เอฟทีเอดันไทยส่งออกสินค้าไก่อันดับ 3 ของโลก
พาณิชย์ เผย ตัวเลขส่งออกไก่ 11 เดือนปี 62 โต 8 % พบเอฟทีเอมีส่วนดันให้ไทยเป็นประเทศส่งออกสินค้าไก่อันดับ 3 8 ตลาดจีนขยายตัวมากสุด 290 %
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) ของปี 2562 พบว่าเอฟทีเอเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไก่ของไทยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถส่งออกสินค้าไก่สู่ตลาดโลกมูลค่า 3,116 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8 % จากช่วง 11 เดือนแรกของปี 2561 โดยเป็นการส่งออกไปยังประเทศคู่เอฟทีเอ 2,237 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 72 % ของการส่งออกสินค้าไก่ของไทยทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 9 %
ตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว อาทิ จีน ขยายตัว 290 % มูลค่าส่งออก 190 ล้านดอลลาร์ เกาหลีใต้ ขยายตัว 41 % มูลค่าส่งออก 147 ล้านดอลลาร์ ฮ่องกง ขยายตัว 5 % มูลค่าส่งออก 59 ล้านดอลลาร์และ ญี่ปุ่น ขยายตัว 3 % มีมูลค่าส่งออก 1,636 ล้านดอลล่าร์ มีไก่แปรรูป และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เป็นสินค้าส่งออกดาวเด่น ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกไก่แปรรูปอันดับ 1 ของโลกมากว่า 15 ปี และในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 ไทยส่งออกไก่แปรรูป 2,392 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ถึง 7 %
นางอรมน กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้สินค้าไก่ของไทยเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปที่ทันสมัย ระบบฟาร์มมีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมป้องกันการแพร่กระจายโรคระบาดได้ดี รวมทั้งสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมามีโรคอหิวาห์หมูระบาดในต่างประเทศ (จีน เวียดนาม) ทำให้ประเทศผู้บริโภคในต่างประเทศหันมานำเข้าและบริโภคสินค้าไก่ของไทยแทน
ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สร้างความได้เปรียบและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้สินค้าไก่ของไทยในประเทศคู่ค้า ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไก่ของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภายใต้ความตกลงการค้าเสรีของไทย 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ มีประเทศคู่เอฟทีเอที่ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไก่ทุกรายการของไทยแล้ว 12 ประเทศ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา บรูไน ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาวและฮ่องกง ส่วนอีก 6 ประเทศที่เหลือ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ชิลี เปรู และเวียดนาม ได้ลดเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไก่บางส่วน และคงการเก็บภาษีนำเข้าในบางรายการสินค้า
สำหรับสหภาพยุโรป แม้ปัจจุบันยังไม่มีเอฟทีเอกับไทย แต่สหภาพยุโรปได้จัดสรรปริมาณโควตานำเข้าสินค้าไก่ให้ไทยเป็นกรณีพิเศษ ทำให้สินค้าไก่ของไทยที่ส่งไปสหภาพยุโรปภายใต้โควต้าจะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ ทั้งนี้ กรมฯ พร้อมเดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าไก่ให้ไทยเพิ่มเติมผ่านการทบทวนเอฟทีเอที่มีอยู่ในปัจจุบัน หาข้อสรุปเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา รวมถึงการเปิดเจรจาเอฟทีเอใหม่ๆ อาทิ สหราชอาณาจักร สมาคมการค้าเสรียุโรป (เอฟต้า) รวมถึงสหภาพยุโรปที่เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสินค้าไก่ที่สำคัญของไทย