เจาะใจ 'วริษา ภาสกรนที' ทายาท 'ตัน' มองเกมธุรกิจขาดทุนคือ 'กำไร'
กว่าที่ “ตัน ภาสกรนที” จะกลายเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและโด่งดังเช่นทุกวันนี้ ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย และไม่ได้เกิดขึ้นข้ามขึ้น แต่ทั้งหมดมาจากความวิริยะ อุตสาหะ อดทน ในการทำธุรกิจที่ล้มลุกคลุกคลาน
ค้าขาย ส่งหนังสือพิมพ์ อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสตูดิโอเวดดิ้ง อาหาร เครื่องดื่ม ฯ เป็นธุรกิจที่เจ้าพ่อการตลาดจับมาหมดแล้ว โดยมีธุรกิจอาหารและชาเขียวที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ตลาดได้มหาศาล แต่วัฏจักรธุรกิจชาเขียวเผชิญภาวะขาลง จนทำให้ “อิชิตัน” ต้องหาทางฟื้นธุรกิจทั้งในไทยและอินโดนีเซีย
ครอบครัวของ “ตัน” เรียกว่ามีสายเลือดนักธุรกิจเต็มขั้น เพราะไม่เพียงแค่เจ้าตัวที่สวมบทบริหาร แต่ทายาทคนโต “วริษา ภาสกรนที” ถือเป็นลูกไม้ใต้ต้น และกำลังสร้างอาณาจักรธุรกิจของตัวเองจากจุดเล็กๆ
ย้อนไป 10 ปีก่อน วริษา ได้เงินก้อนโตหลักสิบล้านบาท จาก “ตัน” เพื่อสร้างธุรกิจของตัวเอง โดยเลือก “ร้านอาหาร”อิตาเลียนฟิวชั่นปูทางสู่การเติบโต แต่ไม่นานทุกอย่างจบลงธุรกิจ“เจ๊ง” ก่อนจะฮึดสู้อีกครั้ง ด้วยการลุยธุรกิจอาหารอีสาน “แซ่บอีลี่” ระยะแรกขาดทุนเช่นเดิม แต่คราวนี้ไม่ยอมแพ้ กัดฟันบริหารจนธุรกิจคืนทุนใน 3 ปี
ผ่าน 1 ทศวรรษ ร้านอาหารอีสานขยายตัวต่อเนื่อง มี 5 สาขา และจะเปิดสาขาที่ 6 ที่ไอคอนสยาม ใช้เงินลงทุนประมาณ 5 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับความใหญ่หรือขนาดของพื้นที่ นอกจากนี้ เมื่อความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยน เทรนด์ร้านอาหารอีสานมาแรง แต่ที่แซงทางโค้งเวลานี้คือ “ร้านยำแซ่บต่างๆ” ทำให้ วริษา เติมคอนเซปต์ร้านยำเข้าไปตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งในปีหน้าร้านแซ่บอีลี่ เตรียมเปิดเพิ่มอีก 2 สาขา
“ธุรกิจแรกที่ทำคือร้านอาหาร พ่อไม่ได้ให้การบ้านอะไรเป็นพิเศษ แต่การทำธุรกิจเป็น Passion ของครอบครัวอยู่แล้ว ซึ่งการทำร้านอาหารปัจจุบันเทรนด์ร้านอาหารอีสานบูมมาก แต่การแข่งขันสูง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนชอบความหลากหลายขึ้น เดิมแข่งกันแต่งร้านให้สวย เท่ วัตถุดิบคุณภาพ แต่ตอนนี้ต้องสร้างความแตกต่าง หาสิ่งที่คู่แข่งไม่มี ตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งเราต้องทำการบ้านหนัก ”
จับธุรกิจอาหารมา 11 ปี ชิมลางอสังหาฯไม่นาน แต่ วริษา กลับเทใจให้ธุรกิจนี้ ไม่ใช่เพราะ “กำไร” แต่เพราะเดินทางเยือนประเทศต่างๆ เห็นโครงการที่โดดเด่น สวยงาม เป็นแลนด์มาร์ก จึงต้องการเป็นหนึ่งในผู้ที่พัฒนาโครงการแล้ว “เปลี่ยน” แลนด์สเคปยกระดับทำเลที่โครงการของบริษัทตั้งอยู่ให้ดียิ่งขึ้นด้วย
วริษา มีประสบการณ์บริหารธุรกิจพักผ่อนอย่างวิลล่า มาร็อค รีสอร์ท ปราณบุรี และค้าปลีกประเภทคอมมูนิตี้มอลล์ วันนิมมาน เชียงใหม่ ส่วนธุรกิจโรงแรมมีพันธมิตรช่วยบริหารให้ ล่าสุด เธอนั่งเป็น กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีวัน บิวดิ้ง จำกัด และนำที่ดินสะสม(แลนด์แบงก์)ของครอบครัวพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานทีวัน บิวดิ้ง ออฟฟิศเกรดเอ ในย่านทองหล่อ ซึ่งมีกลิ่นอายของ วริษา ที่เป็นเจเนอเรชั่นใหม่เข้าไปด้วย เช่นเดียวกับลูกค้าที่เข้ามาเช่าสำนักงานเป็นองค์กรเทคโนโลยี(เทค คัมปะนี)
การบริหารธุรกิจร้านอาหารและอสังหาฯ วริษา บอกว่ามีความเหมือนกันคือ ต้องใส่ใจและควบคุมรายละเอียด อาหารเก็บรายละเอียดตั้งแต่วัตถุดิบ ทุกอย่าง ส่วนอสังหาฯ วัสดุที่ใช้ก่อสร้าง ภาพลักษณ์โครงการ ต้องเข้มงวด
“ครอบครัวเรามี Passion กับอสังหาฯมากๆ ส่วนตัวทำแล้วเป็นตัวเองมากกว่าอิชิตัน ซึ่งไม่ใช่สไตล์เราเท่าไหร่ ในการเดินทางได้พบเจอสิ่งที่น่าสนใจ จะนำรายละเอียดต่างๆมาใส่ในโครงการ อีกทั้งอสังหาฯยังเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจ อย่างวัน นิมมาน เราดูแลเองทั้งหมด กลายเป็นสถานที่เชื่อมคน 4,000-5,000 คนในวันธรรมดา และ 7,000 คน ช่วงเสาร์ อาทิตย์ให้เข้ากับกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน คนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว ซึ่งนำ(Leads)คนเข้ามาในโครงการเอง”
การเป็นทายาทเสี่ยตัน อะไรที่เป็นดีเอ็นเอ จากพ่อสู่ลูก วริษา ย้ำว่า บิดาปลูกฝังทุกเรื่อง โดยเฉพาะการทำธุรกิจต้องมอง “กำไรคือขาดทุน” ทำอะไรต้องทำให้ดี เพราะบางครั้งการ “กำไร” อาจมาจากการขาดทุน และกำไรยังมาในรูปแบบอื่นไม่ใช่เงิน แต่เป็น “สายสัมพันธ์ที่ดี” หรือ Connection ตลอดจนโมเมนต์ดีๆที่ได้เจอในการบริหารธุรกิจช่วงนั้นๆ
“พ่อทำร้านอาหาร แรกๆให้ลูกค้าไปก่อน ช่วงแรกจึงทำแล้วขาดทุน เมื่อผู้บริโภครับรู้ จากนั้นก็จะเริ่มมีกำไรตอบแทนกลับมา ขณะที่คอนเน็คชั่นก็จะได้จากการทำงานช่วงต่างๆ”เพราะในการทำธุรกิจจะเป็นใบเบิกทางให้รู้จักผู้คนหลากหลายวงการ เช่น การทำออฟฟิศ มีโจนส์แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย)บริหารให้ มีผู้เช่า เป็นเทค คัมปะนีชั้นนำของโลก เช่น เทนเซนต์ มีบริษัทในเครือมากมาย นำไปสู่การต่อยอดในอนาคต
แลนด์แบงก์ครอบครัว เป็นแต้มต่อในการทำอสังหาฯ แต่ วริษา พยายามพิสูจน์ฝีมือบนเส้นทางดังกล่าว ด้วยการนำเงินส่วนตัวและกู้เงินเพื่อซื้อที่ดินสะสมด้วยตัวเองที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาโครงการค้าปลีกเฟส 2 ใกล้กับโครงการวัน นิมมาน และการพัฒนาโครงการยังโฟกัสสิ่งที่ส่งต่อให้เจนฯต่อไปของครอบครัวด้วย