สศช.ชี้อีก 20 ปีประชากรไทยลดลง 2 ล้านคน
สศช.ชงครม.รับทราบรายงานโครงสร้างประชากรไทยปี 2563 - 83 พบสัดส่วนประชากรวัยแรงงานลดจาก 43.2 ล้านคน เหลือ 36.5 ล้านคน อัตราเกิดประชากรติดลบ 0.2% รัฐบาลเร่งรับมือพัฒนาฝีมือแรงงาน ยกระดับการออมรับประชากรเข้าสู่วัยเพิ่มมากขึ้น
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (14 ม.ค.) มีมติรับทราบรายงานประมาณการณ์ประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553 – 2583 ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยคาดการณ์ว่าประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคน ในปี 2563 เป็น 67.2 ล้านคน ในปี 2571
หลังจากนั้นรายงาน สศช. ระบุว่า จำนวนประชากรจะริ่มลดลงในอัตรา -0.2% ต่อปี ทำให้ในปี 2583 คาดการณ์โดยประมาณว่าประเทศไทยจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน โดยจำนวนประชากรตามโครงสร้างประชากรแบ่งเป็น
1.วัยเด็ก (แรกเกิด - 14 ปี) มีแนวโน้มลดลง จากจำนวนรวมในปี 2563 มีจำนวนประชากรเด็ก 11.2 ล้านคนหรือ16.9% ของประชากรทั้งหมดจะลดลงเป็น 8.4 ล้านคน หรือสัดส่วนเหลือแค่ 12.8% ในปี 2583
2.ประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2563 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 12 ล้านคน หรือ18% ของจำนวนประชากรทั้งหมดนั้นจะเพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน หรือ 31.28% ของจำนวนประชากรในปี 2583
“จากการศึกษาของสศช.ชี้ว่า ในปี 2562 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรวัยเด็กเท่ากับประชากรผู้สูงอายุที่ 11.3 ล้านคน หลังจากนั้นจำนวนประชากรวัยเด็กมีแนวโน้มลดลงสวนทางกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่จะมีแนวโน้มสูงขึ้น ”
3.สศช.พบว่าประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) มีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคนหรือ 65 % ในปี 2563 เป็น 36.5 ล้านคนหรือ 56% ในปี 2583 ลดลงประมาณ 6.7 ล้านคน
ขณะที่อัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน
ในปี 2583 รายงานสศช.ชี้อีกว่าอัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 27.7 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563 เป็น 56.2 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563
ขณะที่อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชายในปี 2563 ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 80.4 ปี ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 73.2 ปี และในปี 2583 อายุเฉลี่ยทั้งเพศหญิงและชายจะเพิ่มขึ้นเป็น 83.2 ปี และ 76.8 ปี ส่งผลให้ผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชายเนื่องจากอายุยืนกว่า ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2583 จะมีอัตราส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพศชาย 71 คน ต่อเพศหญิง 100 คน และจะลดลงอีกในกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป เพศชาย 41 คนต่อเพศหญิง 100 คน
ส่วนโครงสร้างอายุของประชากรแต่ละภูมิภาค สศช.ระบว่า ในปี 2583 กรุงเทพฯมีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานมากที่สุด ส่วนภาคเหนือมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด และภาคใต้จะมีสัดส่วนประชากรวัยเด็กสูงกว่าภาคอื่นๆ
นอกจากนี้ ภาคตะวันออกมีการเติบโตของประชากรเมืองมากที่สุด 5.3% ต่อปี เฉพาะ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
นางสาวรัชดา ยังกล่าวว่า จากรายงานของสศช.ทำให้รัฐบาลได้กำหนดให้วาระผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุแห่งชาติครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ 25-59 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
สำหรับกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ รัฐบาลมีแผนส่งเสริมเน้นเรื่องการออม การไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระ วิธีการดูแลผู้สูงอายุ และการปรับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุได้มีการจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่ครอบคลุมจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงมากขึ้น เน้นการเสริมทักษะใหม่แก่แรงงานผู้สูงอายุ การออกแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นและสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างที่จ้างผู้สูงอายุ
ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกิจกรรม CSR ภาคประชาชนในการสร้างงานผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ พร้อมทั้งจัดทำแผนบูรณาการด้านสุขภาพ โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุได้รับการตรวจ ป้องกัน และดูแลสุขภาพระยะยาวที่บ้านและในชุมชนตามระดับความจำเป็น สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีระบบการเงินการคลังที่ยั่งยืนในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง