รถไฟฟ้าแทรม'ภูเก็ต'สะดุด บอร์ด รฟม.สั่งศึกษาเพิ่ม
บอร์ด รฟม.แตะเบรคโปรเจคแทรมภูเก็ต จี้ศึกษาปริมาณผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวใช้บริการอีกรอบ มั่นใจปีหน้าเปิดประมูลได้ เคาะวงเงินลงทุน 3.45 หมื่นล้าน
นายสราวุธ ทรงศิริวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยในฐานะประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ รฟม.วันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้ รฟม.นำผลการศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชน หรือ แทรมภูเก็ต กลับไปศึกษาให้รอบด้าน
ซึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องทบทวน เช่น ปริมาณผู้โดยสารที่ประเมินไว้ อาจสูงเกินความเป็นจริง ประกอบกับต้องศึกษาพฤติกรรมการเดินทางของคนในพื้นที่ เทียบขนส่งสาธารณประเภทอื่น และประมาณการณ์ผู้โดยสารต่างชาติที่จะเข้ามาใช้บริการด้วย
“แนวโน้มตอนนี้ยังมีการลงทุนโครงการนี้ต่อ แต่บอร์ดมีข้อสังเกต เพื่อให้มีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น ทำให้การศึกษาครบทุกมิติ ซึ่งขอให้ฝ่ายบริหารกลับไปทำข้อมูลเพิ่มเติมและกลับมาเสนอในการประชุมบอร์ดครั้งหน้า ส่วนประเด็นข้อตกลงด้านการใช้พื้นที่โครงการระหว่าง รฟม.และ ทล.ตอนนี้ได้ข้อยุติแล้ว โครงการนี้จะมีแนวเส้นทางรวม 42 กิโลเมตร เป็นทางระดับดิน 30.2 กิโลเมตร ทางยกระดับ 2.7 กิโลเมตร และเป็นระบบใต้ดินอีก 9.1 กิโลเมตร”
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า สถานะโครงการแทรมภูเก็ต ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ควบคู่กับการศึกษารูปแบบการลงทุน รวมทั้งจะพิจารณาข้อสังเกตของบอร์ดที่ได้สั่งการมาเพิ่มเติม คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดรับทราบในการประชุมครั้งหน้า หากบอร์ดเห็นชอบก็จะเข้าสู่ขั้นตอนเสนอขออนุมัติจากกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยยังมั่นใจว่าโครงการแทรมภูเก็ต จะสามารถเปิดประมูลได้ภายในปี 2563
สำหรับรูปแบบการลงทุน จะจัดทำในลักษณะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) โดยโครงการจะจัดใช้งบประมาณราว 3.45 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น งบก่อสร้างงานโยธา 2.6 หมื่นล้าน งบเวนคืนที่ดิน 1.5 พันล้านบาท และงบงานระบบรถไฟฟ้า 7 พันล้านบาท โครงการจะก่อสร้างแนวเส้นทางช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กิโลเมตร รวม 21 สถานี
“ขั้นตอนอีไอเอ กับขั้นตอนเสนอขออนุมัติโครงการจาก ครม. สามารถทำควบคู่กันไปได้ ซึ่งตอนนี้ รฟม.ก็ดำเนินการอยู่ คาดว่าปีหน้ายังไงก็น่าจะเริ่มประมูลโครงการได้”