อสังหาฯชู “สมาร์ท ลิฟวิ่ง” รับเทรนด์ Lazy Consumer แรง !!
จากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตด้วยการหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีต่างๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เพราะไม่อยากจะเสียเวลา "นวัตกรรม" และ"เทคโนโลยี" จึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
เพราะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีเวลาในการทำสิ่งสำคัญได้มากขึ้น เนื่องจาก เวลาที่มีอยู่อย่าง “จำกัด” และภารกิจต่างๆ ในแต่ละวันที่เพิ่มมากขึ้น
สอดคล้องกับทฤษฎี Lazy User Model ที่ระบุไว้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์มักจะหา “ทางเลือก” ที่ช่วยประหยัดเวลา ประหยัดแรงงานหรือหาทางลัด ในการตอบสนองความสะดวกสบายให้กับตัวเอง ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ เรียกว่า “Lazy Consumer” และเป็นที่มาของ ‘Lazy Economy’ ที่มาแรงเทรนด์ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย
จึงไม่น่าแปลกใจหากเห็นดีเวลลอปเปอร์หลายค่ายต่างออกมานำเสนอ 'Living Solution' ผ่านสมาร์ทโฮมในโครงการ ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ควบคุมความสะดวกสบายภายในบ้าน เช่น สั่งเปิดปิดไฟได้จากโทรศัพท์มือถือ เปิดหรือปิดไฟอัตโนมัติเมื่อเข้ามาในบ้าน สั่งให้เครื่องปรับอากาศทำงานเป็นเวลา สั่งให้ระบบไฟฟ้าตัดหรือทำงานโดยอัตโนมัติ หรือแม้แต่ระบบความบันเทิงและระบบรักษาความปลอดภัย
สมเกียรติ หงษ์ทรัพย์ภิญโญ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการแนวราบ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นยุคที่คนต้องการความสะดวกสบายด้วยการหันมาพึ่งเทคโนโลยีในการใช้ชีวิตเพื่อมาช่วยลดการทำงานเล็กๆ น้อยๆ และนำเวลาไปทำงานที่สำคัญมากขึ้น ในฐานะเป็นผู้ให้บริการต้องนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของลูกค้า แม้ว่าปัจจัยการซื้ออสังหาฯยังคงเป็นเรื่องโลเคชั่น อันดับสองเรื่องราคา และอันดับสามเป็นเรื่องความน่าเชื่อถือที่เชื่อมโยงกับแบรนด์ดิ้งรวมถึง “บริการ” ที่เข้ามาเป็น ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้ออีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญ
ที่ผ่านมาบริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีมาตลอดแต่ส่วนใหญ่จะเป็นระบบการให้บริการส่วนกลาง เช่น Facial Recognition ระบบการจัดเก็บและจดจำใบหน้าของบุคคลที่เข้ามาในโครงการ, Sansiri’s First Smart Home Model ที่รวบรวมเทคโนโลยีเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้แก่ลูกบ้าน และ Digital Security Service การบริหารความปลอดภัยด้วยระบบดิจิทัล แต่จากแนวโน้มความต้องการของกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะเจนวาย ที่ให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัยแบบ ‘สมาร์ทลิฟวิ่ง’ เพราะของมันต้องมี
จึงเป็นเหตุผลทำให้ แสนสิริ จึงได้นำเสนอการอยู่อาศัยแบบ สมาร์ท ลิฟวิ่ง (Smart Living) อย่างเต็มรูปแบบเพื่อเป็นโชว์เคส 2 โครงการ โครงการแรกที่โครงการเศรษฐสิริ กรุงเทพกรีฑา 2 และ โครงการเศรษฐสิริ ทวีวัฒนา ที่มีระดับราคาตั้งแต่ 14-36 ล้านบาท
