 56 ชุมชน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทุกด้านและเติบโตไปพร้อมภาคอุตสาหกรรม
ดังนั้น สมาคมเพื่อชุมชน จึงตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับภาคอุตสาหกรรมในมาบตาพุดให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (อีโคทาวน์) โดยปัจจุบันมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ได้รับการรับรองเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ 4 (Symbiosis) ประจำปี 2562 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของประเทศ
ในขณะที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแห่งอื่นของไทยอยู่ระดับ 1-3 ทำให้พื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นพื้นที่ต้นแบบและศูนย์เรียนรู้เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในอนาคต และใน 2563 ปี จะก้าวสู่มาตรฐานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ 5 Happiness ที่เป็นระดับสูงสุด
ลุ้นเกณฑ์สูงสุดเมืองอุตฯนิเวศ
สำหรับ การจัดทำเกณฑ์การประเมินการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้กำหนดเกณฑ์ประเมินตัวชี้วัดความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 41 ตัวชี้วัด ครอบคลุม 5 มิติ 20 ด้าน โดยระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ประกอบด้วย
ระดับ 1 Engagement (การมีส่วนร่วม) ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการวางแผนปฏิบัติ ตรวจสอบและการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
ระดับ 2 Enhancement (การส่งเสริม) การผลักดันและส่งเสริมให้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของพื้นที่เป้าหมายเป็นไปตามเป้าหมายของการพัฒนาซึ่งดำเนินการโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ
ระดับ 3 Resource Efficiency (ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร) การใช้ทรัพยากรต่างที่มีอยู่จำกัดในลักษณะที่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน ในขณะที่ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง ซึ่งเป็นการช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรที่น้อยลง แต่ได้ผลผลิตหรือผลลัพธ์มากขึ้น
ระดับ 4 Symbiosis (การพึ่งพาอาศัย) การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันระหว่างหน่วยงาน องค์กร คนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยปฏิสัมพันธ์นั้นก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมแก่ทุกฝ่าย
ระดับ 5 Happiness (เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม) สภาวะทางจิตใจหรืออารมณ์ที่แสดงถึงการมีชีวิตที่ดี ซึ่งกำหนดโดยการมีอารมณ์ในเชิงบวก เช่น มีความยินดี พอใจ เพลิดเพลิน
คนระยองรับโอกาส“อีอีซี”
นายวริทธิ์ กล่าวว่า ด้านการสนับสนุนความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อรองรับธุรกิจเกิดใหม่อีอีซี ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยียุคใหม่ เป็นเรื่องของนวัตกรรม อุตสาหกรรมการบิน ไบโอเทคโนโลยี จำเป็นต้องพัฒนาทักษะสมัยใหม่ให้กับบุคลากรคนทำงาน ซึ่งจะเป็นโอกาสของชาวระยองที่อยู่ในพื้นที่หลักของอีอีซี ซึ่งหากลูกหลานในชุมชนมีทักษะพร้อมเข้าทำงานให้กับธุรกิจเกิดใหม่ของอีอีซี ก็จะได้ประโยชน์ทั้งต่อชุมชนและภาครัฐพร้อมกัน
ทั้งนี้ สมาคมเพื่อนชุมชน ได้พิจารณาเงื่อนไขการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่ลูกหลานคนในชุมชนปีละ 85 ทุน (ปริญญาตรี 40 ทุน และอาชีวศึกษา 45 ทุน) เพื่อเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร รองรับธุรกิจเกิดใหม่ที่จะเกิดในการพัฒนาอีอีซี
กระตุ้นโรงงานเชิงนิเวศ
ส่วนการยกระดับสิ่งแวดล้อมจะส่งเสริมให้เกิดโรงงานเชิงนิเวศ (Eco Factory) เพื่อเกิดอุตสาหกรรมสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนในรูปแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้โรงงานดูแลและถ่ายทอดความรู้ให้กันและกันเพื่อยกระดับเป็นโรงงานเชิงนิเวศ
โดยมุ่งเน้นให้โรงงานมีระบบบริหารจัดการที่ดี มีความปลอดภัย เพิ่มพื้นที่สีเขียว ตลอดจนสอดแทรกแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรภายในพื้นที่ให้คุ้มค่าที่สุด ซึ่งเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน
“ทุกวันนี้มีสมาชิกถึง 18 บริษัท 76 โรงงาน และมีการยกระดับได้มาตรฐานเป็น Eco Factory ทุกโรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขกลุ่มโรงงานที่ผ่านการรับรองโรงงานเชิงนิเวศสูงที่สุดในประเทศไทย ในส่วนของชุมชน สมาคมฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล ได้แก่ โครงการวัดเชิงนิเวศ และโรงเรียนเชิงนิเวศ โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการคือ โรงเรียนวัดกรอกยายชา ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบ เพื่อพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน”