'ททท.' สังคายนาแผนปี 63 รับปัจจัยลบท่องเที่ยวไทย
หลังสถานการณ์โลกเปลี่ยนไปในหลายๆ มิติ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป การแข่งขันสูง มีผลทำให้ภาคท่องเที่ยวไทยไม่สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดด เข้าสู่ภาวะ"นิวนอร์มอล"ที่เห็นจนชินตานับจากนี้
ศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล่าว่า ทำให้ในวันที่ 5 ก.พ.2563นี้ ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท.เตรียมประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของ ททท. เพื่อ “ทบทวนแผนการตลาด” เจาะนักท่องเที่ยวทุกประเทศ!
โดยพื้นที่ตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกาที่ศรีสุดารับผิดชอบ จะนัดประชุมร่วมกับผู้อำนวยการทุกสำนักงาน ที่ประเทศเยอรมนี วันที่19ม.ค.นี้ เพื่อ“ปรับตัว” ด้านวิธีการทำตลาดหลายๆ ส่วนรับมือกับ “ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้”
ทั้งปัจจัยสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า ที่ในบางตลาดอย่างกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เงินโครนสวีเดนอ่อนค่าลง จากอัตราแลกเปลี่ยนเคยอยู่ที่1โครนฯต่อ5บาท ปัจจุบันเหลือประมาณ3.2บาท หลังจากก่อนหน้านี้เคยทำสถิติหลุดถึงระดับ3.05บาท อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ16ปีเมื่อปี2562ที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี และยังได้รับผลกระทบจากการที่อังกฤษเตรียมถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท)
“เศรษฐกิจยุโรปกำลังแย่ลงในหลายๆ เซ็กเตอร์ อย่างอังกฤษที่มุ่งสู่เบร็กซิตในวันที่31ม.ค.นี้ ททท.ยังต้องจับตาว่าความมั่นใจในการใช้จ่ายของชาวอังกฤษจะกลับมาหรือไม่ หลังจากตลอดปีที่ผ่านมา ภาพรวมการเดินทางไปต่างประเทศยังจุดหมายระยะไกล (Long Haul)ของชาวอังกฤษติดลบ2.5%ส่วนไทยยังถือว่าดี ติดลบเพียง1%เท่านั้น เนื่องจากคู่แข่งตลาดระยะสั้นอย่างตุรกี กรีซ และอิตาลี ต่างแข่งดึงนักท่องเที่ยวด้วยราคา”
ขณะที่คู่แข่งในตลาดระยะไกลอย่างมัลดีฟส์และญี่ปุ่นซึ่งมีภาพลักษณ์สินค้าท่องเที่ยวราคาแพงยังเล่นราคาเพื่อชิงนักท่องเที่ยวยุโรปแข่งกับไทย ทำให้ภาคท่องเที่ยวไทยค่อนข้างเหนื่อยจากการติดอยู่ในภาพลักษณ์เรื่องความคุ้มค่าเงิน (Value for Money) แม้ที่ผ่านมาจะมีการพัฒนาสินค้าท่องเที่ยวดีขึ้น อยากปรับราคาขายสูงขึ้น แต่ก็ยังทำได้ยาก เพราะนักท่องเที่ยวยังติดภาพลักษณ์นี้ แถมเงินบาทยังแข็งค่าอีก ส่วนเวียดนามก็เป็นอีกจุดหมายที่มาแรง ราคาแพ็คเกจท่องเที่ยวถูกกว่าไทยราว20-30%ดึงตลาดรัสเซียไปเยือนได้จำนวนมาก เพราะมีหาดทรายชายทะเลที่ชาวรัสเซียชื่นชอบเช่นเดียวกับไทย
อีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางอย่างไม่น่าเชื่อ คือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ฤดูร้อนในยุโรปยาวนานขึ้น จากปกติมีแค่3เดือน ตั้งแต่ มิ.ย.-ส.ค. แต่ปัจจุบันเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. นักท่องเที่ยวยุโรปจึงนำเงินไปใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวช่วงฤดูร้อนภายในภูมิภาคมากขึ้น เหลือเงินมาเที่ยวไทยช่วงฤดูหนาวน้อยลง
กลยุทธ์ปี2563ของ ททท.จึงต้องเร่งเสนอขายสินค้าท่องเที่ยวใหม่ๆ ในเมืองใหม่ๆ เพื่อผลักดันเป้าหมายตลาดยุโรปในภาพรวมปีนี้ไม่ให้ติดลบ หรือ “ทรงตัว” เมื่อเทียบกับปีที่แล้วซึ่งติดลบเล็กน้อย1%
หลังจากก่อนหน้านี้ ททท.ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง พบว่ามี7-8เมืองรองของไทยที่เริ่มติดตลาดในยุโรป เช่น น่าน เชียงราย แพร่ และสตูล รวมถึงการเจาะพื้นที่ศักยภาพเมืองรองในแต่ละประเทศ อย่างล่าสุด “ปีกัส ทัวริสติก” บริษัททัวร์รายใหญ่ของรัสเซีย ได้เพิ่มเที่ยวบินเช่าเหมาลำสู่สนามบินสุราษฎร์ธานี จาก3เที่ยวบินเป็น4เที่ยวบินต่อสัปดาห์ บินตรงจากกรุงมอสโควและอีก3เมืองรองของรัสเซีย พร้อมขยายเวลาจากเดือน ธ.ค.2562ไปจนถึง ต.ค.2563จากเดิมจะสิ้นสุดตารางบินในเดือน เม.ย.นี้ รวมกว่า90เที่ยวบิน คิดเป็นเกือบ 40,000 ที่นั่ง
พร้อมหาลูกค้าใหม่ไปพร้อมๆ กัน อาทิ ตลาดข้าราชการในรัสเซีย ที่ล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย.2562ที่ผ่านมา รัสเซียเพิ่งปลดล็อกกฎหมายห้ามข้าราชการทั้งหมดเดินทางไปต่างประเทศ, ตลาดกลุ่มท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ทั้งชาวรัสเซียและตะวันออกกลาง หลังผลวิจัยชี้ว่าชาวตะวันออกกลางมีพฤติกรรมไม่ค่อยดูแลสุขภาพ และเสียชีวิตค่อนข้างเร็วจากปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้ยังเตรียมรุกเจาะตลาดนักท่องเที่ยวอาหรับรุ่นใหม่ (New Arab) ซึ่งมีทัศนคติเปิดกว้างเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ พบว่าได้ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) หลังเกิดเหตุการณ์อิหร่านยิงขีปนาวุธผิดพลาดใส่เครื่องบินของสายการบินยูเครน อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ตกจนมีผู้เสียชีวิตยกลำ ทำให้นักท่องเที่ยวยูเออีขาดความมั่นใจในการเดินทางด้วยเครื่องบิน (Flight Scare) นอกจากนี้ยังทำให้หลายๆ สายการบินต้องปรับแผนเส้นทางบิน ด้วยการบินอ้อมไกลขึ้น จำต้องปรับราคาตั๋วบินแพงขึ้น สวนทางกับการแข่งขันด้านราคาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกที่รุนแรงอยู่แล้ว