ร้อนเงิน...แต่อาย !! โจทย์ 60 ปีผู้บริโภคไม่เข้าโรงตึ๊ง
ส่องธุรกิจโรงรับจำนำ “แสนล้าน” แหล่งแปลงทรัพย์สินเป็นเงิน เสริมสภาพคล่อง อีกดัชนีชี้เศรษฐกิจ แต่กว่า 60 ปี ภาพจำติดหัว ร้านทึบ หลงจู๊พูดจากร้าว กดราคาทรัพย์สิน ใช้บริการแล้ว อาย! อีซี่มันนี่ ลุยล้างภาพลบ หวังเป็น“ทางเลือก" วันเศรษฐกิจทรุด
“โรงรับจำนำ” หรือภาษาชาวบ้านอาจเรียกขานกัน “โรงตึ๊ง” เป็นสถานที่ที่ประชาชนจะเข้าไปใช้บริการก็ต่อเมื่อ “ร้อนเงิน” เงินช็อตกะทันหันและต้องรีบหาเงินมา “หมุนเวียน” ในชีวิตประจำวัน ประกอบสัมมาอาชีพ
ทั่้งนี้ โรงรับจำนำ ในส่วนที่เป็นโรงรับจำนำของภาครัฐ เกิดขึ้นในประเทศไทยมานาน 65 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2498 สมัย ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย (ที่มา : สำนักงานธนานุเคราะห์)
ทว่าภาพจำ(Perception)ของโรงรับจำนำกลับออกไปทาง “ลบ” ในสายตาคนทั่วไป ยิ่งดูละครชีวิต ดราม่าต่างๆ ยิ่งตอกย้ำการเข้าไปโรงรับจำนำ คือ ผู้มีฐานะยากจนข้นแค้น ถังแตก ฯ จะเข้าทีต้องคอยหลบๆซ่อนๆผู้คนไม่ให้เห็น เมื่อเข้าไปภายในโรงรับจำนำจะเจอกับบรรยากาศทึมๆ มีกรงเหล็กกั้นระหว่างผู้รับจำนำและผู้นำทรัพย์ไปจำนำ เจอบริการไม่ดี พูดจากระโชกโฮกฮาก ซ้ำร้ายต้องการเงินก้อนหนึ่งไปใช้ กลับเจอการ “กดราคา” ทรัพย์ต่ำ ดูหน้าเลือดไม่เห็นใจผู้เดือดร้อน จนผู้นำทรัพย์ไปจำนำต้องอ้อนวอนหลงจู๊หรือผู้จัดการร้านให้เพิ่มเงินอีกนิด ตลอดจนจำนำทรัพย์ไว้ พอไถ่ถอนทรัพย์ กลับไม่อยู่ในสภาพเดิม เช่น ข้อทองคำหายไป ฯ
เมื่อละครสร้างจากเรื่องจริง และเรื่องจริงมักยิ่งกว่าละครเสมอ ทำให้ Painpoint ใหญ่ของธุรกิจโรงรับจำนำจึงไม่ดีนัก หลากปัญหาเหล่านั้น ภาครัฐ โดยกระทรวงมหาดไทย จึงตั้งโรงรับจำนำขึ้นมา มีทั้งสถานธนานุเคราะห์ ปัจุบันมี 39 สาขา ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯและต่างหวัดบางส่วน และสถานธนานุบาล สังกัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) มีทั้งสิ้น 21 สาขา
วัตถุประสงค์หลักๆของโรงรับจำนำรัฐ เพื่อสงเคราะห์และช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มีทรัพย์สิน ให้สามารถนำจำนำแปรเป็นเงิน และคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตามกฏหมายพ.ร.บ.โรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 หากเงินต้นไม่เกิน 2,000 บาท อัตราดอกเบี้ย อยู่ที่ 2% ต่อเดือน และเงินต้นเกิน 2,000 บาท อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.25% ต่อเดือน หรือสูงสุดไม่เกิน 15% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรดิเครดิต บัตรกดเงินสดที่สูงสุดไม่เกิน 28% ต่อปี หรือต่างกันเกือบ 50%
