'นกแอร์' กล่อม 'บินไทย' เพิ่มทุน 'วุฒิภูมิ' มั่นใจ 'จุฬางกูร' พร้อมใส่เงินหลังเห็นศักยภาพ
“สายการบินนกแอร์” เล็งชงแผนธุรกิจเข้าบอร์ดกลางเดือน ก.พ.นี้ หลังผู้ถือหุ้นไฟเขียวเพิ่มทุนไม่เกิน 2.22 พันล้านบาท หวัง “การบินไทย” ร่วมใส่เงินเพิ่มทุน หลังเข้าไปนำเสนอแผน ย้ำหากสำเร็จหนุนส่วนทุนพลิกเป็นบวก ปลดเครื่องหมาย “ซี” ได้
นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้ถือหุ้นในวานนี้ (14ม.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 2,220 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายนำเงินไปใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างการเงินให้แข็งแรงมากขึ้น และใช้ในการรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะการขยายฝูงบินและจุดเส้นทางการบินใหม่เพิ่มเติม รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ
เขากล่าวว่า หากผู้ถือหุ้นใช้สิทธิ์การเพิ่มทุนทั้งหมด จะทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นของ NOK พลิกเป็นบวกทันที จากปัจจุบันยังติดลบราว 659.39 ล้านบาท พร้อมกับคาดว่าจะสามารถปลดเครื่องหมาย C ของบริษัทได้อัตโนมัติ
ส่วนคำถามที่ว่าหากผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ใส่เงินเพิ่มทุนในครั้งนี้ นายวุฒิภูมิ กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่สามารถระบุแทนผู้ถือหุ้นรายอื่นๆได้ แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของข้อกำหนดการเพิ่มทุนครั้งนี้ ผู้ถือหุ้นรายอื่น สามารถใช้สิทธิ์เกินโควต้าได้ในกรณีที่ยังมีหุ้นเหลือจากการจัดสรร
“ยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาได้ไปนำเสนอข้อมูลให้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI แล้ว ซึ่งหลังจากนี้ก็แล้วแต่เขาจะพิจารณา ขณะที่ในส่วนของกลุ่มจุฬางกูรซึ่งเป็นผู้ถือใหญ่ลำดับที่ 1-3 ตนเองก็คิดว่าครอบครัวผมคงเห็นศักยภาพในตัวผม จึงให้มาบริหารธุรกิจนี้”
นายวุฒิภูมิ กล่าวต่อว่า แผนดำเนินงานในปีนี้ มั่นใจว่า ผลประกอบการของบริษัทจะขาดทุนลดลงจากปี 2562 หลังเห็นทิศทางธุรกิจดีขึ้น โดยทีมผู้บริหารจะเสนอแผนการดำเนินธุรกิจและแผนการปรับเปลี่ยนฝูงบินใหม่ให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) พิจารณาได้ภายในช่วงกลางเดือน ก.พ.นี้ เนื่องจากต้องรอความชัดเจนการเพิ่มทุนของบริษัทในครั้งนี้ก่อน
ส่วนแผนการดำเนินการของบริษัทปีนี้นั้น เบื้องต้นบริษัทมีแผนขยายฝูงบินเพิ่มขึ้นโดยเตรียมเช่าเครื่องบินประจำการเพิ่มอีกจำนวนไม่เกิน 3 ลำ จากปัจจุบันที่มี 24 ลำ พร้อมขยายเส้นทางการบินในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางการบินในประเทศอาเซียนอีกไม่น้อยกว่า 2 เส้นทาง รวมถึงนำระบบซอฟแวร์ต่างๆมาวิเคราะห์การบริหารจัดการต้นทุนที่ดีขึ้น เช่น เรื่องน้ำมัน,เส้นทางบิน และการบินที่ช่วยยืดระยะเวลาการซ่อมบำรุง
พร้อมยอมรับว่าการแข่งขันของอุตสาหกรรมสายการบินปีนี้ยังคงมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่มั่นใจว่าบริษัทยังเติบโตได้ เพราะมีจุดแข็งด้านรายได้การให้บริการและอัตราการบรรทุกผู้โดยสารที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าคู่แข่ง ส่วนข้อเสียของบริษัทก็คือ ต้นทุนที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องมีค่าเช่าเครื่องบินและค่าบำรุงรักษา ซึ่งบริษัทมีแผนปรับลดค่าใช้จ่ายต่อเนื่องเพื่อให้การดำเนินการทุกส่วนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“แผนจะกลับมาเทิร์นอะราวด์ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นปีไหน เพราะต้องรอเสนอแผนธุรกิจต่อที่ประชุมบอร์ดก่อน ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนเทิร์นอะราวด์เฟส 2 ซึ่งจะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานเพื่อลดต้นทุน และยกเลิกเส้นทางการบินที่ขาดทุนหรือไม่ทำกำไรออกไป รวมถึงเพิ่มความถี่เส้นทางการบินที่มีกำไรมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมามีการยกเลิกเที่ยวบินที่น่าน,นครพนม และร้อยเอ็ด และมีการเปิดเส้นทางบินใหม่ อาทิ ในญี่ปุ่นและอินเดียเพิ่ม”
อนึ่งวานนี้ (14ม.ค.63) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1 ปี 2563 มีมติ 99.99% หรือจำนวน 2,416,879,115 เสียง เห็นด้วย กับการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 888,147,358 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท รองรับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนจํานวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering) ในอัตราส่วน 3.5 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ ที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 2.50 บาท หรือคิดเป็นมูลค่ารวมไม่เกิน 2,220.37ล้านบาท