‘ทริส’จับตากลุ่มอสังหาฯ ห่วงพิษเศรษฐกิจ ฉุดผลดำเนินงาน เสี่ยงถูกหั่นเรทติ้ง

‘ทริส’จับตากลุ่มอสังหาฯ ห่วงพิษเศรษฐกิจ ฉุดผลดำเนินงาน เสี่ยงถูกหั่นเรทติ้ง

‘ทริสเรทติ้ง’ ประเมิน ธุรกิจไทย ปี 63 เผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจโลก -เศรษฐกิจไทยเติบโตชะลอตัว รับผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน แนะจับตาธุรกิจอสังหาฯ ขนาดเล็ก คาดเป็นกลุ่มมีผลดำเนินงานชะลอตัวมากที่สุด เสี่ยงถูกปรับลดเครดิตเรทติ้ง

 การออกตราสารหนี้ หรือหุ้นกู้ นั้น อันดับเครดิตถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นการบ่งชี้ ความน่าสนใจลงทุน โดยหุุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตเรทติ้งยิ่งสูง สะท้อนความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ ทำให้นักลงทุนสบายใจว่าจะได้รับเงินคืนเมื่อครบกำหนด สำหรับปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการถูกปรับลดอันดับเครดิตคือ การเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้น และ อัตราหนี้สินต่อ อิบิด้าที่สูงขึ้น เป็นผลมาจากที่บริษัทมีกำไรที่ลดลง ซึ่งมีหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งมากจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

 นายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ในปี 2563 ยังเป็นปีที่มีความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผลพวงปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งเมื่อสรัฐมีการเก็บภาษีจากจีน ทำให้ต้องมีการย้ายฐานผลิต เปลี่ยนซัพพลายเชน เพื่อหลบกำแพงภาษี ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่กิจกรรมการค้าขายจะกลับมาดี กลายเป็นปัจจัยกดดันการค้าโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 เขาประเมินว่า จะเติบโตได้ราว 2.6-2.8% เทียบกับปี 2562 ที่การเติบโตน่าจะอยู่ระดับ 2.5-2.6% ถือว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอิงกับการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ จึงโดนผลกระทบจากการค้าโลกที่ชะลอตัว   ซึ่งปัจจัยหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจเติบโตได้ระดับดังกล่าวปัจจัยหลักเรื่องการลงทุนหลังงบประมาณปี 2563 สามารถผ่านสภาได้ ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน  แต่ภาคเอกชนอาจยังรอดูสถานการณ์ ทำให้ยังไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่

157884610373

สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องจับตาใกล้ชิดในปี2563 คือ อสังหาริมทรัพย์ เพราะ คาดว่าเป็นกลุ่มที่ผลการดำเนินงานชะลอตัวมากที่สุด ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 จากยอดโอนต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก และบริษัทอสังหาฯชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ จากความต้องการซื้อที่ลดลง เพราะ ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมสินเชื่อ ( LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้นักลงทุนที่ซื้ออสังหาฯเพื่อการลงทุนลดลง ประกอบกับธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการปล่อยเงินกู้ ทำให้มีการโอนที่ช้าลง และมีการขายยากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาฯมีการขายโครงการ หรือระบายสต็อกบ้านที่ช้าลง

ทั้งนี้เมื่อมีรายได้และกำไรที่ลดลงนั้น จะส่งผลกระทบต่ออัตราหนี้สินต่อกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อ ราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (อิบิด้า ) เพิ่มขึ้น แม้ บริษัทจะมีหนี้เท่าเดิม แต่จะมีผลทำให้ความสามารถในการชำระหนี้่อ่อนแอลง จึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับเครดิต เพราะ ทริสเรทติ้ง จะพิจารณาลด โดยบริษัทอสังหาฯที่มีความเสี่ยงถูกปรับลดอัตราเรทติ้งนั้นจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ยังมีความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินได้ดี

       "อุตสาหกรรมที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ปี 63 คือ อสังหาริมทรัพย์ฯ เพราะ คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่มีผลการดำเนินงานลดลงมากที่สุด   จากที่เริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 62 ที่บริษัทอสังหาฯมียอดขายต่ำเป้าหมายมาก และ ชะลอตัวเปิดโครงการ  เพราะ ได้รับกระทบเกณฑ์ LTV และ แบงก์เข้มในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลกระทบต่อยอดขายลดลง ส่วนอีกอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีการชะลอตัวคือธุรกิจสายการบิน เพราะ แนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น"

สำหรับในปี 2562 บริษัทได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตรวม 18 บริษัท และ ปรับลดอันดับเครดิตลงรวม 16 บริษัท (บริษัทจดทะเบียน (บจ.)และไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) (ณ 24 ธ.ค.62) กระจายหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ในกลุ่มสินค้าเกษตร ลิสซิ่ง บริษัทหลักทรัพย์ อสังหา โรงแรม พลังงาน และสื่อสาร ส่วนที่เหลือเป็นการคงอันดับ 

การปรับลดอันดับเครดิตลง 15 บริษัท นั้นถือว่าเป็นระดับปกติ โดยภาพรวมภาระหนี้ของบริษัทจดทะเบียนไทยไม่มีอะไรที่น่าตกใจ ยังมีฐานะการเงินที่ดี แต่มองเป็นรายบริษัทนั้น มีบ้างที่มีฐานะการเงินอ่อนแอ ในช่วงภาวะเศรษฐกิจไม่ดี และ ไม่ระมัดระวังในการบริหารหนี้ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์