แต่กระนั้น การเข้าไปโรงรับจำนำกลับมี “กำแพง” กั้นไม่ให้เข้าไป เพราะไม่กล้า เขินอาย สารพัดปัญหานั่นเอง ทั้งที่กระบวนการใช้บริการง่าย สะดวก รวดเร็ว เพราะมีเพียงประชาชนอายุ 15 ปี พกบัตรประชาชน และมีทรัพย์พร้อมจำนำ สามารถให้เจ้าหน้าที่ประเมินมูลค่าและรับเงินได้ทันที ดีกว่าบากหน้าไป “กู้นอกระบบ” ที่ดอกเบี้ยและการทวงหนี้..มหาโหด!! แต่สิ่งที่สถาบันการเงินอื่น รวมถึงเงินกู้นอกระบบตอบโจทย์เพราะประชาชนต้องการเท่าไหร่ ได้จำนวนเงินมาเท่านั้น
สิทธิวิชญ์ ตั้งธนาเกียรติ
**อัพเกรดโรงรับจำนำทันสมัย
“อีซี่ มันนี่”(Easy Money) ธุรกิจโรงรับจำนำเอกชนรายใหญ่ของไทย ที่เกิดจากการปลุกปั้นของ “สิทธิวิชญ์ ตั้งธนาเกียรติ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งธนสิน จำกัด และเป็นผู้พยายาม “ล้างภาพ” โรงตึ๊งแบบเดิมๆในแง่ลบให้เป็นภาพใหม่
ย้อนไป 15 ปีก่อน เจตนารมย์แรกตั้งแต่รุกธุรกิจโรงรับจำนำ สิทธิวิชญ์ ต้องการให้รูปลักษณ์ภายนอกทันสมัย ไร้กรงเหล็ก ส่วนบริการภายในต้องเป็น “มิตร” เป็นเพื่อนแท้ให้กับผู้ที่เดือดร้อน รวมถึงพยายามสร้างมาตรฐานหลายอย่างให้ผู้บริโภคเกิดภาพจำใหม่ๆในการเข้าไปใช้บริการ รวมถึงหวังเป็น Top Of Mind ของผู้บริโภค เมื่อร้อนใจเรื่องเงินให้ไปโรงรับจำนำ
พยายามมา 15 ปี ภาพการรับรู้โรงรับจำนำสมัยใหม่ดีขึ้น แต่ยังไม่เป็น Top of Mind หรือเรียกว่าห่างการให้บริการสินเชื่อประเภทอื่นๆแบบไม่เห็นฝุ่น
“ประชาชนร้อนเงิน โรงรับจำนำไม่ใช่บริการแรกที่ประชาชนจะเลือกใช้ ไม่เป็น Choice หรือทางเลือกเลย ทั้งที่ข้อดีเยอะมาก” เขาเล่าและยกตัวอย่างจุดดีประชาชนเพียงปั่นจักรยาน ขับขี่มอเตอร์ไซต์มา นำทรัพย์และบัตรประชาชนยื่นให้เจ้าหน้าที่ประเมินทรัพย์ ก็ได้เงินแล้ว อย่างที่อีซี่มันนี่ ประเมินทองคำและจ่ายเงินภายใน 3 นาทีเท่านั้น(ไม่รวมเวลาเข้าคิวใช้บริการ) ส่วนทรัพย์อื่นๆ ใช้เวลาประเมินแตกต่างกันไป แต่ช้าสุดกินเวลา 20-30 นาที
บนโลกออนไลน์อย่าง เว็บไซต์พันทิป(Pantip) มีการตั้งกระทู้ถึงการเข้าใช้บริการในโรงรับจำนำ ยังเป็นเรื่องที่เขินอาย ราคาประเมินทรัพย์ที่ได้ “ต่ำ” จนน่าผิดหวัง เพราะบางรายแบกข้าวของหนักไปถึงที่ แต่ต้องกลับออกมา “มือเปล่า” เพราะหลงจู๊ไม่รับจำนำ เช่น คอมพิวเตอร์ มือถือ ที่ตกรุ่น ฯ นั่นสะท้อนว่าเข้าไปอย่างไร เงินที่ได้กลับมาเสริมสภาพคล่อง สางปัญหาทางการเงินยังไม่หมดไปซะทีเดียว ขณะที่การพูดจาให้บริการที่ไม่ดี ทำให้ดูเหมือนไม่มีความเท่าเทียมกันของผู้รับจำนำและผู้นำทรัพย์ไปจำนำ แม้มุมมองบวกจะมีมาก ทั้งอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทรัพย์ยังอยู่ มีเงินสามารถไปไถ่ถอนมาได้ บางพื้นที่ในต่างจังหวัด หมดฤดูกาลเกษตร มีการนำสังหาริมทรัพย์บางอย่างไปจำนำเพื่อให้โรงรับจำนำดูแลรักษาไว้ก็มี
