'ปีทอง' ธุรกิจบริหารหนี้ 'ศก.ชะลอ-บัญชีใหม่' หนุน
ประเทศไทยได้เข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นของหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) มาตั้งแต่ปี 2557 จากภาคธุรกิจ SME ค่าเงินบาทที่แข็งค่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจ และกำลังซื้อในต่างจังหวัด ส่งผลให้ NPLรวมได้ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 10% ในช่วงปี 2556-2562
ส่วนในปี2562 พบว่า NPL ก็ยังคงปรับเพิ่มขึ้น 6% จากต้นปี และแตะจุดสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 4.69 แสนล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี2562 ทำให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวม (Gross NPL ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์ทะลุระดับ 3% เป็นที่เรียบร้อย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าวัฎจักร NPL ขาขึ้นรอบนี้จะดำเนินต่อเนื่องไปในปี 2563 ซึ่งเป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยคาดว่า NPL จะปรับขึ้นไปปิดสิ้นปี 2563 ที่กรอบประมาณ 3.02-3.10%
ทาง "บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย" มองว่า NPL ที่ปรับสูงขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพสองทางด้วยกัน คือความต้องการใช้บริการติดตามทวงถามหนี้จากลูกค้ากลุ่มธนาคารที่สูงขึ้น เพราะ NPL สูงขึ้น และธุรกิจบริหารหนี้เสียจะมีโอกาสมากขึ้นในการรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพในราคาที่น่าดึงดูด เนื่องจากมีอุปทาน NPL จำนวนมากในตลาด คาดว่ากลุ่มธนาคารอาจขาย NPL สูงกว่า 1 แสนล้านบาทในปีหน้า สูงกว่าอุปสงค์ที่7 หมื่นล้านบาท ของบริษัทที่รับซื้อหนี้ 3 รายใหญ่รวมกัน
นอกจากนี้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 รวมถึงเกณฑ์การดำรงเงินสำรองขั้นต่ำของสถาบันการเงิน ที่บังคับให้ธนาคารพาณิชย์กันเงินสำรองขั้นต่ำ 1% ของสินทรัพย์และรายการนอกงบดุลที่ไม่ด้อยคุณภาพ เพื่อลดความผันผวนของระดับเงินกองทุนตามสภาวะเศรษฐกิจ จะกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ขายหนี้ด้อยคุณภาพออกมามากขึ้นด้วย เพื่อลดผลกระทบจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้นภายใต้มาตรฐานทางบัญชีแบบ TFRS 9 ในปี 2563
ในทางตรงกันข้าม คาดว่ามาตราการบัญชี TFRS9 น่าจะมีผลกระทบในทางบวกกับธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาการคิด Fair value ของหนี้ที่มีหลักประกัน นอกจากนี้ การรับรู้รายได้จากการขายสินทรัพย์จะเร่งตัวขึ้น จากมาตรฐานการบัญชีปัจจุบันที่รับรู้เมื่อขาย ซึ่งผลกระทบโดยรวมคาดว่าจะเป็นในทางบวกต่อกำไรของธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ
อนึ่งมาตรฐาน TFRS9 จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2563 ตาม TFRS9 ด้วย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของผู้สอบบัญชี กล่าวคือปัจจุบันการรับรู้รายได้จากทรัพย์สินพร้อมขาย (NPA) จะรับรู้เมื่อขายได้ แต่ TFRS9 จะให้ทยอยรับรู้รายได้เร็วขึ้น โดยให้นำรายได้มาเฉลี่ยด้วยจำนวนปีที่คาดว่าจะขาย NPA ได้และทยอยรับรู้ในแต่ละปี ทำให้กำไรในปี 2563 มีโอกาสเติบโตสูงหากเปลี่ยนวิธีรับรู้รายได้ตาม TFRS9 ทั้งนี้ ลักษณะเด่นของธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ คือ มีความเป็น counter cyclical เพราะเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง จะสามารถรับซื้อ NPL/NPA ในราคาที่ถูกลง มีทางเลือกมากขึ้น เนื่องจากมีอุปทานของ NPL/NPA มากขึ้นในตลาดช่วงขาลง
นอกจากนี้บริษัทยังเดินหน้าในเชิงรุกได้มากขึ้น สืบเนื่องจาก funding cost ที่ลดลงในสภาวะดอกเบี้ยต่ำ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเศรษฐกิจขาลงและตลาดอสังหาฯอ่อนแอ การขาย NPA และการเรียกเก็บเงินอาจมีภาพรวมที่ไม่ดีนัก ส่วนในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น แม้อุปทาน NPL/NPA อาจปรับลดลง แต่กระบวนการชำระบัญชีและการเรียกเก็บเงินของบริษัทที่บริหารหนี้ด้อยคุณภาพก็จะปรับดีขึ้น จากสภาพตลาดอสังหาฯ ที่ดีขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ดีขึ้น และอุปสงค์ต่อสินทรัพย์การลงทุนที่มากขึ้น
จึงมองว่าธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพมีความโดดเด่น จากความสามารถที่จะทนทานต่อวัฏจักรเศรษฐกิจเป็นอย่างดี ความสามารถที่จะรักษาการทำกำไรได้ดีทั้งในช่วงขาขึ้นและขาลงของเศรษฐกิจ และยังเป็นธุรกิจที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชี TFRS9