“เหตุผลที่ทำแนวราบกับ 2 โครงการนี้ก่อนเพื่อเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจมิติใหม่แห่งการอยู่อาศัยแบบสมาร์ท ลิฟฟวิ่ง ในแบบฉบับของแสนสิริเป็นครั้งแรก กับแสนสิริ สมาร์ท โฮมที่สามารถสั่งการด้วยเสียงบน Google Assistant ผู้ช่วยอัจฉริยะประจำบ้านโดยเป็นแพลตฟอร์มหลักในการสั่งการด้วยเสียงกับอุปกรณ์สมาร์ทโฮม ที่ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ เอนเตอร์เทนเมนต์ สั่งงานด้วยเสียงเพื่อเปิด-ปิด ควบคุมและปรับระดับเสียงเพลงและทีวีภายในบ้าน ,ความสะดวกสบาย ด้วยการสั่งงานด้วยเสียงเพื่อเปิด-ปิด ควบคุมและปรับระดับเสียงเพลงและทีวีภายในบ้าน ,ความปลอดภัย สามารถเรียกดูกล้องวงจรปิด CCTV จากโรงรถและริมรั้ว เพื่อแสดงผลบนจอดิสเพลย์ และการประหยัดพลังงาน ด้วยการติดตั้งระบบเปิด-ปิด และปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ ช่วยควบคุมอุณหภูมิในบ้านเพื่อการประหยัดพลังงานแบบอัตโนมัติ ”
สมเกียรติ มองว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เข้ามาประยุกต์ใช้โครงการแสนสิริเป็นครั้งแรกเพื่อสร้างความ‘จุดแข็ง’ให้กับโครงการแนวราบเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในตลาดบ้านเดี่ยวและ ติดอันดับ1 ใน 3 ของตลาดทาวน์เฮาส์ใน 3 ปี ด้วยจุดเด่นและฟังก์ชั่นที่แตกต่าง ผ่านแสนสิริ สมาร์ท โฮม ที่สั่งการด้วยเสียงเชื่อมต่อเทคโนโลยี AI และ IoT ภายในและรอบตัวบ้าน รองรับการใช้งานของทุกสมาชิกในครอบครัว ครอบคลุมทุกความต้องการที่แตกต่างกันของทุกเจเนอเรชั่น เพื่อนำเสนอการอยู่อาศัยแบบ สมาร์ท ลิฟวิ่ง อย่างเต็มรูปแบบ ร่วมกับอุปกรณ์สมาร์ทโฮมอื่น ๆ อาทิ สปีคเกอร์ B&O หลอดไฟอัจฉริยะ Philips Hue และเซ็นเซอร์ตรวจวัดการนอน Withings Sleep
นอกจากนี้ ยังสามารถทำงานแบบอัตโนมัติผ่านระบบเซ็นเซอร์ เช่น การตรวจวัดการนอน และการตรวจจับการล้มเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้สูงอายุได้อีกด้วย หากลูกค้าที่สนใจสามารถซื้อแพคเกจนี้ราคาเริ่มต้น 300,000 บาท ตั้งแต่ปี2563เป็นต้นไป
“ในอนาคตอันใกล้ของภาพรวมตลาดเทคโนโลยีระดับโลก เราจะได้เห็นบทบาทการทำงานของเทคโนโลยี ที่จะคอยใส่ใจ บริบทหรือข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์เพื่อนำไปใช้ในการประมวลผล หาคำตอบหรือตอบสนองล่วงหน้าให้กับผู้ใช้ในเฟสต่อไป โดยเราวางแผนต่อยอดการศึกษาวิจัยสู่การพัฒนา Context-Aware Smart Home บ้านอัจฉริยะที่ลดการสั่งการด้วยเสียงหรือผ่านแอพพลิเคชั่น แต่จะก้าวล้ำยิ่งกว่าด้วยความสามารถในการปรับฟีเจอร์แบบอัตโนมัติให้ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม พฤติกรรมหรือบริบทของผู้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผ่านการทำงานร่วมกันของระบบ เซนเซอร์ , บิ๊กดาต้า, อัลกอริทึม, เอไอ และไอโอที”
กลยุทธ์ดังกล่าว จะช่วยสร้างความโดดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่งจากการได้ใช้ แพลตฟอร์มด้วยเสียงกับอุปกรณ์สมาร์ทโฮม ที่ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ เอนเตอร์เทนเมนต์ ,ความสะดวกสบาย ,ความปลอดภัย และการประหยัดพลังงาน ที่ครอบคลุมความต้องการพื้นฐานของลูกค้า ซึ่งในอนาคตมีรายละเอียดแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ หากใครสามารถจับความต้องการของลูกค้าได้ก่อนย่อมได้เปรียบ