การประเมินค่าสินทรัพย์ ถือเป็นความเสี่ยงของธุรกิจโรงรับจำนำ จึงมีผลต่อเม็ดเงินที่ให้แก่ลูกค้า สิทธิวิชญ์ เล่าว่า ในการประเมินราคาสินทรัพย์แต่ละครั้ง จะต้องพิจารณาราคาตลาด รวมถึงแนวโน้มของราคาสินทรัพย์ในอนาคต เพราะหากสิ่งของหลุดจำนำ บริษัทจะนำไปขายในตลาดรอง เพื่อหารายได้หมุนเวียนในธุรกิจต่อไป เช่น ราคาทองคำ ซึ่งปัจจุบันมีความ “ผันผวน” อย่างมาก เวลาทองราคาปรับตัวสูงขึ้น ประชาชนจะหาเงินมาไถ่ถอน แต่เมื่อราคาตก จะปล่อยให้หลุดจำนำ
สถานการณ์ดังกล่าว เคยส่งผลกระทบให้บริษัทโตต่ำมาแล้วในปี 2553 ซึ่งราคาทองคำรูปพรรณตกไปถึงบาทละ 18,000 บาท
การยกระดับโรงรับจำนำให้ทันสมัยของอีซี่ มันนี่ ยังมีการนำระบบ และเทคโนโลยีเข้ามาให้บริการแก่ลูกค้าด้วย เช่น การสแกนนิ้ว แทน “ปั๊มหัวแม่มือ” ตีตราบนตั๋วรับจำนำ การสแกนยังทำให้มั่นใจว่าตอนมาไถ่ถอนนำทรัพย์กลับคืนแม่นยำกับคนเดิมด้วย มีการจัดคิวให้บริการเป็นระบบ ร้านภายในยังโปร่งใส มีกระจกกั้นแทนกรงเหล็ก
ส่วน “ทรัพย์สิน” มีห้องมั่นคงเพื่อเก็บรักษาไว้อย่างดี ไม่แค่นั้นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง เช่น ทองคำ เครื่องประดับเพชร ยังเก็บแยกเพื่อป้องกันเหลี่ยมเพชรกระทบกันเกิดความเสียหายด้วย ย้ำให้เห็นถึงความปลอดภัยอีกด้วย
หนึ่งใน Painpoint ที่คนไม่กล้าเข้าโรงรับจำนำเพราะอาย ถูกหมิ่นไม่มีเกียรติบ้าง ทำให้ สิทธิวิชญ์ เปิดพื้นที่ห้องวีไอพีในทุกสาขา เพื่อรับบรรดาเศรษฐี คนมีเงินมาก นำทรัพย์ปริมาณมากๆ มาประเมินเป็นการส่วนตัวด้วย
อย่างไรก็ตาม อีซี่มันนี่ ถือเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ปฏิวัตโรงรับจำนำให้ทันสมัยเป็นรายแรก แต่ปัจจุบันเอกชนหันมาอัพเกรดธุรกิจให้โมเดิร์นมากขึ้น ได้แก่ แคช เอ็กซ์เพรส และยังอัพเดทเทรนด์ของทรัพย์สินเกาะกระแสต่างๆเสมอ อย่างเครื่องประดับนาฬิกานาฬิกาโรเล็กซ์รุ่นต่างๆ ที่ “ลิซ่า แบล็คพิงค์” คนไทยหนึ่งในสมาชิกเคป๊อปที่โดงดังก้องโลกสวมใส่ และโรงรับจำนำมันนี่ คาเฟ่ ปิ่นคู่ เป็นต้น
**"แบรนด์เนม"แห่เข้าโรงตึ๊ง
สำหรับสินค้าที่จำนำได้จะเป็น “สังหาริมทรัพย์” ที่เคลื่อนย้ายได้ เว้นที่มีการตีทะเบียน เช่น รถยนต์ และอาวุธปืน หากย้อนอดีตสินค้าที่เข้าโรงตึ๊งมีมากมาย ไม่เว้นกระทั่งครก สาก และปัจจุบัน “ครกอ่างศิลา” ยังจำนำได้ แต่ยุคสมัยเปลี่ยน ทรัพย์บางประเภทมาแรงขึ้น
สิทธิวิชญ์ บอกว่า ทองคำ เครื่องประดับเพชร นาฬิกา สินค้าไอที เป็นทรัพย์สินยอดฮิตที่ประชาชนนำเข้าแปรเป็นเงิน ทว่า ที่มาแรงและเป็นเรื่องแปลก คือ สินค้าแบรนด์เนม ที่เป็นเช่นนั้น เขาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ฉลาดเลือก ฉลาดซื้อมากขึ้น และมองสินค้าแบรนด์เนมมีคุณภาพ บางรายการมีมูลค่าเพิ่มได้ด้วย
ทั้งนี้ ทรัพย์สินแปลกที่ถูกนำมาจำนำที่อีซี่มันนี่ ยกให้ “ถุงกอล์ฟหลุยส์ วิตตอง”
แต่หากย้อนไปปี 2561 ซึ่งละครย้อนยุค “บุพเพสันนิวาส” มาแรง ส่งผลให้เครื่องใช้เครื่องประดับทองคำ เช่น หวี เข็มขัด สร้อย ช้อน แม้กระทั่ง “เงินพดด้วง” ก็ถูกนำมาแปรเป็นเงินด้วย
“ที่แปลกคือกระแสการนำสินค้าแบรนด์เนมมาจำนำมากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่ เช่น จบการศึกษาเริ่มซื้อหลุยส์ แล้วขยับไปเป็นชาแนล จนถึงแอร์เมส เราเองจะแนะนำลูกค้าด้วยว่า หากจะซื้อสินค้าแบรนด์เนม เช่น กระเป๋าหลุยส์ วิตตอง จะแนะนให้ซื้อรุ่นสปีดี้ เพราะราคาไม่ตก”
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการจำนำทรัพย์ มีการไถ่ถอน ก็มีการไม่ไถ่ถอนทำให้ “ทรัพย์หลุดจำนำ” ส่วนทรัพย์สินเหล่านั้น จะถูกนำไปจำหน่ายสู่ตลาดรองต่อไป ซึ่งลูกค้าที่สนใจสามารถไปทรัพย์สินต่างๆหลัก “พันรายการ” ได้ที่อีซี่มันนี่ 50 สาขาทั่วประเทศ และร้านอีซี่ มันนี่ ช้อป 2 สาขา รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของอีซี่มันนี่ ซึ่งราคาจะต่ำกว่ามือถือ 1 ในท้องตลาดประมาณ 40% เช่น เครื่องประดับเพชรราคาตลาด 20,000 บาท ขายเพียง 12,000 บาท(ชึ้นกับสภาพทรัพย์ด้วย) โดยแต่ละเดือนบริษัทขายทรัพย์หลุดจำนำได้หลัก “ร้อยล้านบาท” ต่อเดือน
**โบนัสออก-สงกรานต์ นาทีทองไถ่ทรัพย์
อีซี่มันนี่ เปิดให้บริการ 50 สาขา ทั่วทุกภาคของไทย มีลูกค้าใช้บริการ “หลายแสนราย” โดยสาขารังสิต มีผู้เข้าใช้บริการมากสุดหลายร้อยรายต่อวัน ขณะที่ฐานลูกค้าปี 2562 แบ่งเป็นพนักงานเงินเดือน 75% และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) 25% หลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ขาย ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวเปลี่ยนจากปี 2561เป็นพนักงานเงินเดือน 77% และเอสเอ็มอี 23%
ทั้งนี้ พนักงานจะทำการจำนำทรัพย์สินค้าเฉลี่ย 20,000 บาทต่อครั้ง และเอสเอ็มอีเฉลี่ย 100,000 บาทต่อครั้ง
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.โรงรับจำนำ กำหนดระยะเวลาจำนำและส่งดอกเบี้ย 4 เดือน 30 วัน หากไม่ไถ่ถอนตามกำหนดทรัพย์จะหลุดเป็นของโรงรับจำนำ หากมาดูอินไซต์ของพฤติกรรมการจำนำและไถ่ถอน สิทธิวิชญ์ ฉายภาพเทรนด์เปลี่ยนไป เดิมตรุษจีนจะมีการไถ่ถอนทรัพย์ แต่ปัจจุบันลดลงไปมาก
