'กอบศักดิ์' ชี้ 4 ความเชื่อ เศรษฐกิจไทยโตผิดทาง
“กอบศักดิ์”หนุนกองทุนหมู่บ้านเข้มแข็ง ลดเหลื่อมล้ำ ชี้ 4 ความเชื่อดันเศรษฐกิจไทยโตผิดทาง “นที” เร่งธนาคารประชาชนแห่งแรก หวังเงินทุนจัดตั้ง 1.3 หมื่นล้านบาท
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) จัดสัมมนา “เสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก ลงหลัก ปักฐาน สร้างไทย” เพื่อระดมความเห็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2562
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “กองทุนหมู่บ้านฯ ยุทธศาสตร์แก้เหลื่อมล้ำคนฐานราก” ว่า ประเทศไทยเริ่มต้นการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศมาแล้วกว่า 50 ปี ซึ่งขณะนี้เดินมาผิดทางเพราะยิ่งพัฒนาประเทศยิ่งอ่อนแอ เห็นได้จากเศรษฐกิจขยายตัวเฉพาะในเมือง แต่ชนบทมีแต่ผู้สูงอายุและเด็ก
“ทุกวันนี้เห็นแต่กรุงเทพฯ โต แต่ภาคอื่นและชนบทแย่ลงเรื่อยๆ ยิ่งเห็นภาพชัดของความเหลื่อมล้ำ นี่หรือคือความสำเร็จที่อยากได้ ทุกวันนี้เราเห็นว่าในสังคมเติบโตข้างบนเร็วกว่าข้างล่าง 10 เท่า และกลุ่มที่น่าเสียใจที่สุด คือ กลุ่มล่างสุด รายได้โตติดลบ 5 เท่า ซึ่งตัวผมมองว่าหัวใจของการลดความเหลื่อมล้ำนี้ ควรจะเริ่มการสร้างจากฐานราก สร้างจากข้างล่างขึ้นข้างบน ไม่ใช่สร้างจากข้างบนที่ใช้ทฤษฎีหยดน้ำอย่างที่เคยเป็นมา”
4ความเชื่อ ศก.โตผิดทาง
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตผิดทางเกิดจาก 4 ความเชื่อ คือ
1.ความเชื่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจต้องเริ่มจากบนลงล่าง ต้องสร้างเจ้าสัวก่อน
2.ความเชื่อว่าต้องแจกเงินลงระบบเศรษฐกิจ แต่ความจริงแล้วการแจกเงินช่วยได้แค่ส่วนหนึ่ง
3.ความเชื่อว่าต้องเอาข้าราชการเป็นตัวนำ
4.ความเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำแก้ไม่ได้ ซึ่งความเชื่อที่ผิดแบบนี้ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนความคิดว่าแก้ไขได้ ซึ่งต้องเอาประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ แนวคิดที่รัฐบาลจะทำกับกองทุนหมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมศักยภาพให้เศรษฐกิจฐานราก คือ โครงการที่รัฐบาลจะส่งเสริมเงิน 2 แสน เป็นสินเชื่อชุมชน ให้กองทุนหมู่บ้านนำไปพัฒนาโครงการต่างๆ อีกทั้งรัฐบาลตั้งใจจะทำกฎหมายเอื้อการทำงานให้กองทุนหมู่บ้าน เช่น กฎหมายวิสาหกิจชุมชน กฎหมายธนาคารชุมชน กฎหมายธนาคารต้นไม้ กฎหมายป่าชุมชน ซึ่งต่อไปกองทุนหมู่บ้านจะเริ่มยุคใหม่ เอาแนวคิดของทุกคนไปเรียนรู้ และพลิกฟื้นประเทศไทย
“นที”ดันธนาคารประชาชน
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านเป็นความหวังของรัฐบาลในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำของประเทศ โดยเฉพาะหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบแผนแม่บทกองทุนหมู่บ้านเมื่อช่วงต้นปี 2562 แสดงให้เห็นว่าต้องการให้กองทุนหมู่บ้านมีความสำคัญ
สำหรับการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านเกิดขึ้นปี 2544 เคยถูกสบประมาทว่าอยู่ไม่ถึง 3 ปี รัฐบาลให้เงินก็จะละลายหมด แต่ปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านมีอายุ 19 ปี เป็น 19 ปี ที่มีค่ามากที่สุด คือบทเรียน จากต้นทุนไม่เหมือนใครที่บ่มเพาะจากประสบการณ์จริง ทำให้มีระบบคณะกรรมการกองทุนที่หมุนเวียนกันมา ปัจจุบันมีกรรมการเป็นล้านคน มีเครือข่ายทุกตำบล
“ผมเคยคุยกับผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เขาตั้งคำถามว่าถ้ากองทุนหมู่บ้านจะเป็นธนาคารประชาชน มีความพร้อมแค่ไหน จึงตอบไปว่าตอนนี้มีเงินหมุนเวียน มีผู้จัดการเป็นล้านคนตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล ดังนั้นกับคำว่าธนาคารประชาชนเรามีความพร้อมอย่างเต็มที่”
ไม่ห่วงเงินทุนจัดตั้งธนาคาร
นายนที กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนแต่ละแห่งมีเงินทุนหมุนเวียนมากกว่า 1 ล้านบาท หากตั้งธนาคารประชาชนก็นำเงินกองกลางมารวมกันกองละ 2 แสนบาท จะเป็นเงินสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท และหากสมาชิกกองทุนนำเงินมาฝากคนละ 10 บาท จะมีเงินทุมเพิ่มอีก 130 ล้านบาท หรือหากสมาชิกฝากคนละ 100–1,000 บาท จะมีเงินถึง 1.3 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเงื่อนไขการตั้งธนาคารที่กำหนดเงินทุนไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท
ดังนั้นเรื่องทุนไม่มีปัญหาในการมีธนาคารประชาชนของตัวเอง จะเป็นธนาคารประชาชนแห่งแรกของประเทศเป็นเรื่องที่เป็นได้ ซึ่งเป้าหมายของการจัดตั้งธนาคารไม่มุ่งหวังกำไร แต่จะเป็นที่พึ่งที่ประชาชนที่เป็นเจ้าของ
ขณะที่ความสำเร็จของการใช้เงินทุนหมุนเวียนจากรัฐบาล ปัจจุบันกองทุนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลให้เงินทุน 1.8 แสนล้านบาท รวมกับเงินจากโครงการประชารัฐ 7 หมื่นล้าน แต่พบว่าเงินดังกล่าวไม่หายไปไหน ยังหมุนเวียนสร้างความยั่งยืน เพราะปัจจุบันกองทุนมีเงินทุนดังกล่าวอยู่ถึง 90% และยังสร้างผลกำไรจากเงินประชารัฐที่ได้รับมารวม 3 ปี เป็นเงินกว่า 8 พันล้านบาท ลบคำสบประมาทว่ากองทุนใช้เงินไม่เป็น