ส่วนนาทีทองที่ประชาชนนิยมไถ่ถอนทรัพย์ จะเป็นครึ่งหลังของเดือนธันวาคม เพราะเป็นช่วงที่พนักงานได้รับ “โบนัส” ตุงกระเป๋า เพื่อไถ่เพชรพลอย ทองหยองสวมใส่ประดับตัวกลับบ้านเกิดเมืองนอนรับปีใหม่ อีกช่วงคือก่อนเทศกาล “สงกรานต์” เพราะปีใหม่มีทองใส่กลับบ้าน สงกรานต์ ทองหยองต้องยังอยู่เช่นกัน
อีกหนึ่งไฮไลท์ของธุรกิจโรงรับจำนำคือ “ก่อนเปิดเทอม” ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ของทุกปี บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองจำนำทรัพย์สินไปจำนำ เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อจ่ายค่าเทอม ค่าเล่าเรียนให้แก่บุตรหลาน โดยช่วงดังกล่าวมีเม็ดเงินสะพัดร่วม “พันล้านบาท”
นอกจากนี้ การเติบโตจะมากถึง 40-50% เทียบกับช่วงปกติที่มีการรับจำนำด้วย
*****************
ทรัพย์หลุดจำนำ ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ
จีดีพี หนี้ครัวเรือน การนำเข้า-ส่งออก เป็น “ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทย” แต่ที่ผ่านมาสินค้าและบริการหลายอย่างถูกหยิบยกเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็น “มาม่า-ปลากระป๋อง” เมื่อยุครัดเข็มขัด เศรษฐกิจฝืดเคือง ยอดขายสินค้าดังกล่าวจะเติบโต แต่ผู้บริหารค่ายมาม่า มักจะออกมาแจงว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ใช่ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจดิ่ง เพราะช่วงเศรษฐกิจโต ยอดขายมาม่าก็โต แต่กระนั้นมาม่าและปลากระป๋อง ไม่พ้นถูกนำไปอ้างอิงอยู่ดี
ล่าสุด สิทธิวิชญ์ ชูธุรกิจโรงรับจำนำให้เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทยได้อย่างดี เนื่องจากแต่ละวันใกล้ชิดกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายหลากหลายอาชีพ ทั้งมนุษย์ เงินเดือน เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอี และคนเหล่านี้ “มีวินัยทางการเงิน” เพียงแต่บางครั้งเงินขาดมือปุบปับ จึงต้องหาเพิ่มสภาพคล่องระยะสั้น เช่น ลูกค้ารายหนึ่งสั่งจ่ายเช็คผิดวัน โดยมีเวลา 4 ชั่วโมงเท่านั้นเพื่อหาเงินมาหมุนเวียน ระยะเวลาสั้นมา คำตอบจึงเป็นการนำทรัพย์สินไปโรงรับจำนำ ได้เงินเร็วสุด และแก้ปัญหาทางการเงินได้ทันท่วงทีไม่กระทบธุรกิจ เครดิตความน่าเชื่อถือต่างๆ
เมื่อลูกค้ามีวินัยทางการเงิน ตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ จึงเป็นประเด็น “ทรัพย์หลุดจำนำ” ซึ่งปี 2562 มีสัดส่วน 4.9% ลดลง 0.1% จากปี 2561 ที่ 5%
“โรงรับจำนำเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทยระดับหนึ่ง เพราะเราสัมผัสกับลูกค้าทุกรายโดยตรง ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ ทราบวัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายเงิน อย่างมนุษย์เงินเดือนคนเหล่านี้มีรายได้จะนำไปซื้อทรัพย์สินตามรสนิยมตนเอง แต่ถ้าเศรษฐกิจฝืดเคือง ได้โบนัสน้อย คนตกงาน จะไม่มีเงินมาไถ่ถอนทรัพย์ ทำให้ทรัพย์หลุดจำนำเยอะ ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พ่อค้าแม่ขาย เวลาเศรษฐกิจดีจะนำทรัพย์มาจำนำเพื่อขยับขยายธุรกิจ เพิ่มสต๊อกสินค้า ซึ่งช่วงจำนำเยอะไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจไม่ดี แต่ต้องการเพิ่มโอกาสการค้าขายให้คึกคัก ต้องการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น มีเงินจะมาส่งดอกเบี้ยและไถ่ถอนทรัพย์”
แล้วปล่อยให้ทรัพย์หลุดจำนำสัดส่วนเท่าไหร่ จึงสะท้อนเศรษฐกิจตกต่ำ เขาบอกว่า 7% เป็นสัญญาณ “ร้าย” เพราะนั่นหมายถึงเงินในกระเป๋าผู้บริโภคหดหายไป ไร้อำนาจซื้อแม้กระทั่งไถ่ถอนทรัพย์สินอันมีค่าของตนเอง
ปิดปี 2562 ทรัพย์หลุดจำนำหดตัวลงเล็กน้อย สิทธิวิชญ์ จึงประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะทรงตัว ขณะที่ต้นปี 2563 สถานการณ์ต่างๆยังปกติ จึงคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2563 ยังทรงตัวเท่ากับปีก่อนด้วย ส่วนอีซี่มันนี่ มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจแต่ละเดือนราว 3,000 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะเติบโต20%
หากเศรษฐกิจฝืดเคือง ความเป็นอยู่ปากท้องลำบาก ยังวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจโรงรับจำนำจะขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย เพราะตราบใดที่ประชาชนต้องการเงินเสริมสภาพคล่อง จะหนุนให้ธุรกิจโตได้
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงรับจำนำ ยังมีความใกล้เคียงกับธุรกิจขายฝากต่างๆ จึงประเมินมูลค่าตลาดรวมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ปี 2563 คาดว่าจะเติบโต 10% ทั้งนี้ หากมองเฉพาะธุรกิจโรงรับจำนำมีจำนวนทั่วไทยกว่า 800 แห่ง โดยอีซี่มันนี่ เป็นเบอร์ 1 ในตลาดมีรายได้หลัก “พันล้านบาท” มีร้าน 52 สาขา ปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 10 สาขา ลงทุน 40-50 ล้านบาทต่อสาขา เบอร์ 2 คือสถานธนานุเคราะห์ 39 สาขา และเบอร์ 3 คือสถานธนานุบาล ของกทม. ที่เหลือเป็นผู้ประกอบการเอกชนรายอื่น